ย้อนดู!กลยุทธ์การบริหาร ‘สุกี้ตี๋น้อย’ก่อน JMART ขอเป็นหุ้นส่วน 30%

มีข่าวลือออกมาสักช่วงหนึ่งแล้วกับ JMART ที่ขอเข้าซื้อธุรกิจ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ และเมื่อวานนี้ (08 พ.ย. 65) บริษัท เจ มาร์ท จำกัด  (มหาชน) เจ้าของธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์มือถือ และธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ ได้ส่งสัญญาณเตรียมเข้าซื้อสุกี้ขวัญใจมหาชนอย่าง ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ที่อยู่ภายใต้บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

โดยทาง JMART เผยจะเข้าซื้อหุ้นสามัญของ BNN จำนวน 352,941 หุ้น คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนทั้งหมด ด้วยงบประมาณราว ๆ 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 176,471 หุ้น คิดเป็น 15 % และซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ BNN อีกจำนวน 176,470 หุ้น คิดเป็น 15% ที่เหลือ ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเข้าหารือในสัญญาซื้อขายหุ้น และสัญญาผู้ถือหุ้น ซึ่งทาง JMART คาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นภายในภายในไตรมาส 4/2565 นี้

แล้ว ‘สุกี้ตี๋น้อย’ มีกลยุทธ์การบริหารอย่างไร ที่ทำให้ JMART สนใจเป็นหุ้นส่วน ทาง ‘Business+’ รวบรวมคำตอบไว้รอทุกท่านแล้ว

ก่อนอื่นเลยเรามาดูถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ กันสักเล็กน้อย

สุกี้ตี๋น้อยมีเจ้าของคือ คุณนัทธมน พิศาลกิจวนิช หรือเฟิร์น ต้องบอกว่า เธอเป็นต้นไม้หล่นใกล้ต้น เพราะธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวนั้น ดำเนินกิจการร้านอาหารที่ชื่อว่า “เรือนปั้นหยา”

แต่สิ่งที่ค้นพบจากธุรกิจครอบครัวคือ ปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพรสชาติของอาหาร ซึ่งร้านอาหาร “เรือนปั้นหยา” เป็นร้านอาหารทำสดใหม่จานต่อจาน แน่นอนว่า หัวใจของธุรกิจร้านอาหารประเภทนี้ ที่เรียกว่า à la carte ต้องพิถีพิถันและอาศัยฝีมือของคนทำครัว เพื่อคงรสชาติของอาหารให้คงที่ จึงจะประสบความสำเร็จ

จาก pain point นี้เอง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เฟิร์นตั้งมั่นว่า หากต้องออกมาทำธุรกิจเอง เธอต้องการจะปิดจุดอ่อนนี้ให้ได้ “5 ปีที่แล้วเราคิดถึงไอเดียที่จะสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างธุรกิจร้านชาบู เพราะมองว่า ยุคสมัยนี้ร้านอาหารประเภทนี้กำลังอินเทรนด์ ตลาดแข่งขันค่อนข้างชัดเจนคือ ตลาดบนและกลางถึงล่าง

และถ้าหากเราย้อนกลับไป คุณนัทธมน พิศาลกิจวนิช หรือเฟิร์น บอกกับ Business+ ในวันที่เธอเข้ารับรางวัล THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2022 ประเภทอุตสาหกรรม Rising Star ที่ผ่านมาถึง เธอได้เล่าถึงกลยุทธ์การบริหารสุกี้ตี๋น้อยว่า

“เรามีการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ซึ่งเราจะให้ลูกค้าก่อนเสมอ แม้ว่าจะขาดทุน หรือได้รับกำไร สุกี้ตี๋น้อยก็เลือกที่จะให้ลูกค้าก่อน แล้วจะได้รับผลตอบแทนกลับมาเอง

ต่อมาอีกหนึ่งกลยุทธ์ คือการให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคน ทุกตำแหน่ง เพราะพนักงานทุกคนทำให้สุกี้ตี๋น้อยมาจนถึงทุกวันนี้ได้ รวมถึงการเปิดรับความคิดเห็นของพนักงานเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไปสู่อนาคต”

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าด้วยระยะเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้นสุกี้ตี๋น้อยก็สามารถครองใจมหาชนได้ทั่วไทย ที่น่าสนใจคือในอนาคตอันใกล้นี้เมื่อ JMART เข้าถือหุ้นเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสุกี้ตี๋น้อยเป็นอย่างไร ?

โดยทาง JMART เผยถึงเป้าหมายในการซื้อ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ครั้งนี้ว่าการเข้าซื้อหุ้นใน BNN จะทำให้บริษัทได้มาซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ และก่อให้เกิดการผนึกกำลังที่สำคัญในการดำเนิน ธุรกิจ โดยการร่วมมือกับ BNN ขยายธุรกิจเพิ่มเติม เช่น เรื่องของการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางของบริษัท และการนำเอาเทคโนโลยีที่บริษัทมี เช่น เทคโนโลยีทางด้าน CRM และ Promotion ต่างๆ มาเสริมให้กับบริษัทเติบโตขึ้น ทั้งนี้บริษัทสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจประเภทค้าปลีกทั้งในกลุ่มอาหาร เทคโนโลยี และพลังงานทดแทนได้มากขึ้นด้วย

ทาง ‘Bussiness+’ วิเคราะห์ว่าเดิมที JMART เป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกโทรศัพท์ที่ใครหลาย ๆ คนนึกถึงเมื่อต้องการซื้ออยู่แล้ว เช่นเดียวกับสุกี้ตี๋น้อยที่ครองใจคนทั่วประเทศ ทำให้ทั้งคู่เหมือนมีฐานลูกค้าที่เหมือนกัน และเมื่อ 2 ธุรกิจมารวมกันในอนาคตเราอาจจะเห็นแคมเปญ และโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่เอื้อต่อกัน เช่น หากเราซื้อโทรศัพท์ที่ JMART เราอาจจะได้ลุ้นรับโปรโมชั่นการทานสุกี้ตี๋น้อยเพิ่มขึ้นมา หรือหากเราไปทานสุกี้ตี๋น้อย เราอาจได้ลุ้นรับสมาร์ทโฟนจาก JMART ก็ย่อมได้..

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus