‘เงินบาท’ ขึ้นแท่น “สกุลเงินแย่ที่สุดในเอเชีย” ส่อเค้าดิ่งต่อเนื่องแตะ 37 บาท/ดอลลาร์ เหตุราคาน้ำมันพุ่ง-เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ

ท่ามกลางข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2566 ลงเหลือ 2.8% จากเดิม 3.6% ก่อนจะพุ่งเป็น 4.4% ในปี 2567 ที่สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนไม่น้อย ก็ยังมีประเด็นเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องถึงขั้นถูกตั้งให้เป็น “สกุลเงินที่แย่ที่สุดในเอเชีย”

โดยประโยคดังกล่าวมาจากบทวิเคราะห์ของ ‘Bloomberg’ ซึ่งได้ให้เหตุผลต่อเรื่องนี้ว่า เดือนกันยายนกำลังจะกลายเป็นเดือนที่ยากลำบากสำหรับค่าเงินบาท สกุลเงินร่วงลงต่ำสุดที่ 36.34 ดอลลาร์ต่อดอลลาร์ในวันพุธ ซึ่งอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน (ขณะที่เช้านี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 36.45 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 11 เดือน ตั้งแต่เดือนต.ค. 65)

ขณะเดียวกัน ‘RBC Capital Markets’ คาดการณ์ว่าเงินบาทจะแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ ภายในสิ้นปีนี้ โดยมาจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพทางการคลังของไทย เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้การเรียกเก็บเงินนำเข้าพลังงานของประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการกู้ยืมของรัฐบาลให้เพิ่มขึ้นด้วย

โดยการอ่อนค่าของเงินบาทสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่สกุลเงินเอเชียต้องเผชิญเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่ฟื้นตัวและอัตราผลตอบแทนของกระทรวงการคลังที่สูงขึ้นทำให้ความน่าสนใจของสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ลดลง ส่งผลให้กองทุนโลกขายหุ้น ไทยต่อเนื่อง 7 เดือน ขณะที่พันธบัตรไทยไหลออกเป็นเดือนที่ 2

ด้าน ‘อัลวิน ตัน’ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ‘Asia FX ของ RBC’ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า “ค่าเงินบาทดูเหมือนจะมีเส้นทางที่ชัดเจนไปสู่ขาลง โดยได้แรงหนุนจากการรวมกันของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอลง”

ขณะที่ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ แนะนำจับตา 3 ปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลกดดันการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2566 ได้แก่

1. ท่าทีเฟดและเงินดอลลาร์ คาดว่า เฟดยังน่าจะส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้ม ซึ่งอาจหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ให้ปรับสูงขึ้น

2. ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีน โดยประเมินว่า เงินหยวนของจีนยังอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์หรือ Correlation ระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนอยู่ที่ 0.81 ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินหยวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามในบางจังหวะด้วยเช่นกัน

3. ปัจจัยเฉพาะของไทย คือสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด และฐานะการคลัง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ตลาดรอติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศคู่ค้า และสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น อาจกดดันให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอ่อนแอลง

ขณะที่มาตรการภาครัฐที่เตรียมจะดำเนินการในระยะข้างหน้า ก็เป็นอีกปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน เพราะจะมีผลต่อการประเมินสถานะทางการคลัง แนวทางและขนาดการก่อหนี้ รวมไปถึงภาระทางการคลัง ทั้งในและนอกงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่ามีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะยังคงโน้มไปในทิศทางที่อ่อนค่าในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า และอาจทดสอบระดับใกล้ ๆ 36.60 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้เมื่อปีที่แล้ว หรือก็คือเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เงินบาทได้อ่อนค่าอย่างหนักจนแตะที่ระดับ 37.37 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นระดับที่อ่อนที่สุดในรอบเกือบ 16 ปี ซึ่งยังคงต้องจับตาดูว่าในปี 2566 นี้ เงินบาทจะอ่อนค่าลงมากกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งหากมองจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังคงมีผลกดดันต่อเศรษฐกิจโดยรวม ก็มีความเป็นไปได้ว่าค่าเงินบาทในปีนี้ อาจกลับไปแตะที่ระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ อีกครั้ง ตามคาดการณ์ของ ‘RBC Capital Markets’

ที่มา : InfoQuest, Bloomberg, thaipbs

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เงินบาท #เงินบาทอ่อนค่า #ดอลลาร์สหรัฐ #ค่าเงิน #กนง #สกุลเงิน #สกุลเงินแย่ที่สุดในเอเชีย