ไขเบื้องลึกตลาดนมไทย ทำไมไม่ปัง? สวนทางธุรกิจ ‘ชา-กาแฟ’ ที่ยังเติบโต

ในช่วง 2-3 วันมานี้ เชื่อว่าหลาย ๆ ท่านคงจะได้เห็นกระแสข่าวผู้ผลิตนม ‘โฟร์โมสต์’ ยกเลิกการผลิตและจำหน่ายนมประเภทพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurized) ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นข่าวที่ทำเอาหลายคนตกอกตกใจ ด้วยความคุ้นชินที่มีต่อผลิตภัณฑ์นม ‘โฟร์โมสต์’ ที่ไม่ว่าจะไปร้านสะดวกซื้อที่ไหนก็มักจะเห็นนมยี่ห้อนี้อยู่แทบทุกที่ โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในซุปเซอร์มาร์เก็ต ที่มีตู้แช่สำหรับผลิตภัณฑ์นมโดยเฉพาะ ซึ่งสร้างภาพจำต่อ ‘โฟร์โมสต์’ จนชินตา จากการเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายนมรายใหญ่ที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนานกว่า 65 ปี และมีส่วนแบ่งการตลาดเชิงมูลค่าสูงสุดอันดับ 1 ในตลาดผลิตภัณฑ์นมยูเอชที (ตั้งแต่มิถุนายน 2563 – พฤษภาคม 2564)

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ ‘โฟร์โมสต์’ เลิกผลิตและจำหน่ายนมพาสเจอร์ไรซ์ นั้น ทางบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า เฟรช (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้เปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างดีที่สุด เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย โดยการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดประเทศไทย เป็นปัจจัยพื้นฐานอันสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หลังจากได้พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยรอบคอบแล้ว บริษัทฯ จึงตัดสินใจยุติการดำเนินธุรกิจนมพาสเจอร์ไรซ์ในประเทศไทย และปิดโรงงานผลิตที่หลักสี่ โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของประเทศไทยในระยะยาว ทั้งนี้ การปิดโรงงานหลักสี่ จะส่งผลต่อการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรซ์ที่ผลิตจากโรงงานหลักสี่เท่านั้น บริษัทฯ จะยังคงเดินหน้าผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณภาพ มีความหลากหลายและสามารถเก็บรักษาได้นาน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย ผ่านผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้แก่ โฟร์โมสต์ ยูเอชที โฟร์โมสต์ โอเมก้า ฟอลคอน เรือใบ มายบอย และเดบิค

จากการชี้แจงดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นคำถามขึ้นมาในใจถึงสภาวะตลาดนมในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง ‘โฟร์โมสต์’ ถึงขั้นยกเลิกการผลิตและจำหน่ายนมพาสเจอร์ไรซ์ในประเทศ ดังนั้น จึงเกิดเป็นการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดนมในประเทศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าปัญหาหลักของธุรกิจนมในประเทศไทย คือการที่บุคลากรในประเทศไม่ชอบดื่มนม โดยข้อมูลจากปี 2564 พบว่าคนไทยดื่มนมเฉลี่ยปีละ 18 ลิตร/คน เท่านั้น ในขณะที่อัตราการดื่มนมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณปีละ 113 ลิตร/คน และ 66 ลิตร ต่อคนต่อปี ในทวีปเอเชีย

ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมตลาดนมในประเทศ โดยข้อมูลจาก ‘นีลเส็น’ พบว่า ในปี 2564 ตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มมีมูลค่า 44,000 ล้านบาท หดตัว 7.5% โดยแบ่งสัดส่วนเป็น นมพร้อมดื่ม 50% ตามด้วยนมถั่วเหลือง 30% ขณะที่มอลต์สกัดอยู่ที่ 15% และอื่น ๆ อีก 5%

นอกจากนี้ ยังพบว่าสาเหตุที่คนไทยไม่นิยมดื่มนมเท่ากับประเทศอื่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผลิตภัณฑ์นมมีราคาสูงเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มชนิดอื่น อาทิ น้ำอัดลม น้ำชา อีกทั้งการที่เครื่องดื่มชนิดอื่นมีรสชาติที่อร่อยกว่า ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนไทยไม่นิยมดื่มนมเท่าที่ควร ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ น่าจะพอทำให้เห็นถึงอุปสรรคในการประกอบธุรกิจนมในประเทศไทยได้พอสมควร

อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจตลาด ชาและกาแฟในประเทศไทย กลับพบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจชาพร้อมดื่มนั้น มีมูลค่า 11,214 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ที่มีมูลค่า 10,786 ล้านบาท ในขณะที่การเติบโตเชิงปริมาณก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2564 อยู่ที่ 284.5 ล้านลิตร เติบโตจากปี 2563 ที่ระดับ 268.2 ล้านลิตร นอกจากนี้ ในแง่ของการส่งออกชาไทยก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยในปี 2564 (มกราคม-กรกฎาคม 2564) ชาไทยมียอดส่งออกปริมาณสูงถึง 2,192.44 ตัน เพิ่มขึ้น 99.88% และมีมูลค่า 508.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 119.36% (สินค้าประเภทชาเขียวและชาดำบรรจุหีบห่อ)

ขณะที่ธุรกิจกาแฟในปี 2564 ตลาดกาแฟมีมูลค่าประมาณ 32,134.9 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยอัตราการเติบโตของยอดค้าปลีกกาแฟในปี 2564 มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การบริโภคกาแฟภายในบ้านมีการเติบโตสูงขึ้น

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ที่มา : foremostthailand, ไทยรัฐ, นีลเส็น, คมชัดลึก, Food Intelligence Center

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #นม #ชา #กาแฟ #โฟร์โมสต์ #foremost #ตลาดนมไทย #ตลาดนม