investment

เปิด 5 ข้อ หนุน ‘ไทย’ ติดอันดับ 2 ประเทศดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ

‘ประเทศไทย’ ถือเป็นประเทศที่พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมต่างแดนเป็นอย่างมาก ซึ่งการเปิดกว้างนี้ทำให้ไทยมักถูกเลือกเป็นประเทศที่เหมาะแก่การขยายศาสตร์ ศิลป์ และวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุน จึงส่งผลให้หลายประเทศมีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีคนต่างชาติเข้ามาสร้างถิ่นฐานมากขึ้น และจะมักอาศัยอยู่ในย่าน CBD หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ย่านศูนย์กลางธุรกิจ เพราะสะดวกในการเดินทาง และการตั้งธุรกิจ

โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันดีซีโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ไทยติดอันดับ 2 จากทั้งหมด 85 ประเทศในรายชื่อประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นทำธุรกิจประจำปี 2566 หรือ 2023 Best Countries for Starting a Business จากยูเอส นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต (U.S. News and World Report)

ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้นอาจต้องคำนึงถึงสถานที่ในการเริ่มต้นทำธุรกิจด้วย เนื่องจากภาษี ศักยภาพแรงงาน และปัจจัยอื่น ๆ มีผลต่อผลประกอบการ สำหรับการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นทำธุรกิจประจำปี 2566 นั้นเป็นการรวบรวมผลสำรวจประชาชนทั่วโลกกว่า 17,000 รายและการประเมินประเทศต่าง ๆ โดยผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 4,600 รายที่เป็นกลุ่มผู้ตัดสินใจด้านธุรกิจ เช่น ผู้นำระดับอาวุโสในองค์กรหรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่มีการว่าจ้างพนักงาน

การจัดอันดับดังกล่าวอิงตามคุณลักษณะเฉพาะ 5 ประการ ได้แก่ ราคาเหมาะสม ระบบข้าราชการ ต้นทุนการผลิตต่ำ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่น ๆ ของโลกได้ และมีการสนับสนุนให้เข้าถึงเงินทุนได้ง่าย

ราคาเหมาะสม : สิ่งอุปโภคและบริโภค หรือทุกอย่างที่รวมอยู่ในค่าครองชีพของไทย ในมุมมองของต่างชาติอาจจะอยู่ในระดับกลางหรือต่ำ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Numbeo ระบุว่า ในปี 2566 ดัชนีค่าครองชีพของไทยอยู่ที่ 40.7 ติดอันดับ 79 ของโลก ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยรายบุคคล ไม่รวมค่าเช่าที่พักอาศัย อยู่ที่ราว 1.98 หมื่นบาท/เดือน โดยหากเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ค่าครองชีพของไทยน้อยกว่าถึง 49.5%

ระบบราชการ : มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจทางการบริหารจากรัฐบาลกลางไปสู่รัฐบาลท้องถิ่น ให้ประชาชนหรือองค์กรท้องถิ่นมีบทบาทในการตัดสินใจแก้ปัญหาของพื้นที่ รวมถึงมีการให้เอกชนเป็นคู่สัญญากับภาครัฐในการผลิตและบริการ ซึ่งถือเป็นการสร้างงานให้ภาคเอกชนและประชาชน

ต้นทุนการผลิตต่ำ : ไทยเต็มไปด้วยทรัพยากร วัตถุดิบ ที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต อีกทั้งค่าแรงที่นับเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของการผลิตก็ไม่ได้สูงมากนัก แถมเป็นแรงงานที่มีคุณภาพด้วยมีความเชี่ยวชาญ และสามารถทำงานได้ครอบคลุม หรือเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การทำงานหลายตำแหน่งในคนเดียว (Multitasking) ซึ่งจากผลสำรวจในปี 2565 ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยรายชั่วโมงจะอยู่ที่ 42 บาท โดยหากเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยรายชั่วโมงจะอยู่ที่ 400 บาท

เทคโนโลยี : ไทยมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีตลอดเวลา ซึ่งมีการนำ IoT (Internet of Things), AI (Artificial Intelligence) ปัญญาประดิษฐ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย มาช่วยยกระดับการทำงานในชีวิตประจำวันให้เป็นเรื่องง่าย สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเปรียบได้ว่าไทยถือเป็นประเทศที่ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีเป็นเรื่องง่าย

แหล่งทุน : สำหรับแหล่งทุนมีทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ ซึ่งการระดมทุนก็ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเพียงแค่รากฐานของธุรกิจต้องมีความมั่นคง มีการวางแผนธุรกิจต่อเนื่องถึงอนาคต และที่สำคัญต้องสามารถตรวจสอบได้

โดยจากมุมมองของ ‘Business+’ จะเห็นได้ว่าการที่ต่างชาติเลือกไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นทำธุรกิจ นั่นเป็นเพราะว่า ประเทศเรามีความโดดเด่นในหลาย ๆ ด้าน อย่างในเรื่องของทรัพยากร ความพร้อมในเรื่องของแรงงาน ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นที่ประเทศเรามี แต่อีกมุมหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ ค่าแรงขั้นต่ำ ในส่วนนี้อาจเป็นข้อเสียเปรียบเนื่องจากเรายังมีค่าจ้างรายชั่วโมง รายวันที่ต่ำ ซึ่งอาจสวนทางกับศักยภาพที่มี ทั้งนี้ก็ต้องหวังเพียงว่ารัฐบาลใหม่จะมีการส่งเสริมและผลักดันในเรื่องค่าแรงให้มีความเหมาะสม

.

ที่มา : IQ, numbeo

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ประเทศดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ #ประเทศไทย #ธุรกิจ #ไทย #ต่างชาติ