SET

ตลท.แจงด่วน 4 ปมร้อน! หลังข่าว ‘เศรษฐา’ เล็งผ่าตัดโครงสร้างตลาดหุ้นสะพัด

ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา (2565-2566) มีประเด็นการทุจริตเกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากมาย นับตั้งแต่ประเด็น ของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่มีการฉ้อโกง/ปั่นหุ้น และ บริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่มีการตกแต่งบัญชี ซึ่งกรณีของทั้ง 2 บริษัทฯ นี้เกิดขึ้นติดต่อกันได้ทำให้เกิดภาพลบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมาก ทั้งในแง่ของธรรมาภิบาลของบริษัทหลักทรัพย์ฯ  และการทำงานที่ล่าช้า ไม่ทันเกมของตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.)

และภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็เกิดเป็นกระแสข่าวว่ารัฐบาลชุด นายเศรษฐา ทวีสิน เตรียมผ่าตัดโครงสร้างบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ใหม่ และรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามายกระดับการทำงานตั้งแต่การตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะเน้นไปที่การให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ต้องมีหน่วยงานเข้าไปกำกับดูแลใกล้ชิด และให้อำนาจปรับให้มีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น

โดยประเด็นสำคัญคือการพูดถึงเรื่องโครงสร้างกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ว่า ควรมีกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายกลุ่ม ทั้งตัวแทนโบรกเกอร์ ตัวแทนจากสำนักงานก.ล.ต และกลุ่มผู้ลงทุน รวมไปถึงสมาคมผู้คุ้มครองผู้บริโภค โดยเน้นว่าต้องมีคนนอก ไม่ใช่วนอยู่แค่กลุ่มคนในแวดวงตลาดทุนเหมือนที่ผ่านๆ มา ซึ่งกระแสข่าวนี้ได้ทำให้ทาง ตลท.ออกมาชี้แจงด่วน 4 ข้อ ในวันที่ 11 ก.ย.2566

ซึ่งมีใจความฉบับเต็มว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรณีมีบทความพาดพิงการทำงานของ ตลท. โดยระบุว่ารัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีเป้าหมายปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อยกระดับการกำกับดูแลประชาชนผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น ทั้งการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้นว่า

1.โครงสร้างองค์กรและการดำเนินงานของ ตลท.เทียบเคียงได้กับตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในต่างประเทศ และการดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ หน้าที่ในการกำกับตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญ ซึ่งได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์

2.โครงสร้างคณะกรรมการ ตลท.เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่าง ๆ ของตลาดทุน โดยจะปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะของ Public Independent Director (PID) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยที่ประชุมสมาชิกของตลท.

นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างของคณะกรรมการ ตลท.และคณะอนุกรรมการชุดย่อยต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนความหลากหลายของนโยบายต่าง ๆ ของ ตลท. ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลกิจการ รวมทั้งมีมาตรการในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งเป็นไปตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance)

3.การเดินทางไปศึกษาดูงานถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะแสวงหาความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้พัฒนาการใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมทางธุรกิจทั้งในเชิงแนวคิดวิธีการทำงานและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการเดินทางไปศึกษาดูงานในปี 66 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีหลังสถานการณ์โควิดได้คลี่คลาย ซึ่งในครั้งนี้เป็นการไปประชุมและหารือร่วมกับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนของไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยการเดินทางดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบของตลท.ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน (ไม่มีการเดินทางในระดับเฟิร์สคลาส) และมีการบริหารใช้จ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสม อีกทั้งยังได้มีการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบ เหมือนดังเช่นองค์กรอื่น ๆ ทั่วไปด้วย

4.ในส่วนที่มีการกล่าวหา ตลท.ว่า มีความหละหลวมบกพร่องอย่างร้ายแรงในกรณีหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนรายหนึ่งนั้น เนื่องจากหน้าที่ ตลท. คือ ติดตามดูแลบริษัทจดทะเบียนให้เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน ตลท.จึงไม่ได้อยู่ต้นทางที่จะได้รับทราบข้อมูลที่เปิดเผยโดยบริษัทจดทะเบียน ซึ่งในตลาดทุนยังมีผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกหลายรายที่เข้ามาร่วมกันทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบบัญชีอิสระ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย รวมไปจนถึงหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลต่าง ๆ นอกจากนี้ เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ตลท.ก็ได้เร่งประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอด

และในท้ายของจดหาย ทาง ตลท. ได้ยืนยันว่า การทำงานของคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักบรรษัทภิบาล มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยการทำงานของ ตลท.มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS