ThaiStudentUniform

เปิดมูลค่าตลาดชุดนักเรียนไทย ที่ Drive โดย 4 แบรนด์สุดเก๋า

ตลาดชุดนักเรียนและเครื่องแบบนักเรียนเคยเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจเติบโต โดยที่ผ่านมาตลาดชุดนักเรียน และเครื่องแบบทำมูลค่าได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งหากแยกเป็นมูลค่าของตลาดชุดนักเรียนอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท/ปี ส่วนตลาดรองเท้านักเรียนอยู่ที่ 5,000 บาทล้านบาท/ปี

แต่หลังจากโลกเผชิญกับ COVID-19 ได้ทำให้กำลังซื้อของผู้ปกครองให้น้อยลง ประกอบกับหลายสถานศึกษายังเปลี่ยนรูปแบบมา Learn from Home ทำให้เกิดเป็นความคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต และการเรียนทางไกลผ่านช่องทางอื่นๆ มากมาย กลายเป็นวัฒนธรรมและแนวคิดในปัจจุบัน ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ที่บ้านไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสถาบันศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการตั้งคำถามถึงการบังคับใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดชุดนักเรียนในไทยชะลอตัวอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2563 และทำให้บางรายต้องประสบกับผลขาดทุนสุทธิจนต้องปิดกิจการลงไป

โดย ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ในปี 2564 ธุรกิจการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมวิชาชีพนักเรียนและนักศึกษามีนิติบุคคลที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และยังดำเนินกิจการอยู่มีทั้งหมด 243 ราย รวมทุนจดทะเบียนรวม 834 ล้านบาท เป็นบริษัทของคนไทยเอง 225 ราย และเป็นนิติบุคคลที่ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน 18 ราย

ทั้งนี้หากเรามองภาพย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2562 (ก่อนเผชิญ COVID-19) เราจะเห็นการจดทะเบียนของบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2560 มีผู้จดทะเบียนและนำส่งงบการเงินจำนวน 139 ราย ต่อมาในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 155 ราย และในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 186 ราย จนมาถึงปัจจุบันมีผู้ผลิตมากกว่า 200 ราย

อย่างไรก็ตามหากเราเจาะเข้าไปถึงความสำเร็จของผู้ประกอบการชุดนักเรียนในไทยแล้ว จะเห็นว่าถึงแม้ว่าจะมีผู้จดทะเบียนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่จริงๆ บริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่เหล่านี้กลับมีมากกว่า 1 ใน 3 ที่ประสบกับผลขาดทุนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2560 มีบริษัทขาดทุน 46 ราย และมีกำไร 91 ราย จากทั้งหมดทั้งหมด 139 ราย ส่วนปี 2561 มีบริษัทขาดทุน 54 ราย และมีกำไร 101 ราย จากจำนวนทั้งหมด 155 ราย และในปี 2562 มีทั้งหมด 186 ราย ขาดทุนไปมากถึง 67 ราย และมีกำไร 118 ราย

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ผลิตหลายรายไม่สามารถทำกำไรสุทธิได้เป็นเพราะว่า โดยปกติสินค้าประเภทชุดนักเรียนเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสุทธิได้น้อย เมื่อเทียบกับรายได้ (อัตราทำกำไรสุทธิต่ำ) เพราะเป็นสินค้าประเภทที่ไม่สามารถขึ้นราคาได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ราคาขายนั้น อาจไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ

นั่นเป็นเพราะว่าชุดนักเรียนเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับสถาบันการศึกษา และการขึ้นราคานั้นจะกระทบต่อค่าครองชีพผู้ปกครอง การจะขึ้นราคาจำเป็นต้องมีการชี้แจงต้นทุนให้กรมการค้าภายในทราบก่อน ซึ่งก็อาจทำให้การปรับราคาล่าช้า ดังนั้นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจึงต้องเน้นปริมาณในการขายมากกว่าเน้นการปรับราคา โดยเราพบข้อมูลว่า ในช่วง 6-10 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตชุดนักเรียนหลายแบรนด์ไม่ได้มีการปรับราคาชุดนักเรียนขึ้นถึงแม้จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้โครงสร้างตลาดชุดนักเรียนในประเทศไทยนั้น ยังมีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดหลัก ๆ เพียง 4 แบรนด์ด้วยกัน ซึ่งทั้ง 4 แบรนด์ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่รู้จัก และเคยใช้สินค้ามาตั้งแต่รุ่นของผู้ปกครอง เพราะชุดนักเรียนในยุคนั้นมีผู้ผลิตจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นช่างเย็บรับเย็บทีละตัวแล้วก็ขาย ไม่มีมาตรฐานแน่นอน ดังนั้น ตลาดชุดนักเรียนจึงทำให้ลูกค้าเกิดเป็นความภักดีต่อแบรนด์ ส่วนบริษัทเล็กที่ต้องการเข้ามาตีตลาดก็แพ้ทั้งในแง่ของยอดขายที่น้อยกว่า ทำให้กำไรสุทธิน้อย รวมไปถึงชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้ยากกว่า

โดยในประเทศไทยมีแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดและได้รับความนิยมมากเพียง 4 แบรนด์หลัก ๆ คือ ตราสมอ , น้อมจิตต์ , Topson และสมใจนึก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแบรนด์ที่มีความเก๋า และอยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

แบรนด์ที่เก่าแก่ที่สุดคือ “สมใจนึกเทเวศร์” เป็นแบรนด์ชุดนักเรียนเก่าแก่ของไทยที่สร้างจากธุรกิจครอบครัว ของตระกูลอมรวัฒนา เดิมทีใช้ชื่อว่า “สมใจนึกบางลำภู” ซึ่งก่อตั้งในปี พ.ศ. 2498 หรือราว 68 ปีที่แล้ว จากนั้นในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการแยกตัวออกมาแล้วใช้ชื่อว่า สมใจนึกเทเวศร์ โดยในปี 2564 สมใจนึกเทเวศร์ มีรายได้อยู่ที่ 3.71 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ขณะที่มีกำไรสุทธิ 349,943 บาท โดยรายได้ลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ที่มีรายได้ 5.91 ล้านบาท

มาต่อกันที่ “ตราสมอ” เป็นแบรนด์ที่เก่าแก่ไม่ต่างกัน โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 หรือราว 66 ปี และมีรายได้สูงที่สุดในปี 2564 ที่ 380.30 ล้านบาท ลดลง 26.80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 9.14 ล้านบาท 43.04% โดยตราสมอมีรายได้ลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ที่มีรายได้ 614.47 ล้านบาท

อีกหนึ่งผู้ผลิตแบรนด์ใหญ่ คือ “น้อมจิตต์” ก่อตั้งในปี พ.ศ.2505 ราว 61 ปีก่อน โดยน้อมจิตต์มีรายได้ในปี 2564 จำนวน 99.37 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 36.17 ล้านบาท ถึงแม้จะก่อตั้งมาหลังจากแบรนด์อื่นๆ แต่มีจุดขาย คือ ในยุคนั้นมีการบรรจุวิชายุวกาชาดเข้าไปในหลักสูตร ซึ่งน้อมจิตรเป็นแบรนด์เดียวที่มีผ้ายุวกาชาดขาย ทำให้นักเรียนที่ต้องใส่ชุดยุวกาชาดมาซื้อที่น้อมจิตต์ทั้งหมด โดยน้อมจิตต์มีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 มีรายได้จำนวน 114.54 ล้านบาท

อีกหนึ่งแบรนด์ชุดนักเรียน Topson ที่มีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมต้นถึงมัธยมปลาย โดยพบข้อมูลด้านรายได้และกำไรสุทธิล่าสุดคือในปี 2562 มีรายได้อยู่ที่ 6.38 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 38,979 บาท

ทั้งนี้หากเราวิเคราะห์จากปัจจัยในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ตลาดชุดนักเรียนอาจจะไม่สดใสนัก ทั้งจากผลประกอบการของแต่ละแบรนด์ที่ลดลง และยังเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อสูง ซึ่งเงินเฟ้อทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าเช่าตึก ค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าถุงพลาสติก ค่าแรง และผู้ผลิตชุดนักเรียนไม่สามารถปรับราคาขายได้ทันทีเพื่อสะท้อนต้นทุนได้

นอกจากปัญหาด้านต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว ยังต้องประสบปัญหากับยอดขายที่ลดลงทุกแบรนด์จากความต้องการชุดนักเรียนที่น้อยลง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นที่มีการถกเถียงกันในสังคมว่าชุดนักเรียนจำเป็นหรือไม่? ได้ทำให้มีหลายโรงเรียนทั่วประเทศชวนกันแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน และกดความต้องการของชุดนักเรียนให้น้อยลงไปอีก

นอกจากนี้ ‘Business+’ มองว่าเป็นปัญหาของธุรกิจชุดนักเรียน โดยเฉพาะแบรนด์เล็กๆ คือ การบริหารจัดการสต็อกสินค้า โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทผลิตชุดนักเรียนจะบริหารจัดการสินค้าคงเหลือได้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก จากโครงสร้างธุรกิจที่จะมียอดขายสูงเฉพาะในช่วงเปิดเทอมใหญ่เท่านั้น ซึ่งในช่วงไฮซีซันบริษัทเหล่านี้ก็ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอ และตอบโจทย์ลูกค้าได้ทันท่วงทีจากกำลังผลิตที่น้อยเกินไป กำลังแรงงานที่ไม่เพียงพอ แต่ในช่วงปิดเทอมก็มีสินค้าค้างสต๊อกจำนวนมาก เพราะความต้องการชุดนักเรียนมีน้อยเกินไป ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเกิดกับบริษัทที่ไม่ได้มีการเก็บ Data ของลูกค้า และไม่ได้มีการนำมาวิเคราะห์แจกแจงเป็นรายออเดอร์ ว่า ความต้องการชุดประเภทไหน ไซส์ไหนปริมาณเท่าไหร่ เพื่อนำมาพยาการณ์ยอดขาย และผลิตสินค้าออกมารับกับความต้องการของตลาด

สำหรับแบรนด์ใหญ่จะได้เปรียบในแง่ของกำลังการผลิตที่มากกว่าทำให้ได้เปรียบด้านการประหยัดต่อขนาด (Economy Of Scale) ดังนั้นจึงมีความสามารถในการสินค้าในปริมาณมากๆ และจะส่งผลดีต่อกำไรสุทธิของบริษัท ซึ่งในช่วงที่ต้นทุนสูงขึ้น บริษัทเหล่านี้ก็ยังมีกำไรสุทธิแต่อาจจะปรับตัวลดน้อยลงไปตามความต้องการของตลาดโลก แต่หากเป็นบริษัทขนาดเล็กแล้วก็มักจะต้องแบกรับกับต้นทุนที่สูงขึ้นจนขาดทุนสุทธิในท้ายที่สุด

ดังนั้น ผู้ผลิตชุดนักเรียนรายเล็กจึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้กับระบบบัญชีง่ายๆ มีการจดบันทึก ตั้งแต่ไซต์ของเสื้อผ้า ปริมาณและช่วงเวลาขาย เพื่อจะได้คาดการณ์สินค้าที่ควรสั่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีสินค้าค้างสต็อกน้อยลง นอกจากนี้ยังต้องวางแผนทางการตลาดโดยการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงแบรนด์มากขึ้น โดยไม่ลืมชื่อแบรนด์ถึงแม้จะเป็นช่วงที่ยังไม่มีความต้องการซื้อใหม่ก็ตาม

ที่มา : DBD
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.