ThaiCredit

‘ไทยเครดิต’ ธนาคารที่มูลค่าบริษัทต่ำ แต่ความสามารถในการหารายได้สูงสุดในกลุ่มแบงก์

ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ ธนาคารไทยเครดิต กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย วันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งถือว่าเป็นหุ้นธนาคารแรกในรอบ 10 ปีที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทย จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมการธนาคาร

หากพูดถึงความใหญ่ของธนาคารแห่งนี้ ‘Business+’ พบว่า ธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารขนาดเล็กที่มีมูลค่าบริษัท (Market Cap) ต่ำที่สุดหากนำมาเทียบกับ 8 ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว ด้วยมูลค่าราว 35,000 ล้านบาท คำนวณด้วยราคา IPO (28.00 – 29.00 บาทต่อหุ้น) แต่กลับเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการสร้างรายได้สูงอย่างมาก โดย ธนาคารไทยเครดิต ถือว่าเป็นธนาคารที่มีความสามารถในการหารายได้สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในตลาดทั้งหมด

ซึ่งสาเหตุเกิดจากโครงสร้างต้นทุนที่ต่ำทำให้เกิดการได้เปรียบเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ เพราะกลุ่มลูกค้าหลักๆ ของธนาคารไทยเครดิตคือ ลูกค้ารายย่อย และธนาคารจะเน้นการปล่อยสินเชื่อจำนวนเล็กๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่ม Micro-Finance และ Micro-SMEs โดยหลักการคือ ปล่อยเงินกู้ให้กับให้แก่คนที่ไม่มีงานทำ และคนยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในรูปแบบปกติผ่านทางสถาบันทางการเงินรายอื่น

อย่างไรก็ตามชื่อ ‘ธนาคารไทยเครดิต’ อาจจะยังไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายๆ คน แต่จริงๆแล้วธนาคารแห่งนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งขณะนั้นจัดตั้งภายใต้ชื่อบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด ในปี 2513 ต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ชื่อบริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ไทยเคหะ จำกัด (มหาชน) ในปี 2548

ต่อมาในปี 2549 ธนาคารฯ ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย และเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มกราคม 2550 ภายใต้ชื่อ ‘ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)’ และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออีกครั้ง หลังจากได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังให้ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้ชื่อ ‘ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน)’ มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยจำนวนสาขาทั้งหมด 527 สาขา

ทั้งนี้ธนาคารไทยเครดิต เน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับรายย่อยเป็นหลัก แต่ก็มีการปล่อยสินเชื่อภาคอื่นๆ เช่นกัน โดยสัดส่วนการให้สินเชื่อล่าสุดเป็นดังนี้ (9 เดือนปี 2566)

  • ธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีและสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตสูงที่สุดที่ 67.7%
  • สินค้าเพื่อคนค้าขาย 15.3%
  • สินเชื่อบ้าน 15.2%
  • สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล 1.6%
  • สินเชื่อรายย่อยอื่นๆ 0.2%

จัดลำดับธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด รวม ‘ธนาคารไทยเครดิต’ ในมุมของ NIM และ Market Cap 

ThaiCredit

จะเห็นได้ว่า หากเราเปรียบเทียบธนาคารแห่งนี้กับอีก 8 ธนาคารพาณิชย์ในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารที่มีความสามารถในการสร้างรายได้ใกล้เคียงกับ ธนาคารไทยเครดิตมากที่สุดคือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ซึ่งมี NIM อยู่ที่ 5.20% และมีมูลค่าบริษัท 39,797 ล้านบาทมากกว่าธนาคารไทยเครดิตเพียงเล็กน้อย ซึ่งการซื้อขายวันแรกหากหุ้นของธนาคารไทยเครดิตได้รับการตอบรับที่ดี ราคาหุ้นพุ่งขึ้นก็จะทำให้มูลค่าสูงจนแซงหน้า ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตามหากเทียบอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/B) กับธนาคารอื่นในกลุ่มแล้ว ธนาคารไทยเครดิตมี P2B ประมาณ 2.05 – 2.12 เท่า ซึ่งสูงกว่าทุกธนาคารในตลาดหุ้น

  • BBL : 0.58 เท่า
  • KBANK : 0.53 เท่า
  • KKP : 0.82 เท่า
  • KTB : 0.63 เท่า
  • BAY : 0.61 เท่า
  • SCB : 0.75 เท่า
  • TISCO : 1.86 เท่า
  • TTB : 0.68 เท่า

ทีนี้มาดูในมุมของฐานะการเงินกันบ้าง ธนาคารไทยเครดิตมีเงินฝาก ณ 9 เดือนปี 2566 อยู่ที่ 113,155 ล้านบาท และมีสินเชื่อรวมแก่ลูกหนี้ 138,435 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์รวม 159,766 ล้านบาท และมีหนี้สิน 142,959 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสมดุลระหว่างเงินฝาก เงินปล่อยกู้ สินทรัพย และหนี้สินมีความสมดุลกัน

นอกจากนี้หากมองไปที่การเติบโตของกำไรสุทธิจะเห็นว่าบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปี 2563 – 2565 มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปีระหว่างปี (CAGR) อยู่ที่ 30.9% ต่อปี โดย 9 เดือนของปี 2566 มีกำไรสุทธิ 2,817 ล้านบาท ซึ่งการเข้าตลาดหุ้นจะทำให้ธนาคารไทยเครดิตได้รับเงินจาก IPO มาขยายพอร์ตสินเชื่อได้อีกจำนวนมาก

โดยที่ธนาคารไทยเครดิตเปิดเผยแผนว่าจะนำเงินไปสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ รวมทั้ง การปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งคุณวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเคนดิต กล่าวว่า ธนาคารมีโอกาสเติบโตอีกกว่าเท่าตัวจากปัจจุบันในช่วง 3-5ปีข้างหน้า หลังจากเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากยอดสินเชื่อจาก 10 ปีก่อนอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่ ณ งวด9 เดือนปี 2566 สินเชื่อขยับขึ้นมรอยู่ที่ 1.39แสนล้านบาท

ที่มา : SET , SEC , SETSMART

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS