ติดอาวุธพนักงานด้วย “การเรียนออนไลน์” ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้

“การเติบโตของโลกออนไลน์” ไม่เพียงทำให้โลกใบนี้ไร้พรมแดน แต่ยังทลายกำแพงโลกการเรียนรู้ ให้ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมอีกต่อไป เห็นได้จากอัตราการเติบโตของอีเลิร์นนิง (E-Learning) ที่มีการเติบโตกว่า 900% นับตั้งแต่ปี 2000 เช่นเดียวกับเทรนด์การเรียนออนไลน์ (Online Learning) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนมีการคาดการณ์ว่า ตลาดการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ อาจมีมูลค่าสูงถึง 7.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.57 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025

 

หนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้ธุรกิจอีเลิร์นนิงและการเรียนออนไลน์ กลายเป็นดาวเด่นที่น่าจับตามอง เป็นผลพวงมาจากสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยเร่งที่พลิกโฉมทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่โลกการศึกษาที่เด็กวัยเรียนต้องย้ายจากห้องเรียนแบบเดิม ๆ มาอยู่บนห้องเรียนออนไลน์ เช่นเดียวกับวัยทำงานที่ต้องหันมาติดอาวุธ Reskill และ Upskill ขนานใหญ่ ผ่านหลักสูตรออนไลน์ต่าง ๆ  เพื่อก้าวให้ทันกับบริบทขององค์กรที่ต้องเร่งปรับตัว เพื่อก้าวให้ทันโลกหลัง Covid-19

 

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าการเรียนออนไลน์ จะเป็นคำตอบที่ใช่ของโลกแห่งการเรียนรู้ยุคใหม่ สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตคนยุคนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องใช้ชีวิตแบบมีระยะห่าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า เพื่อแลกกับความสะดวกสบาย ผู้เรียนก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะพอเปลี่ยนมาเรียนผ่านหน้าจอที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อหน้ากับผู้สอน หรือเพื่อนร่วมชั้นโดยตรง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจจะไม่ได้เอื้อต่อการเรียน​ ก็อาจทำให้ผู้เรียนไม่มีสมาธิ ไปจนถึงขาดแรงจูงใจในการเรียนได้

 

การเรียนออนไลน์ จึงเหมือนเป็นดาบสองคมที่ช่วยให้โลกของการเรียนรู้เข้าถึงได้ง่ายด้วยปลายนิ้วก็จริง แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ทำให้อัตราการเรียนจนจบคอร์สต่ำ เพราะหลายคนอาจจะถอดใจ เลิกเรียนกลางคัน หรือบางครั้งเรียนจนจบ ก็ไม่สามารถเอาไปต่อยอดในการทำงานจริง เพราะไม่ได้ตั้งใจเรียนจริงจัง เรียนไปด้วยนั่งทำงานอื่นไปด้วย หรือแค่เปิดหน้าจอทิ้งไว้เพื่อเก็บชั่วโมงเรียน เป็นต้น

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อบวกกับสถานการณ์โรคระบาดที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จึงนำมาซึ่งคำถามที่ชวนให้คิดว่า การเรียนออนไลน์ ยังเป็น “ทางเลือก” ของการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่หรือไม่? หรือจริง ๆ แล้วเป็นแค่ “ทางรอด” ในช่วงที่ทุกคนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ปกติ

แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น รูปแบบการเรียนรู้แบบใดที่ทรงประสิทธิภาพและตอบโจทย์โลกหลัง Covid-19 ได้มากกว่า?

 

ก่อนจะเฉลยคำตอบ จึงอยากชวนทุกคนไปดูข้อมูลของ Cornerstone People Research Lab (CPRL) ซึ่งได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานจำนวน 1,000 คน และผู้จัดการด้านทรัพยากรบุคคลจำนวน 500 คน เกี่ยวกับการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อการทำงาน

 

ผลการสำรวจพบว่า 61% ของพนักงาน เห็นตรงกันว่า “เวลา” คือ อุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ แต่ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เป็นไปอย่างรวดเร็วก็ทำให้พนักงานรู้สึกกังวล และมองว่าต้องเร่งพัฒนาทักษะ เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร หรือคนที่เก่งกว่า

 

โดยผลสำรวจนี้ ยังลงลึกไปถึงว่า เพื่อติดอาวุธให้ตัวเองเก่งขึ้น พนักงานชื่นชอบวิธีการเรียนรู้แบบไหน ผลปรากฏว่า การเรียนรู้ด้วยการจำลองเหตุการณ์ เป็นวิธีที่พนักงานชอบมากที่สุด (64%) รองลงมา คือมีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำอย่างใกล้ชิด (51%) แต่ที่น่าสนใจคือ มีพนักงานอีก 50% มองว่าการเรียนผ่านวิดีโอออนไลน์เพื่อความสะดวก ขณะที่อีก 30% บอกว่า ต้องการเรียนโดยใช้วิธีการดั้งเดิมอย่างการเลกเชอร์ และชอบที่จะใช้ตำราที่เป็นรูปเป็นร่างและสามารถกลับมาเปิดอ่านได้ทุกเมื่อ

 

จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วมนุษย์เราไม่ได้มีแค่หน้าตาหรือความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน แต่ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ก็ไม่เหมือนกัน จึงทำให้ต้องการวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

 

ยิ่งในองค์กรที่มีพนักงานที่มีความหลากหลาย การจะเทรนพนักงานด้วยวิธีการแบบเดียวกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่องค์กรวางไว้เป็นเรื่องที่ยากมาก นี่จึงเป็นอีกโจทย์ที่ท้าทาย และทำให้ HR ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยการติดอาวุธและเพิ่มทักษะให้พนักงานต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อมองหารูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์พนักงานยุคนี้ได้มากที่สุด

 

ดังนั้น ถ้าถามว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่ว่าคืออะไร ทำให้นึกถึง Blended Learning ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนที่มีความยืดหยุ่น ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และมีการผสมผสานเครื่องมือที่หลากหลายในการสอน ซึ่งความยากในการทำให้ Blended Learning ประสบความสำเร็จ คือ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบคอร์สเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่แตกต่างกัน และออกแบบประสบการณ์การเรียนที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีการเลือกใช้วิธีการและสื่อประกอบการเรียนที่หลากหลาย เพื่อทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจอย่างถี่ถ้วน และเรียนจนจบคอร์สได้อย่างสมบูรณ์ พูดง่าย ๆ ว่า Blended Learning เป็นเหมือนการอุดช่องว่างของห้องเรียนแบบเดิม ๆ และแก้ Pain Point ของการเรียนออนไลน์ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 

ดังนั้นอย่ายึดติดกับความเชื่อเดิมที่ว่า เนื้อหา (content) ที่เรียนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะให้ผลลัพธ์การเรียนที่ได้อย่างใจ เรียกว่าฉันรู้เนื้อหาแล้วก็จบ เรียนแบบไหนก็ได้ แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ บริบทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เรียน (context) เช่น ปัญหาของผู้เรียน เป้าหมายการเรียน ตลอดจนการนำเนื้อหาที่เรียนไปใช้ได้ในชีวิตจริง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่จะบอกได้ว่าคุณได้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนอย่างเต็มที่

 

และหากคิดจะลงทุนไปกับการเรียนรู้กับสถาบันใด แนะนำให้เลือกสถาบันที่สามารถออกแบบการเรียนรู้ที่ไม่ได้คำนึงถึงแค่ “เนื้อหา” แต่ต้องคิดเผื่อไปถึง “บริบทของผู้เรียน” ด้วย การเรียนที่ยึดติดรูปแบบการเรียนแค่เพียงรูปแบบหรือวิธีการเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการยากที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า โดยเฉพาะ HR ถ้ามองข้ามในจุดนี้เผลอกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ต่อให้พนักงานมีอาวุธในมือ แต่ใช้งานไม่คล่องหรือไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไร ก็ไม่ต่างจากการส่งกองทัพที่มีแค่มือเปล่าลงไปในสนามรบอยู่ดี..

 

เขียนและเรียบเรียง : คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เรียนออนไลน์ #PeopleManagement