Sustainability

Sustainability leaders ยกระดับ ‘Circular Economy’

ปัจจุบันภาครัฐและภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เนื่องจากตระหนักรู้ถึงทรัพยากรในโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นต้องมุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืนที่ไม่เพียงแค่สนใจด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนรุ่นหลังในภายภาคหน้า

Sustainability

ปัจจุบันประชากรทั่วโลกส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในแง่ของการใช้พลังงานทดแทน การรณรงค์ เพื่อรักษาระบบนิเวศและสร้างสมดุลให้กับโลก รวมไปถึงมิติด้านสังคม อย่างความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำของผู้คน  นั่นทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเวทีการค้าโลกได้นำหลักการด้านความยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาใช้เป็นเกณฑ์การเลือกพันธมิตรและคู่ค้า ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการยึดหลัก ESG (Environment, Social, Governance) เพื่อให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

ทั้งนี้หลายองค์กรจึงยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อให้สามารถมีแนวทางในการทำงานร่วมกับหลายฝ่ายและพาไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ซึ่ง SDGs คือเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จาก ‘องค์การสหประชาชาติ’ (United Nations) ที่มีประเทศไทย และอีก 192 ประเทศ ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

แต่ทั้งนี้หลัก SDGs ต้องมีการนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ จึงต้องร่วมมือกันผลักดันทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันและบรรลุถึงเป้าประสงค์ที่ต้องการขับเคลื่อนไปสู่ผลสำเร็จ ซึ่งเป้าหมายของ SDGs มีอยู่ 5 มิติหลัก ๆ ดังนี้

5 Ps ของ SDGs

  1. การพัฒนาคน (People) ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
  2. สิ่งแวดล้อม (Planet) ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป
  3. เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ
  4. สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก
  5. ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยทั้ง 5 มิตินี้ ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร โดยมุ่งการเปลี่ยนแปลงในทุกเครือข่าย ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หากพูดถึงความพร้อมขององค์กรไทยปัจจุบัน มีหลายองค์กรชั้นนำแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยยึดตามหลักสากลโลก ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปรับโครงสร้างธุรกิจที่ต้องมุ่งเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจสีเขียว (Green) มากขึ้น การลดการทำร้ายโลกและสังคมด้วยการลดปล่อยมลพิษ หรือก๊าซเรือนกระจก ผ่านการใช้พลังงานทดแทน การจัดกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่การสนับสนุนความเท่าเทียมทั้งในเรื่องการศึกษา เพศ ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างการจ้างงานเต็มที่ เป็นต้น

Sustainability Expo 2023

สำหรับในประเทศไทย ได้มีองค์กรชั้นนำจำนวนมากที่มีแผนพัฒนา และสนับสนุนด้านความยั่งยืนให้กับประเทศ โดยในปี 2023 ได้มีการจัดมหกรรมเพื่อความยั่งยืนระดับเอเชีย ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานทุกภาคส่วนกว่า 100 องค์กร นำโดย 5 องค์กรธุรกิจต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที  โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC, เอสซีจี, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมสร้างการปลูกฝัง และชวนมาถอดรหัสการ “ลงมือทำ” เพื่อร่วมสร้าง “สมดุลที่ดี เพื่อโลกทีดีกว่า” Good Balance, Better World ซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG) ภายใต้ชื่อ ‘Sustainability Expo 2023’ หรือ SX2023 เป็นปีที่ 4 เพื่อตอกย้ำความเป็นต้นแบบของความยั่งยืน

‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’ (Sufficiency for Sustainability) คือ หัวใจหลักของการจัดงานจากการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการจัดงานด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ผนวกกับหลักเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาติ (UNSDGs) มาสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายแห่งการปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ภายใต้แนวคิด ‘Good Balance, Better World สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า’

Sustainability

โดยทั้ง 5 องค์กรนี้ถือเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลกชั้นนำในไทย ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน ซึ่ง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาความยั่งยืน สำหรับงานในปีนี้ ไทยเบฟ ได้ตอกย้ำแนวคิดด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กรในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนและสร้างผลกระทบเชิงบวกสุทธิต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมุ่งมั่น “สรรสร้างการเติบโต ที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) พร้อมทั้งกำหนดแผนงานและเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ และกรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact)

ขณะที่ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) มุ่งเน้นการบริหารจัดการการดำเนินงานทั้ง 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งการเข้าถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายครอบคลุม 13 Focus areas สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกแห่งสหประชาชาติ อีกทั้งยังได้กำหนดเป้าหมายความยั่งยืนเป็นตัวชี้วัดขององค์กร เพื่อให้บุคลากรทุกคนมีส่วนร่วม

ส่วน บมจ.พีทีที  โกลบอล เคมิคอล ดำเนินงานด้านความยั่งยืนใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่น ‘เป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต’ ทั้งนี้มีการตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050

ด้าน เอสซีจี ได้ปรับโครงสร้างการบริหารงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องตอบสนองอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายสำคัญ 5 เป้าหมาย คือ Good Health and Well-Being, Decent Work and Economic Growth, Industry, Innovation and Infrastructure, Responsible Consumption and Production และ Climate Action

และบมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้ใช้กลยุทธ์ SeaChange® 2030 ซึ่งเป็นแผนความยั่งยืนที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยกลยุทธ์นี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติถึง 10 ประการด้วยกัน ซึ่งการบรรลุเป้าหมายนี้จะช่วยลดปริมาณคาร์บอน จำกัดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศ

นอกจากทั้ง 5 องค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนแล้วโครงการนี้ยังร่วมด้วยพันธมิตรที่เห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนมาร่วมให้ความรู้ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมจัดงาน TCAC (Thailand Climate Action Conference) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงาน SX 2023 โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนเรื่องแผน Net Zero ของประเทศ อีกทั้งยังร่วมด้วยเครือข่าย TSCN (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) และหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมอีกมากมายที่จะมาร่วมสร้างต้นแบบโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนที่เรียกว่า B2C2B (Business-to-Consumer-to-Business) หรือการยึดผู้บริโภคเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงระหว่างองค์กรธุรกิจ ที่ทุกภาคส่วนมารวมพลังกันขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ภายในปี 2030

เติมสาระความรู้ด้านความยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายในงานจะประกอบไปด้วย 8 โซนหลัก ที่ช่วยดึงดูดให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงสมดุลระหว่างองค์ประกอบและนโยบายต่าง ๆ ด้านความยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมไปถึงแบบจำลองเมืองต้นแบบของการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ทั้งชุมชน เมือง และภูมิภาค โดยรายละเอียดทั้ง 8 โซนมีดังนี้

– โซน SEP หัวใจของความยั่งยืน ตามหาความหมายที่แท้จริงของ SEP (SX Prologue) : นิทรรศการที่จะนำทางไปค้นหาคำตอบที่แท้จริงของการสร้างสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีขึ้น ถ่ายทอดผ่านแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญความเกี่ยวเนื่องระหว่างองค์ประกอบและนโยบายต่าง ๆ ด้านความยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

– โซน Better Me : เน้นย้ำให้ตระหนักรู้ว่าทุกสิ่งที่จะดีขึ้นได้..เริ่มที่ตัวเรา ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการปรับมุมคิดในการใช้ชีวิตต่างวัยที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

– โซน Better Living : พบกิจกรรมและโครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การยกระดับคุณภาพชีวิตที่เกิดจากการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ตลอดกระบวนการผลิต ห่วงโซ่มูลค่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

– โซน Better Community : จำลองสังคมเมืองในฝัน นวัตวิถีเพื่อชีวิตเท่าเทียม น่าอยู่ ปลอดภัย และยั่งยืน พบกับแบบบ้านพอเพียงเพื่อผู้ขาดแคลน แบบโครงสร้างเมืองใหม่เชื่อมถึงกันเต็มระบบ ชุมชนสร้างสรรค์เพื่อโอกาสเท่าเทียมในสังคมของทุก ๆ คน รวมถึงต้นแบบของการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน ทั้งชุมชน เมือง และภูมิภาค

– โซน Better World : รวบรวมงานศิลป์สะท้อนมุมมองความยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ Nat Geo สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย และผลงานนานาชาติ 10 ประเทศ ASEAN ที่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ใด จากโครงการ ASEAN SX PHOTO CONTEST และโครงการ Trash to Treasure เปลี่ยนขยะเป็นงานศิลป์ทรงคุณค่า

– โซน Food Festival : เทศกาลอาหารเพื่อโลกจากเชฟชื่อดัง พบกับธีม Thai Street Food Museum ที่จำลองจุด Landmark ชื่อดังร่วมสมัยในกรุงเทพฯ เมืองเก่าภูเก็ต และหัวเมืองสำคัญของไทยมาไว้ในหนึ่งเดียว พร้อมเสิร์ฟอาหารเลิศรสที่ดีต่อคุณ ดีต่อโลก กับแนว Zero-Waste Cooking เรียนรู้การจัดการขยะอาหารเพื่อความยั่งยืนแบบเต็มรูปแบบ

– โซน SX Marketplace : รวบรวมร้านค้าจากดีไซเนอร์รักษ์โลก สินค้านวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ต้นไม้สวย Garden and Farm สินค้าตกแต่งบ้านและสินค้าชุมชนกว่า 200 ร้านค้า ช็อปสินค้างานคราฟต์โดนใจเพื่อชุมชนและสังคม เรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมผึ้งชันโรง ผึ้งจิ๋วคุณประโยชน์แจ๋ว และเวทีแชร์มุมมองทางธุรกิจการค้าขาย พร้อมกับมุมพักผ่อนพร้อมจิบกาแฟจากร้าน HARVKIND คาเฟ่ในโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์แนวคิดยั่งยืน

– โซน SX Kids Zone : เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผสมผสาน ทั้ง Digital Experience และ Environmental เพื่อสร้างจินตนาการ และเสริมทักษะ

Successful Sustainability

ในมุมของ ‘Business+’ นั้น การพัฒนาสู่ความยั่งยืนถือเป็นผลสำเร็จในระยะยาวที่จะทำให้เกิดความสมดุลของโลกในทุกมิติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล ไม่ใช่แค่หวังผลระยะสั้น ด้วยการวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้เกิดการเติบโตในระยะยาว และต้องได้รับความร่วมมือกับทั้งภายในและภายนอกกับพันธมิตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ซึ่งความยั่งยืนมีหลากหลายความหมาย แล้วแต่บริบทของการนำไปพัฒนาองค์กรในแต่ละมิติ อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่เหมือนกันคือ การพัฒนาและรักษาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สามารถดำรงสภาพอยู่ได้ต่อไปในอนาคต โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนรุ่นหลัง ซึ่งจากกระแสการเติบโตอย่างยั่งยืนที่เริ่มถูกนำมาเป็นเกณฑ์บรรทัดฐานการค้าระหว่างประเทศในระดับสากล ในแง่ของการเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลกจากพันธมิตรและคู่ค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จึงทำให้หลายองค์กรทรานส์ฟอร์มตัวเอง และมีบทบาทกับเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติมากขึ้น

แต่การขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อาทิ หากมีการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและชุมชนด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องเชื่อมโยงถึงกันโดยไม่หนักในด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้เกิดความสมดุล

ทั้งนี้ หากต้องการก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนต้องร่วมมือกัน ลงมือทำ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนสนับสนุนให้เกิดผล รองลงมาคือองค์กรเอกชนที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อส่วนรวม ซึ่งในภาคธุรกิจปัจจัยรอบข้างจะส่งผลต่อการดำเนินงานเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจที่จะส่งผลมากที่สุด ด้วยประเด็น SDGs อาจเป็นตัวชี้วัดต่อการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคต

เห็นได้จากทั้ง 5 องค์กรชั้นนำของไทย ที่ร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการจัดงาน Sustainability Expo 2023 ด้วยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง และต้องการปลูกฝังให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการเติบโตตามหลักของ SDGs ไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงการพัฒนาคน การดูแลสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมกันในสังคม