ทำไม Tesla ถึงมาแค่ขาย ยังไม่ปักหลักตั้งฐานผลิต EV ในไทย?

ดูเหมือนจะมีเรื่องสั่นสะเทือนแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเพิ่มขึ้นมาอีกเรื่อง หลังจากมีข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยันอย่างชัดเจนว่า บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต-จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของเศรษฐีคนดังอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ ได้เข้ามาจัดตั้งบริษัทในไทยแล้วตั้งแต่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยที่การเข้ามาครั้งนี้ด้วยทุนจดทะเบียนเพียง 3 ล้านบาท เพื่อนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาขายในไทยเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าจะเข้ามาสร้างฐานการผลิตอย่างที่ทำในประเทศจีน หรือกำลังจะเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย ซึ่งในแง่ของผู้บริโภคจะได้รับผลดีเรื่องของตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น และมีโอกาสที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะต่ำลงเมื่อมีการแข่งขันของผู้นำเข้าหลายเจ้า

แต่การที่เทสลายังไม่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย นั้น บ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมมอง และความกังวลที่มีต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทยที่ไม่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีการผลิต แรงงาน รวมไปถึงด้านทรัพยากรของไทยที่ไม่ดึงดูด FDI ให้มาลงทุน

โดยก่อนหน้านี้ ‘KKP Research’ ประเมินในภาพรวมว่า ประเทศไทยอาจไม่ใช่แหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเหมือนที่เคยเป็นแหล่งผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน สาเหตุเป็นเพราะการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมไปเป็นการผลิตรถยนต์ EV ยังมีอุปสรรคมากและประสบความสำเร็จได้ยาก โดยมีหลายสัญญาณที่ทำให้ประเมินว่าการผลิตรถยนต์ไทยมีแนวโน้มเหลือเพียงการผลิตเพื่อขายในประเทศเท่านั้น หรือในกรณีเลวร้ายอาจต้องนำเข้าจากประเทศอื่นแทน

สำหรับในแง่ของการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้า พบว่าไทยจะไม่มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-Ion Battery Supply Chain)

ซึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้ประเทศใดก็ตามในโลก สามารถก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ได้ คือ เทคโนโลยี และทรัพยากร ซึ่งไทยไม่มีในทั้ง 2 ข้อ จึงทำให้เสียเปรียบคู่แข่งอย่างจีน และอินโดนีเซียเป็นอย่างมาก

ในแง่ของ เทคโนโลยีแล้ว ไทยไม่มีเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ทันสมัยเหมือนจีนจาก 3 เหตุผลหลัก คือ
– จีนเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไปแล้ว และครองห่วงโซ่การผลิตแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยจีนมีแหล่งทรัพยากรที่สำคัญอย่างลิเทียม โคบอลต์ และแร่หายาก บวกกับสามารถสกัดแร่ และผลิตแบตเตอรี่ได้มากถึง 80% และ 79% จากกำลังการผลิตทั่วโลก

– อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยังเป็นตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) ซึ่งสะท้อนข้อจำกัดในการเข้าตลาดของบริษัทใหม่ที่สูง จาก เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต แรงงานทักษะสูง การที่มีผู้นำตลาดที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วคือแบรนด์ใหญ่อย่าง CATL LGES BYD Panasonic ทำให้รายย่อยแข่งขันยาก และประสบกับปัญหา Economies of Scale เพราะการผลิตแบตเตอรี่มีต้นทุนสูง ทำให้ผู้เล่นรายใหม่ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตเท่าผู้ผลิตรายใหญ่ได้ในระยะเวลาสั้น ๆ (ซึ่งขณะนี้บริษัทจีนเพียงบริษัทเดียวครองส่วนแบ่งการตลาดไปแล้วถึง 40%)

– ปัญหาเรื่องของการรีไซเคิล โดยอนาคตปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และรถยนต์ EV เนื่องจากมีการคาดการณ์ไว้ว่าแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่อย่างนิเกิล และลิเทียมจะหมดในปี 2024-2026 ดังนั้น การรีไซเคิลแบตเตอรี่จึงมีความสำคัญมากในปัจจุบัน แม้ว่าในระยะต่อไปอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ แทนการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมแบบเดิม (ซึ่งจีนมีความได้เปรียบในเรื่องนี้เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 80%)

ในแง่ของปัจจัยด้านทรัพยากร ไทยแพ้คู่แข่งอย่างราบคาบ เพราะอินโดนีเซียมีแหล่งนิเกิล (Nickel) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมากถึง 30% จากแหล่งแร่สำรองทั้งหมด ซึ่งการผลิตรถยนต์ EV ใช้แร่ธาตุมากกว่ารถยนต์สันดาบถึง 6 เท่า โดย Nickel เป็นแร่ที่ใช้มากเป็นอันดับ 2 รองจากลิเทียมในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมนิคเคิลแมงกานีสโคบอลท์ออกไซด์ (NMC) อีกทั้ง Nickel ยังเป็นแร่ที่มีผลต่อราคาแบตเตอรี่อย่างมาก เนื่องจากมีราคาสูงรองจากโคบอลต์และลิเทียมเท่านั้น

ขณะที่ในแง่ของต้นทุนแรงงาน ค่าแรงของอินโดนีเซียถูกกว่าไทย 3 เท่า และตลาดอินโดนีเซียใหญ่กว่าไทยเกือบ 4 เท่า จำนวนประชากรในอินโดนีเซียมีมากถึง 273 ล้านคน ในขณะที่จำนวนประชากรไทยมีเพียง 69 ล้านคน ทำให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศอินโดนีเซียเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านคันต่อปี มากกว่าไทยที่มียอดขายภายในประเทศเฉลี่ยที่ 8.6 แสนคันต่อปี นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังอยู่ใกล้ฟิลิปปินส์อีกหนึ่งตลาดสำคัญที่มีประชากรถึง 109 ล้านคน และขยายตัวเร็วเฉลี่ย 10% ต่อปี

นอกจากข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีของจีน กับทรัพยากรของอินโดนีเซีย ที่ไทยแพ้แบบหมดท่าแล้ว ยังมีส่วนของข้อตกลงทางการค้า FTA ที่ทำให้ไทยสามารถนำเข้ารถยนต์ EV จากจีนโดยไม่เสียภาษี

ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นแรงกดดันสำคัญอีกทางต่อการพัฒนาภาคการผลิตรถยนต์ EV ในไทย เนื่องจากผู้ผลิตจะสามารถส่งออกรถยนต์มายังไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีได้จึงไม่จำเป็นต้องตั้งฐานการผลิตที่ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทสลา ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน

จากข้อได้เปรียบทางทรัพยากร แรงงาน ขนาดของตลาด และเทคโนโลยีของคู่แข่งอย่างจีน และอินโดนีเซีย ทำให้ภาพได้อย่างชัดเจนว่า ไทยยังไม่เหมาะสำหรับการเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ในประเทศ จึงยังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มเติม ถึงแม้ว่าการเข้ามาจัดตั้งบริษัทในครั้งนี้ของเทสลา หลายคนยังมองว่าเป็นใบเบิกทางสำหรับการลงทุนจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็ตาม

ที่มา: KKP Research , IEA

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #เทสลา #TESLA #EV #ยานยนต์ไฟฟ้า #รถยนต์ไฟฟ้า #รถยนต์EV #แบตเตอร์รี่