เปิด 4 โมเดลธุรกิจผู้สูงอายุมาแรง รองรับ Silver Economy พร้อมทำการตลาดแบบใหม่ ‘เอาใจคนแก่’

ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประชากรสัดส่วนหลักของประเทศ ซึ่งสังคมผู้สูงอายุไม่ได้เกิดเพียงแค่ประเทศไทยแต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ดังนั้น อีกไม่กี่ปีโลกยุคใหม่จะกลายเป็นยุคของคนแก่ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ และการทำการตลาด ซึ่งต่อจากนี้อาจจะไม่สามารถอิงกับเทรนด์ธุรกิจของเด็กรุ่นใหม่ แต่จะต้องหันมาให้ความสนใจกับลูกค้ามีอายุมากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้โลกของเราก็จะเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) อย่างเต็มรูปแบบ

โดยที่มีการคาดการณ์กันว่า Silver Economy เป็นตลาดใหม่ที่จะสร้างรายได้มหาศาลต่อเศรษฐกิจโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะกลุ่มลูกค้านั้น เป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อน ดูแลความงาม บริการการรักษาพยาบาล รวมถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ และราคาสูงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้สูงอายุจะมีความเฉพาะสูง จากสุขภาพร่ายกาย และทัศนคติที่แตกต่างจากวัยอื่นโดยสิ้นเชิง ดังนั้น นักการตลาด หรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องศึกษา เก็บข้อมูลจากพฤติกรรมของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะออกแบบสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ตรงใจมากที่สุด สาเหตุเป็นเพราะผู้สูงอายุนั้น ไม่ใช่วัยที่ชอบการทดลองอะไรใหม่ ๆ  และเป็นวัยที่มีความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) สูง ทำให้เปลี่ยนใจไปใช้ผลิตภัณฑ์อื่นยากกว่ากลุ่มลูกค้าวัยอื่น ๆ ที่พร้อมทดลองหาสิ่งใหม่ๆ

ทั้งนี้ ‘กรมกิจการผู้สูงอายุ’ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทำการวิจัยจากพฤติกรรมของผู้สูงอายุ ทั้งกายภาพ และทัศนคติ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย โดย ‘Business+’ สำรวจและคัดเลือก 5 ธุรกิจที่น่าสนใจที่สุดในปี 2566 มาดังนี้

1. ธุรกิจที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินหลังเกษียณ : ธุรกิจนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตจากความต้องการผู้สูงอายุ ที่อ้างอิงจากผลสำรวจในประเด็นที่ผู้สูงอายุกังวลมากที่สุดอันดับต้น ๆ คือ หลังเกษียณจะไม่มีเงินพอใช้ เพราะไม่ได้วางแผนการเงินก่อนในช่วงวัยทำงาน จึงเกิดเป็นโอกาสของธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน ที่จะเข้ามาช่วยแนะนำ และบริการความเสี่ยงทางการเงิน ซึ่งธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตมีทั้งการเปิดคอร์สออนไลน์เพื่อแนะนำการลงทุนใหม่ๆ  หรือการเพิ่มพูนเงินที่มีอยู่เพื่อใช้สำหรับการเกษียณ ซึ่งที่ปรึกษานี้ยังรวมไปถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ หรือประกันบำนาญ

แต่การลงทุนสำหรับวัยเกษียณนั้น อาจจะต้องเน้นไปที่ความมั่นคง และความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะผู้สูงอายุมีความต้องการให้งอกเงยและรักษาเงินต้นก้อนสุดท้ายเอาไว้ให้มากที่สุดเผื่อใช้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้น หากเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง หรือจะต้องเกาะติดกระดานซื้อขายตลอดเวลาอาจจะไม่เหมาะกับพฤติกรรมของผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้แนะนำการลงทุน หรือที่ปรึกษาทางการเงินอาจจะเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

2. ธุรกิจด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ : โดยอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุกังวลคือ เรื่องของสุขภาพ ซึ่งกลุ่มสุขภาพนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ และธุรกิจการออกกำลังกาย หรือฟิตเนสเทรนเนอร์ เฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ

– กลุ่มอาหารสำหรับผู้สูงอายุ : โดยอาหารเพื่อสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารคลีน หรืออาหารที่ใช้วัตถุดิบออแกนิก และอาหารเสริมยังเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่ผู้สูงอายุ เพียงแต่อาหารเหล่านี้อาจจะยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งการทำอาหารเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุต้องคำนึงถึง 3 หลักสำคัญ คือ 1. สารอาหารต้องครบถ้วน ซึ่งควรจะเน้นไปที่สารอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก และเสริมด้วยวิตามินต่าง ๆ ที่ย่อยง่าย 2. อาหารต้องย่อยง่าย เคี้ยวง่าย โดยต้องปรุงสุกแบบพิเศษเพื่อให้ง่ายต่อการย่อย และออกแบบให้ชิ้นเล็กพอดีคำ 3. รสชาติอาหารจะต้องไม่จัดจ้าน อาหารที่ปรุงต้องไม่เค็ม ไม่เผ็ด และไม่หวานมากเกินไป ซึ่งหากครบทั้ง 3 ข้อนี้ ก็จะสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

– ฟิตเนสเทรนเนอร์สำหรับผู้สูงอายุ : โดยฟิตเนสเทรนเนอร์ส่วนใหญ่ที่เราเห็นมักจะเป็นการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าวัยทำงานที่ต้องการดูแลรูปร่าง แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้วความต้องการนี้จะเน้นไปที่สุขภาพจากภายในเป็นหลัก และการออกกำลังกายจะต้องไม่หนักจนเกินไป และเหมาะกับสุขภาพร่างกาย ด้วยการคำนึงถึงสถานที่ อุปกรณ์ รวมทั้งคอร์สเทรนนิ่งต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ

– ธุรกิจท่องเที่ยว เชิงสุขภาพ : ซึ่งธุรกิจนี้กลายเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับการพักผ่อนได้ แต่การพาผู้สูงอายุไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัว ไม่เหนื่อยเกินไป หรือน้อยเกินไปเพื่อมาทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างถูกวิธีตามหลักทางการแพทย์

3. อสังหาสำหรับผู้สูงอายุ : โดยการออกแบบอสังหาริมทรัพย์แบบใหม่ ต่อจากนี้จะเริ่มเปลี่ยนจากการมีห้องสำหรับเด็ก กลายเป็นการมีห้องสำหรับคนสูงอายุ ซึ่งจะต้องมีการออกแบบเฉพาะตัวที่ครบวงจรทั้งบริการเดลิเวอรี่ด้านอาหาร มีความเหมาะสมทั้งเฟอร์นิเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นเตียงที่ปรับระดับได้ หรือราวจับบันได เก้าอี้สำหรับการนั่งอาบน้ำ  นอกจากนี้ จึงควรมีบริการเสริมต่าง ๆ เช่นธุรกิจสัตว์เลี้ยงดูแลผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ รวมไปถึงการเพิ่มบริการสำหรับการเดินทาง หรือ แม้กระทั่งการดูแลบ้าน  และบริการให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ

4. ธุรกิจสอนการใช้เทคโนโลยีให้ผู้สูงอายุ : ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้รับความนิยมและพูดถึงในทุกๆ กลุ่ม ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญสำหรับการรับข่าวสารใหม่ ๆ ดังนั้น การใช้งาน Social Media ต่าง ๆ อย่างเช่น Facebook , LINE หรือแม้แต่ Instragram ต่างได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ผู้สูงอายุนั้น อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าในการเรียนรู้ที่จะใช้ช่องทางเหล่านี้ แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้ยังต้องการการยอมรับต่อสังคม ดังนั้น จึงเกิดเป็นธุรกิจสอนการใช้งานเทคโนโลยีขึ้นมา ซึ่งมีทั้งสอนการใช้ในระดับเบสิก คือสอนการใช้งานอย่างเดียว รวมไปถึงสอนการใช้งานเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถนำไปต่อยอด หรือทำธุรกิจเล็กๆ อย่างการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คือ การปรับแต่งหน้าตา หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เช่น ใช้ตัวหนังสือที่ใหญ่ขึ้น ทำเมนูต่างๆ ให้เข้าใจง่าย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะสอดรับกับ Mega Trend ของโลก อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจกับผู้สูงอายุนั้น ต้องคำนึงถึงความต้องการเฉพาะตัว ทั้งทัศนคติ แนวความคิด รวมไปถึงเรื่องของกายภาพ แต่ถ้าหากสามารถเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้ก็จะสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพราะสังคมผู้สูงอายุจะยังอยู่กับเราไปอีกยาวนาน หากเราออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจ และตอบโจทย์ก็จะทำให้กลุ่มผู้สูงอายุกลับมาซื้อ หรือใช้บริการซ้ำได้

สามารถติดตามเนื้อหาด้านสังคมผู้สูงอายุทั่วโลกที่น่าสนใจได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

ที่มา : dop

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สังคมผู้สูงอายุ #AgedSociety #AgingSociety