แกะข้อมูล ‘ไทยประกันชีวิต’ สู่การเข้าตลาดหุ้น หลังก่อตั้งมา 80 ปี

‘ไทยประกันชีวิต’ ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับที่ 2 ของไทย อย่าง ‘ไทยประกันชีวิต’ กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทาง ‘Business+’ จึงได้ถือโอกาสมาเปิดข้อมูลของบริษัทแห่งนี้กันสักหน่อย เพราะนอกจากจะเป็นบริษัทประกันชีวิตแบรนด์ของไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคนไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีการก่อตั้งมายาวนานกว่า 80 ปี ยังถือเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงิน และ Position ทางการตลาดที่น่าสนใจมากๆ อีกด้วย

โดย บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ได้เสนอขาย IPO จำนวน 2,316,7 ล้านหุ้น ด้วยราคาเสนอขายหุ้นที่ 16.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวมไม่เกิน 37,067 ล้านบาท ในช่วง 29 มิ.ย. – 6 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบัน และความสนใจในการลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้คาดการณ์ว่าวันแรกที่จะเข้าเทรดคือวันที่ 25 ก.ค.จะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเดียวกัน

ใครคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่?
1. กลุ่ม วี.ซี.สมบัติ 50.79% (บริหารงานภายใต้ตระกูล ไชยวรรณ)
2. Meiji Yasuda Life Insurance Company 15.00% (ประกันชีวิตรายใหญ่ในญี่ปุ่น)
3. Her Sing (H.K.) Limited 6.19% (บริษัทโฮลดิ้งที่จดทะเบียนในฮ่องกง มีผู้ถือหุ้นทอดสุดท้ายคือตระกูล ไชยวรรณ)
4. นายไชย ไชยวรรณ 1.25%
5. นางชัชฎา มาลากุล ณ อยุธยา 1.25%

ทั้งนี้เมื่อดูจากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ‘ไทยประกันชีวิต’ มีส่วนแบ่งการตลาด เบี้ยประกันรวมทั้งหมด (Market share total premium) ในช่วงสิ้นปี 2564 ที่สัดส่วน 14.75% ถือเป็นอันดับที่ 2 และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน 334% ส่วนอันดับ 1 นั้นคือ บริษัท เอไอเอ จำกัด ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาด 25.64%

ขณะที่ ‘ไทยประกันชีวิต’ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนแข็งแกร่งถึงระดับ 334% ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดของ คปภ. ที่กำหนดไว้ที่ 140% ขณะที่ในปี 2564 มีรายได้รวม 109,246 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8,393.52 ล้านบาท ด้วยเบี้ยประกันรับรวม 90,451.49 ล้านบาท

ถึงแม้ว่า ‘ไทยประกันชีวิต’ จะมีความแข็งแกร่ง แต่การเข้าตลาดหุ้นก็ยังเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการเพิ่มแหล่งเงินทุนที่สะดวก และหลากหลายมากขึ้น

โดย ‘ไทยประกันชีวิต’ ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยนำเม็ดเงินเหล่านี้ไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้
1. การลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และการทำการตลาด จำนวนเงินที่จะใช้ 2,000 ล้านบาทระยะเวลาใช้เงินภายในปี 2565 – 2567

2. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร จำนวนเงินที่จะใช้ 5,400 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงิน ภายในปี 2567 – 2569

3. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน และสำหรับเงินทุนหมุนเวียนและวัตถุประสงค์อื่น ๆ จำนวน 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาใช้เงิน ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเข้าตลาดหุ้นจะเป็นเรื่องที่ดี แต่นักลงทุนยังต้องศึกษาข้อมูลและปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้กับธุรกิจและผลการดำเนินงานของ ‘ไทยประกันชีวิต’ โดยมีประกอบไปด้วย 4 ข้อหลักๆ คือ

1.หากพอร์ตการลงทุนอาจกระจุกตัวอยู่แค่ในสินทรัพย์บางประเภท และอาจได้รับผลกระทบจากสภาวะอัตราดอกเบี้ย

2. อาจได้รับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

3.หากไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ได้อาจทำให้เจอผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน หรือโอกาสทางธุรกิจ

4. หากไม่สามารถดึงดูดหรือรักษาผู้บริหารระดับสูงหรือบุคลากรด้านการบริหารและด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่สำคัญ อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจ ฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงาน

เป็นที่น่าจับตามองว่า ถึงแม้ว่า ‘ไทยประกันชีวิต’ จะมีความแข็งแกร่งทั้งในแง่ของฐานะการเงิน ตำแหน่งทางการตลาด รวมถึง Business Model ที่โดดเด่นอยู่แล้ว เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร ซึ่งครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทบุคคลและผลิตภัณฑ์ประเภทกลุ่ม พร้อมทั้งรากฐานของบริษัทที่ยาวนาน นับตั้งแต่การจัดตั้งขึ้นในเดือนมกราคม 2485

แต่การเข้าตลาดหุ้นก็ยังเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการเพิ่มแหล่งเงินทุนที่สะดวก และหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทแห่งนี้มีความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

ที่มา : ไทยประกันชีวิต
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #อุตสาหกรรม #ไทยประกันชีวิต #อุตสาหกรรมประกัน