‘Space Food’ อาหารธีมอวกาศ ที่มีอิทธิพลกับกลุ่ม Gen Z คืออะไร?

เทรนด์อาหารธีมอวกาศกำลังมาแรงในยุคนี้ โดยเฉพาะในปี 2566 ซึ่งอาหารธีมอวกาศนี้ได้ถูกออกแบบมาตามอาหารอวกาศที่ใช้ได้จริงบนยานอวกาศที่อยู่นอกโลก โดยMintel บริษัทวิจัยและวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดของอังกฤษเปิดผลสำรวจว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ได้เป็นอย่างดี

ก่อนจะไปดูอาหารธีมอวกาศที่น่าสนใจ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การผลิต ‘อาหารอวกาศ’ (Space Food) นั้นมีความแตกต่างกับอาหารทั่วไป เพราะต้องใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science) เข้ามาช่วยในการผลิตเป็นอย่างมาก โดยอาหารสำหรับนักบินอวกาศที่ทำงานอยู่นอกโลกจะต้องให้สารอาหารมากกว่าอาหารปกติ เนื่องจากนักบินอวกาศต้องเจอสภาวะมวลกระดูก และนักบินจะต้องคุมอาหารให้ได้พลังงานเฉลี่ย 3,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

ดังนั้นอาหารอวกาศถือว่าเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง เพราะว่าเมื่ออยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก จะต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ และยังช่วยชดเชยแร่ธาตุต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้อาหารอวกาศต้องพร้อมที่จะรับประทานได้อยู่เสมอตลอดการเดินทาง และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ และเพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการขาดวิตามิน

โดยต้นทุนการผลิตอาหารอวกาศที่ส่งให้กับนักบินอวกาศมีต้นทุนค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้ ซึ่งอาหารอวกาศก็มีการพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงจากยุคของโครงการไปอวกาศได้ดังนี้

– โครงการเมอร์คิวรี : ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกของการบินออกนอกอวกาศของมนุษย์ โดยอาหารในยุคนี้จะเป็นอาหารบดจนมีสภาพกึ่งเหลว และอัดเข้าไปในหลอดคล้ายหลอดยาสีฟัน

– โครงการเจมินี, โครงการอะพอลโล : ยุคนี้อาหารอวกาศได้พัฒนาขึ้นมามาก เกิดจากการแล่อาหารเป็นชิ้นบางๆ ปรุงรสและแช่แข็งทันทีในตู้ลดความดันอากาศ วิธีนี้จะทำให้ได้รสชาติอาหารที่ใกล้เคียงอาหารปกติ แต่นักบินต้องเติมน้ำเข้าไปก่อนถึงจะสามารถกินได้

– ยุคสถานีอวกาศนานาชาติ : ถูกพัฒนาขึ้นมาในรูปแบบของอาหารแช่แข็ง และไม่จำเป็นต้องผสมน้ำก่อนกินด้วย เพียงแค่อุ่นก็สามารถรับประทานได้ทันที

นับตั้งแต่ปี 2007 ก็มีหลายแบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารอวกาศมามากมาย สำหรับแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของประเทศญี่ปุ่นก็ได้ผลิตอาหารอวกาศออกมา ได้แก่ บะหมี่รสโชยุ รสซีฟู้ด และรสแกงกะหรี่ โดยการผลิตอาหารอวกาศนั้นจะต้องได้รับการรับรอง ให้เป็นอาหารอวกาศจาก JAXA อย่างเป็นทางการ (ปัจจุบันบะหมี่ทั้ง 3 ชนิดได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Nissin Space Cup Noodle, Nissin Space Sea Food Noodle และ Nissin Space Cup Noodle Curry)

แม้อาหารอวกาศจะเป็นสิ่งไกลตัว และเป็นอาหารที่ปกติแล้วผู้บริโภคไม่ได้นึกถึง แต่ปัจจุบันอาหารอวกาศถูกนำมาเป็นไอเดียในการออกแบบผลิตภัณฑ์ หลังจากที่กระแสการเดินทางในอวกาศเริ่มถูกนำกลับเอามาพูดจากประเด็นปัญหาโลกร้อน โดยที่มีหลากหลายบริษัทได้ออกแบบมาเป็นรูปลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ หรือ แม้กระทั่งเลียนแบบอาหารที่นักบินอวกาศใช้

ซึ่งความสนใจเหล่านี้จะทำให้อาหารอวกาศกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อเทรนด์อาหาร และเครื่องดื่มมากยิ่งขึ้นในปี 2566 เนื่องจากผู้คนมองหาแรงบันดาลใจที่ดูเหมือนจะมีอยู่อย่างจำกัดบนโลก

โดยตัวอย่างสินค้าในธีมอวกาศที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา เช่น แคร็กเกอร์ Moonshot ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ ซึ่งผลิตจากข้าวสาลีที่ปลูกแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น และ เครื่องดื่ม Coca-Cola รสชาติ Starlight หรือรสชาติอวกาศได้วางจำหน่ายในจำนวนจำกัดในตลาดสหรัฐฯ ช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก

ซึ่งธีมอวกาศนี้เป็น 1 ใน 5 เทรนด์การรับประทานอาหารของชาวอเมริกันในปี 2566 ที่ถูกจัดอันดับโดย New York Times ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันรายใหญ่ของสหรัฐฯ ว่าธีมอวกาศจะเป็นที่นิยมสำหรับวัยรุ่นในประเทศต่างๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ถือว่าเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการชาวไทยที่ต้องการผลิตอาหาร หรือสินค้าเพื่ออ้างอิงธีมและเทรนด์ที่กำลังเข้ามาในปี 2566

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #อาหารอเมริกัน #อาหารอวกาศ