ท่ามกลางสมรภูมิ Content ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด Sanook ที่ Tencent กุมบังเหียนต้องงัดกลยุทธ์แบบไหนถึงจะกลับมาผงาดกว่าเดิม…
Tencent เจ้าของฉายา “ผู้โค่นอาลีบาบา” บริษัทไอทีจากประเทศจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจาก Google , Amazon และ Facebook เริ่มบุกตลาดไทย ตั้งแต่ ธ.ค. 2558 ทาง Tencent มองเห็นศักยภาพบางอย่างในตัว “สนุก” จึงทุ่มทุนกว่า 350 ล้านบาท เข้าซื้อ “Sanook.com” เว็บไซต์ News & Portal ที่รวบรวมเนื้อหาหลากหลายประเภททั้งข่าวและเนื้อหาสาระบันเทิง แม้จะมีตัวเลขขาดทุนสะสมมากถึง 1,325 ล้านบาท
ขาดทุนแบบนี้ จะยังสนุกอยู่มั้ย ??
ตัวเลขที่ปรากฎข้างต้น สำหรับผู้ถือเงินจะดูน่ากังวลซักเล็กน้อย แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้มาจาก Sanook เพียงอย่างเดียว Tencent ยังเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง JOOX , WeTV , Tencent Cloud และ Tencent Games (PUBG Mobile)
ศักยภาพที่ Tencent เห็น ก็คือ Sanook อยู่คู่คนไทยมายาวนานเข้าสู่ปีที่ 21 ถ้าไม่เจ๋งจริงก็คงอยู่มาไม่ได้!! แต่จากเว็บไซต์ที่ครองใจ “วัยรุ่น” ก็เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลาเหมือน “วัยโจ๋” ที่รู้จักนะแต่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว! เพราะปัจจุบันกลุ่มผู้เข้าใช้งานราว 40% อยู่ในช่วงอายุ 25-34 ปี และประมาณ 29% อยู่ในช่วงอายุ 35-44 ปี ยอดผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ก็มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงตำแหน่งเว็บท่าที่มีผู้ใช้งานอันดับ 1 ของไทย
อ่านเพิ่มเติม : ธุรกิจอื่นที่ Tencent ทำ
ความ Sanook ที่ฆ่าไม่ตาย
แม้ผู้ใช้งานเว็บไซต์จะลดลง แต่พบว่าคนไทยใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้นกว่า 8% ซึ่งหมายถึง Sanook มีคุณภาพเนื้อหาระดับพรีเมี่ยม สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้ติดตามอ่านข้อมูลในเว็บไซต์นานขึ้น ด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ Tencent งัดมาใช้แบบไม่กั๊ก
- กลยุทธ์ 1 : สู้ด้วยความทันสมัย
นายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารเว็บไซต์ Sanook กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนโลโก้มาแล้ว 4 ครั้ง แต่ละครั้งแค่ปรับความหนาของตัวอักษร ส่วนครั้งนี้จะรีแบรนด์แบบพลิกโฉมไปเลย เราจะปรับให้ดูทันสมัยขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น บวกกับปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่เป็นลักษณะ News and portal มากมาย ข่าวปลอม หรือ Fake news ก็เพิ่มมากขึ้น จึงเลือกใช้ Font ที่หนาขึ้นเพื่อสื่อถึงความหนักแน่น มั่นคง เชื่อถือได้
- กลยุทธ์ 2 : สู้ด้วยคุณภาพ
เมื่อรีแบรนด์แล้ว ด้านเนื้อหาก็พัฒนาขึ้น โดยจะเพิ่มคอลัมน์พิเศษที่เขียน ด้วยนักเขียนรับเชิญมากฝีมือ ผู้มีองค์ความรู้ด้านนั้นโดยเฉพาะ
พร้อมเพิ่มแพลตฟอร์ม Sanook77 ที่รวมรวมเนื้อหาระดับท้องถิ่น เช่นข่าวสารที่เกิดขึ้นเจาะลึกในจังหวัดนั้น จนไปถึงข้อมูลด้านสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อให้ครอบคลุมเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ทุกจังหวัดในประเทศไทย
- กลยุทธ์ 3 : สู้ด้วยเทคโนโลยี
นำเทคโนโลยีมาพัฒนาบทความด้วยการสร้างระบบ Text to Speech ที่จะแปลงคำในเนื้อหาออกมาเป็นเสียง ทำให้ผู้ใช้สามารถ “รับฟัง” เนื้อหาในเว็บไซต์ และในแอปพลิเคชั่นได้ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบความสะดวกฉับไว สามารถฟังไปด้วย ทำอย่างอื่นไปด้วย
ในส่วนของแอปพลิเคชั่นก็ใช้ระบบ Machine Learning เพื่อคัดกรองข่าวสารหรือเนื้อหาให้ตรงกับความชอบของผู้ใช้แต่ละคนด้วย
กลยุทธ์ที่ Tencent นำมาใช้ นอกจากจะสามารถดึงความนิยมในฐานผู้ใช้เก่าอย่างอดีตวัยโจ๋ และเอาใจผู้ใช้ใหม่อย่างวัยรุ่นในปัจจุบัน ยังขยายฐานการตลาดให้เข้าสู่ท้องถิ่น ไม่กระจุกแต่ใจตัวเมือง หากธุรกิจอื่น ๆ ที่ Tencent ลงทุนเพิ่ม สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวของมันเอง อนาคตของ Sanook ก็น่าจะสนุกสดใสขึ้นเรื่อย ๆ