skincare

จุดเปลี่ยนธุรกิจเครื่องสำอางในแคนาดา รัฐเตรียมออกกฎห้ามขายสินค้าที่ทดลองกับสัตว์

เทรนด์สินค้ารักษ์โลกเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจผลกระทบด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทรนด์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ได้ทำให้แบรนด์ดั้งเดิมต้องปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อที่จะไม่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง หนึ่งในธุรกิจที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงคือ ธุรกิจ Skin Care ซึ่งในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา Skin Care ซึ่งประเภท Natural Organic หรือ Vegan ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะผลิตภัณฑ์ความงามทางเลือกใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ได้รับความนิยม แต่ Skin Care ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็จะเริ่มถูกเมิน เพราะผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น แต่ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีกับโลก

ซึ่งเทรนด์นี้ได้สอดคล้องกับทิศทางของหลายประเทศที่ออกกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามทดลองเครื่องสำอางในสัตว์ (CrueltyFree) เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ทำให้ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์ความงามหลายแบรนด์ดังๆ ทั่วโลกยกเลิกการทดลองกับสัตว์ และได้รับสัญลักษณ์ Cruelty Free บนผลิตภัณฑ์ ที่แสดงให้เห็นว่า Skin Care และ Make Up นั้นๆ ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์แต่อย่างใด ถึงแม้หลายประเทศยังไม่ได้มีการบังคับใช้ทางกฏหมาย แต่หลายประเทศก็เริ่มคุมเข้มและเริ่มวางแผนที่จะนำกฏหมายมาบังคับใช้กันมากขึ้น (ปัจจุบันมีมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกได้สั่งห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทดลองกับสัตว์)

หนึ่งในประเทศที่น่าสนใจคือ แคนาดา โดยที่ กระทรวงสาธาณสุข แคนาดาเตรียมออกกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทดลองกับสัตว์ โดยจะครอบคลุมกับผลิตภัณฑ์ความงามในกลุ่มเครื่องสำอาง น้ำหอม ครีมทาผิว ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผม โฟมโกนหนวด และยาทาเล็บ หลังจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามที่จะสั่งห้ามการใช้สัตว์ทดลองมาตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากที่ผ่านมา หลายฝ่ายมีการตั้งคำถามมากมายในประเด็นจริยธรรมและความถูกต้องกับแบรนด์เครื่องสำอางบางยี่ห้อที่ยังทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์อยู่นั้น ก็เพื่อทดสอบว่าสารเคมี หรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์จะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้กับผิวของคนหรือเป็นอันตรายใดๆ โดยมักทำการทดลองกับสัตว์เล็ก เช่น หนูแฮมสเตอร์ กระต่าย แมว ฯลฯ

จนกระทั่งปี 2564 องค์กร Humane Society International ของสหรัฐฯ ได้จัดทำหนังสั้นที่พูดถึงการทารุณกรรมสัตว์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ความงาม เพื่อออกมาเป็นแคมเปญเชิญชวนให้คนแบนการใช้เครื่องสำอางที่นำสัตว์มาเป็นตัวทดลอง ด้วยผ่านการติด#SaveRalph จนกลายเป็นไวรัลกันไปทั่วโลก และนำไปสู่การรณรงค์เลิกใช้เครื่องสำอางที่ทดลองกับสัตว์

จากนั้นมา จึงได้เห็นบริษัทเครื่องสำอางอีกหลายๆแบรนด์เข้ามาให้ความสำคัญ และต้องการยุติการทารุณกรรมสัตว์เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามาพัฒนาวิธีการและรูปแบบการทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่โดยปราศจากการใช้สัตว์เป็นตัวทดลองและก็ได้ในผลลัพธ์ออกมาเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ใดที่ไม่ได้ทำการทดลองกับสัตว์ในทุกขั้นตอนการผลิต จะมีการใช้สัญลักษณ์อาทิ Cruelty Free, Leaping Bunny, Vegan Product และ No Animal Testing เป็นต้น

ด้านตัวแทนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกายในแคนาดา ระบุว่า ทางหน่วยงานพร้อมให้การสนับสนุนกฎหมายห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ความงามที่ทดลองกับสัตว์อย่างเต็มที่ ซึ่งจากนี้ไปทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้พิจารณาร่างระเบียบในการห้ามการขายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามที่ผ่านการทดลองในสัตว์ภายในปี 2566 (แต่ยังต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงก่อนเดือนสิงหาคมนี้)

สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้มีการบังคับใช้กฏหมายแต่แบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามจากไทย ควรหันมาใส่ใจประเด็นการต่อต้านการทดลองผลิตภัณฑ์ในสัตว์เช่นกัน และผลิตภัณฑ์ก็ควรผ่านการรับรองจากองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้รับอนุญาตให้ใช้สัญลักษณ์ Cruelty Free บนผลิตภัณฑ์ เพื่อที่จะสามารถสร้างจุดเด่น และเพิ่มความสามารถในเชิงแข่งขันให้ผลิตภัณฑ์ได้เปรียบคู่แข่งอื่นๆ ในตลาดได้ แต่การเปลี่ยนถ่ายสู่สินค้ารักษ์โลก จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการทั้งต้นทุน และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น

โดยเฉพาะการพัฒนาสูตรเครื่องสำอาง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจนี้ คือ ‘ต้นทุน’ ในการวิจัย (R&D) ซึ่งนักวิจัยที่มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จจะต้องคำนวณต้นทุนที่ใช้ในการปรับสูตร หรือพัฒนาสูตรออกมาเป็นทรัพยากรที่สูญเสียไประหว่างการพัฒนาเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการ โดยมูลค่านั้นจะต้องสามารถวัดได้เป็นหน่วยเงิน

ขณะที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนที่สำคัญ คือ วัตถุดิบ (Raw Materials) ที่นับว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ซึ่งวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตจะต้องถูกระบุอย่างชัดเจนว่าใช้กับการผลิตสินค้าตัวไหน ใช้ในปริมาณเท่าไหร่และราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนรวมเท่าไหร่

โดยราคาวัตถุดิบจะมีความไม่แน่นอน เพราะมีการปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล ราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งหากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตเครื่องสำอางเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะต้องถูกกำหนดให้ราคาของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับต้นทุน และอยู่บนความเสี่ยงน้อยที่สุด และเป็นระดับที่คุ้มค่ากับวัตถุดิบให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

ที่มา : https://www.cosmeticsandtoiletries.com , DIPT

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #เครื่องสำอาง #Skincare