‘Technology และ Creativity’ 2 หัวใจเบื้องหลังการเติบโตของ ซมโปะ

ในปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตในหลายอุตสาหกรรม เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็ไม่ได้ทำให้บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจประกันภัยของไทยเติบโตน้อยลง ในทางกลับกัน ซมโปะ ประกันภัย สามารถรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ดีจนสามารถสร้างเบี้ยประกันภัย และสร้างอัตราการเติบโตได้ดีกว่า GDP ของประเทศ

 

 

โดย ผศ.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า แม้ภาคธุรกิจอื่นจะได้รับผลกระทบจากโรค COVID-19 แต่อุตสาหกรรมประกันภัยในปีที่ผ่านมากลับได้รับอานิสงส์จาก COVID-19 ค่อนข้างมาก จากการที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจดูแลตัวเอง ทรัพย์สิน และตระหนักเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น อีกทั้งในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับความคุ้มค่า และเลือกประกันภัยที่มีความคุ้มครองครอบคลุม เพื่อให้คุ้มค่ากับเบี้ยประกัน อย่างไรก็ตาม ซมโปะ ประกันภัย ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดเช่นกัน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ในส่วนการดำเนินงาน ซมโปะฯ มีการเติบโตที่ค่อนข้างดีแม้จะมีการระบาดของโรค COVID-19 ส่วนหนึ่งจากการที่บริษัทฯ เตรียมแผนรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเสมอ โดยบริษัทฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยการเดินทาง หรือประกันสุขภาพสำหรับผู้บริโภคทั่วไป ขณะเดียวกัน ยังขยายฐานลูกค้าในกลุ่มองค์กร หรือการทำธุรกิจแบบ B2B ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยภัยการขนส่งทางทะเล และประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ซึ่งจะช่วยเหลือคู่ค้าในการทำประกันภัยที่สามารถบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจได้

การประกันภัยทรัพย์สิน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คุ้มครองสถานประกอบธุรกิจและทรัพย์สินจากความเสียหาย ถือเป็นการประกันภัยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ผศ.ชญณากล่าวว่า “ซมโปะฯ เป็นบริษัทประกันภัยเจ้าแรก ๆ ที่ใช้ Drone เพื่อการบริการสำรวจภัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น (Loss Prevention Measures) ในอนาคต (โดยเฉพาะแผงโซลาเซลล์ ที่นิยมติดบนหลังคาอาคารในปัจจุบัน)

ซึ่ง Drone ที่นำมาใช้ในงานนี้ ประกอบไปด้วย กล้องถ่ายภาพความคมชัดสูง และกล้องอินฟราเรด โดยกล้องตัวหลังนี้ จะใช้ตรวจสอบว่า อุปกรณ์ ไฟฟ้าหรือแผงโซลาเซลล์ มีจุดร้อนที่ผิดปกติหรือเปล่า ซึ่งจุดร้อนเหล่านี้อาจนำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ต่อไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Drone นี้ ดูการเสื่อมสภาพของหลังคา รางระบายน้ำระบบระบายอากาศ และฉนวนกันความร้อนที่ใช้หุ้มท่อต่าง ๆ หรือที่เอามาทำเป็นผนังกันความร้อนได้อีกด้วย

โดยสรุปการใช้  Drone Technology เข้าทำการสำรวจภัยในพื้นที่ของผู้ประกอบการ นอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยในการสำรวจภัยแก่ทีมงานของเราแล้ว ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ ทำให้บริษัทฯ สามารถแนะนำหรือช่วยเหลือลูกค้าในการลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้เบี้ยประกันภัยของคู่ค้าถูกลงไปด้วย”

 

 

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยของซมโปะยังถูกออกแบบมาโดยใช้ดาต้าในการออกแบบแผนประกันให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างตรงความต้องการ โดยใช้ข้อมูลอินไซต์ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกบางอย่างที่ธุรกิจสามารถตอบโจทย์ตลาด อย่างข้อมูลด้านภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำมาใช้กับผลผลิตลำไย คือ กรมธรรม์ประกันภัยพืชผลลำไยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) เนื่องจากการปลูกลำไยของเกษตรกรไทยนั้นจะเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยแล้ง ซึ่งประเทศไทยมักเกิดภาวะฝนแล้งได้ตลอดเวลา

ดังนั้น หากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้ง บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรแต่ความท้าทายของ ซมโปะฯ คือ การเดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่สวนลำไย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง และไม่ได้ปลูกติด ๆ กัน ดังนั้น ค่าใช้จ่ายของบริษัทในการเดินทางสำรวจพื้นที่ปลูกลำไยที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งอาจสูงกว่าค่าเบี้ยประกันภัย ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ข้อมูลสภาพอากาศจากดาวเทียม และข้อมูลปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 20 ปีมาสร้างเป็นสมการ หากพื้นที่เหล่านี้ฝนไม่ตกติดต่อกันนานเกินดัชนีแล้งที่กำหนดไว้ ความเสียหายของลำไยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นบริษัทจะอนุมัติการจ่ายค่าชดเชยได้เลย เป็นต้น

“เราประยุกต์ต่อยอดมาจากประสบการณ์ทางด้านบริการจากบริษัทแม่ของเราเองที่ญี่ปุ่น โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยและมีความเสียหายเป็นวงกว้าง การเข้าสำรวจพื้นที่หลังเกิดความเสียหายโดยเจ้าหน้าที่ปกติจะเข้าถึงยากและใช้เวลานาน

จึงมีการใช้ Drone เป็นอุปกรณ์เพิ่มเติมในการประเมินความเสียหายเพื่อพิจารณาสินไหมให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว พอเรารู้ว่าที่ญี่ปุ่นมีบริการนี้ เราก็มาคิดว่านอกจากเราจะนำมาใช้ในการสำรวจความเสียหายหลังจากที่เกิดเหตุไปแล้ว (Post Loss) เราน่าจะนำโดรนมาใช้ในงานบริการลูกค้าก่อนที่จะเกิดความเสียหาย (Pre-loss หรือ Loss Prevention) ได้เช่นกัน” ผศ.ชญณากล่าว

ผศ.ชญณา ได้ให้มุมมองในเรื่องของเทคโนโลยีเพิ่มเติมว่า “การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการทำงานในองค์กรถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่การมีเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องนำความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในทุกมิติมาผสมผสานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน เพราะจะทำให้การทำงานกระชับ มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้มากขึ้น รวดเร็วขึ้น สะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในสภาวการณ์ปัจจุบันตลาดประกันภัยยังขับเคลื่อนค่อนข้างช้า จึงเหมาะสำหรับการเตรียมตัวสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับเมื่อสถานการณ์โดยรวมกลับสู่ภาวะปกติ

ปัจจุบันทีมงานด้านนวัตกรรมของซมโปะฯ อยู่ระหว่างพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้บริษัทฯ มีความพร้อมที่สุด เมื่อตลาดกลับมาอยู่ในสภาวะปกติอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบ Smart Agent ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ออกแบบให้ตัวแทนในแต่ละภูมิภาคสามารถส่งงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การตอบสนองต่อปัญหาของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที”

“การทำธุรกิจประกันในยุคนี้ต้องเน้นที่ความสะดวกรวดเร็ว และคุณภาพเป็นสำคัญ เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจต่อการประกันภัยเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่เป้าหมายการเติบโตของบริษัทฯ ในปีนี้ ซมโปะฯ ตั้งเป้าการเติบโตให้สูงกว่าอัตราการเติบโตของ GDP ประเทศเหมือนในปีที่ผ่านมา และเราจะดูแลคนไทยด้วยหัวใจญี่ปุ่นผศ.ชญณา กล่าวปิดท้าย