ส่องแนวโน้มตลาด ‘Snack Bar’ ในไทย คาด Market Share ปีนี้แตะ 1.14 พันล้าน

พฤติกรรมการรับประทานจุบจิบ หรือ อาการที่กินพร่ำเพรื่อทีละเล็กทีละน้อยนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งใน 1 วันมื้ออาหารหลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกันแค่ เช้า กลางวัน เย็น และอาจจะมีการตบท้ายด้วยของหวาน แต่นอกเหนือจากนี้ยังมีการนิยมทานอาหารว่างระหว่างวัน ส่วนมากที่พบเห็นจะเป็นขนมเค้ก ชานม ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดไอเดียในการผลิตอาหารว่างที่สามารถพกพาได้เพราะอยู่ในรูปแบบแท่ง รับประทานได้ทุกที่ มีความอร่อย รวมทั้งยังให้คุณประโยชน์ต่อร่างกาย จึงทำให้กลายมาเป็น ‘สแน็คบาร์’ (Snack Bar) ในทุกวันนี้

ซึ่งสแน็คบาร์ ไม่เพียงแค่เป็นอาหารว่างเท่านั้น แต่อาหารมื้อหลักก็เป็นได้เช่นกัน ถือเป็นตัวเลือกที่ดีในช่วงเวลาที่เร่งรีบ เนื่องจากสามารถแกะทานได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปรุง หรือ อุ่น ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มีแคลอรี่ที่ไม่สูง ซึ่งผู้บริโภคที่ดูแลรูปลักษณ์ของตนเองจึงมีการให้ความสนใจกับสแน็คบาร์มาก เพราะอุดมไปด้วยโชนาการที่สูงด้วยมี ข้าวโอ๊ต ธัญพืช เป็นวัตถุดิบหลัก นับเป็นขนมแท่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้หากดูแนวโน้มมูลค่าตลาดของสแน็คบาร์ในไทยนั้น mordorintelligence ระบุว่า ในปี 2567 คาดมูลค่าตลาดแตะ 32.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,149,246,370 บาท) และคาดจะสูงถึง 41.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1,484,829,160 บาท) ในปี 2572 คิดเป็นเติบโตเฉลี่ย CAGR ที่ 5.26% (แปลงจากค่าเงินบาท ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ 35.62 บาท) ซึ่งการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดสแน็คบาร์เป็นผลมาจากการเติบโตของช้อปปิ้งออนไลน์ที่ดึงดูดผู้บริโภคด้วยข้อเสนอต่าง ๆ รวมทั้งยังช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางไปซื้อสินค้า นอกจากนี้สินค้าที่ลงขายทางแพลตฟอร์มออนไลน์จะมีราคาที่ถูกกว่าเล็กน้อย ส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการมีการนำสินค้ามาลงจำหน่าย ส่งผลให้ยอดขายสแน็คบาร์ในไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับผู้เล่นหลักในตลาดสแน็คบาร์ของไทย พบว่ามี 5 รายด้วยกัน ได้แก่ Nestlé S.A., Kellogg Co., The Quaker Oats Company, General Mills และ RXBAR โดยจากทั้ง 5 รายนี้จะเห็นได้ว่าเป็นบริษัทต่างชาติอาจเป็นเพราะด้วยผลิตภัณฑ์มีการนำนวัตกรรมาใช้ในการผลิตให้เกิดความหลากหลายทางรสชาติและหลากหลายวัตถุดิบเมื่อเทียบกับแบรนด์ในประเทศ รวมถึงมีการมุ่งเน้นไปที่ช่องทางการจัดจำหน่ายและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มยอดขาย

ซึ่งแบรนด์เหล่านี้มีการวางจำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายของชำ, ร้านค้าปลีกออนไลน์  และ ช่องทางการจำหน่ายอื่น ๆ เรียกได้ว่าครบทุกช่องทางการขาย สำหรับการกระจายขายตามแหล่งต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

สุดท้ายนี้ตลาดสแน็คบาร์ก็ยังคงมีการแข่งขันที่สูง หากมองดูจากผู้เล่นทั้ง 5 รายที่อยู่ในตลาดมาอย่างยาวนาน เพราะแต่ละแบรนด์ก็มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งในส่วนของมูลค่าตลาดที่จะเติบโต 5.26% ระหว่างช่วงปี 2567-2572 ยังคงเป็นแนวโน้มที่ดีเนื่องจากอาจจะมีผู้เล่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อมีหลากหลายผู้เล่นก็จะผลักดันให้มูลค่าเพิ่มสูงตามลำดับ

.

ที่มา : mordorintelligence

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/ 

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

.

#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #SnackBar #สแน็คบาร์