‘กลุ่มเดินเรือ’ สุดช้ำ! งบ 9 เดือนอ่วมหนัก! หลังดัชนี BDI ลด กดกำไรวูบ ส่อกระทบงบปี

‘กลุ่มเดินเรือ’ ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มักเป็นที่จับตาของเหล่านักลงทุนและบุคคลทั่วไปอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับการขนส่ง แต่หากใครที่ได้ติดตามอยู่เรื่อย ๆ จะเห็นได้ว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ถือเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างยากลำบากของบรรดาผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ เนื่องจากดัชนีค่าระวางเรือ หรือ ดัชนี BDI (Baltic Dry Index) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน

วันนี้ Business+ จึงได้นำข้อมูลผลประกอบการงวด 9 เดือนของบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ดำเนินกิจการด้านการขนส่งทางเรือ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กลุ่มเดินเรือ’ จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL, บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL และ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เมื่อเร็ว ๆ นี้ มาให้ได้สำรวจผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวว่ามีผลต่อกลุ่มนี้มากน้อยเพียงใด โดยมีรายละเอียดดังนี้

โดยเริ่มที่ บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PSL มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/66 อยู่ที่ 98 ล้านบาท ลดลง 92.73% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 ที่มีกำไรสุทธิ 1,348 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 463 ล้านบาท ลดลง 89.24% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 4,301 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิในงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ปรับตัวลดลง มีสาเหตุหลักมาจาก

  1. รายได้จากการเดินเรือสุทธิ (รายได้จากการเดินเรือสุทธิจากรายจ่ายท่าเรือและน้ำมันเชื้อเพลิง) สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ลดลง 51% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากรายได้เฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือลดลงจาก 21,875 เหรียญสหรัฐ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็น 10,394 เหรียญสหรัฐในงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 กองเรือของบริษัทฯ มีจำนวน 38 ลำ ณ วันที่30 กันยายน 2566และ วันที่ 30 กันยายน 2565
  2. ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือของงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเรือและค่าใช้จ่ายค่าพัสดุภัณฑ์/ค่าอะไหล่ เมื่อเทียบค่าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเฉลี่ยต่อวันต่อลำเรือ (OPEX) (รวมค่าเสื่อม/ค่าใช้จ่ายตัดบัญชีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและสำรวจเรือ) เพิ่มขึ้นจาก 4,923 เหรียญสหรัฐ ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 เป็น 5,161 เหรียญสหรัฐในงวด 9 เดือนแรกของปี 2566
  3. ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (รวมค่าตอบแทนผู้บริหาร) สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ลดลงจำนวน 49.69 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายตอบแทนผันแปร
  4. ค่าใช้จ่ายทางการเงินสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 61.29 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย SOFR
  5. กำไรจากตราสารอนุพันธ์สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 77.53 ล้านบาท ถูกรับรู้รายการเนื่องจากการยกเลิกสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายฉบับ
  6. กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 44.12ล้านบาท โดยสาเหตุหลักเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าที่เทียบเท่าในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของหนี้สินสกุลเงินบาท


บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL มีกำไรสุทธิ 585 ล้านบาท ลดลง 91% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 ที่มีกำไรสุทธิ 6,428 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 256 มีกำไรสุทธิ 2,074 ล้านบาท ลดลง 91% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 22,009 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ลดลงมีปัจจัยสำคัญมาจากรายได้รวมที่ลดลง 53% โดยปัจจัยส่วนใหญ่มาจากค่าระวางที่ลดลง เนื่องจากอัตราค่าระวางที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ไตรมาส 4/65 จากสถานการณ์แออัดของท่าเรือที่ผ่อนคลายลง ทำให้ความต้องการของตลาดกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ปริมาณการขนส่งลดลง 7% อัตราค่าระวางลดลงถึง 51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ต้นทุนการเดินเรือและค่าใช้จ่ายรวมลดลงเพียง 14% และ 15% ตามลำดับ สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง


บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ
TTA มีกำไรสุทธิ 375 ล้านบาท ลดลง 74% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 ที่มีกำไรสุทธิ 1,449 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 256 มีกำไรสุทธิ 1,219 ล้านบาท ลดลง 65% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,463 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิงวด 9 เดือน ปี 2566 ที่ลดลงมีสาเหตุมาจากในช่วงกังกล่าว TTA มีรายได้ จำนวน 17,334 ล้านบาท ลดลง 22% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มการลงทุนอื่น มีสัดส่วนรายได้ 33%, 38%, 15%, 9% และ 5% ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ ขณะที่กำไรขั้นต้นเท่ากับ 4,120 ล้านบาท ลดลง 39% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 ตามอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่าที่ลดลง ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 สาเหตุหลักมาจากค่าที่ปรึกษาสำหรับการประมูลงานใหม่ของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง ส่งผลให้ EBITDA ลดลง 47% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2565 เป็น 2,679 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริงอละยังไม่เกิดขึ้นจริงสุทธิ จำนวน 347 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากผลกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากเงินให้กู้ยืมแก่กิจการที่เกี่ยวข้อง และการลงทุนระยะสั้นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้ง ยังมีผลกำไรสุทธิจากรายการพิเศาที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ จำนวน 338 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการปรับมูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลและกำไรจากการขายการลงทุน ภายใต้กลุ่มการลงทุนอื่น

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าจากผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2566 บริษัททั้ง 3 ได้รับผลกระทบจากกรณีค่าระวางเรือ BDI ที่ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก จึงคาดว่าในส่วนตัวเลขของผลประกอบการทั้งปี 2566 น่าจะไม่สดใสนัก

ที่มา : set

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #กลุ่มเดินเรือ #หุ้นกลุ่มเดินเรือ #ค่าระวางเรือ #ดัชนีBDI