ดัน ‘เมล่อน’ จ.สุพรรณบุรี สู่คลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร

สสว. จับมือ มทร.ธัญบุรี สร้างคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เจาะผลไม้เมล่อน จ.สุพรรณบุรี เป็นที่แรก ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562

ลักขณา ตั้งจิตนบ ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและสารสนเทศ และรักษาการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ SMEs เผยว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)เห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มผู้ประกอบการ SME ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ดำเนินการกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร

ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 เพื่อพัฒนาเพิ่มความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายหรือคลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร จัดอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเกษตร และผู้ให้บริการในกระบวนการผลิตพืชผลทางการเกษตร ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย รวมทั้งการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า

 

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพ ทั้งผู้ให้บริการเครือข่าย (Service Provider :SP) และผู้ประสานงานเครือข่าย (Cluster Development Agent :CDA) โดยการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ส่งเสริมแนวคิดในการพัฒนาคลัสเตอร์ และเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน สถาบันการเงิน และรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของคลัสเตอร์

ด้าน ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่ากิจกรรมพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรครั้งนี้ มุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพึ่งพากันในกลุ่ม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และทาง มทร.ธัญบุรี ได้เห็นศักยภาพของการพัฒนาเมล่อน ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาด จากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

 

อีกทั้งสามารถปลูกได้หลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเลือกพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีกลุ่มเกษตร-ผู้ประกอบการที่ปลูกเมล่อนอยู่เป็นจำนวนมาก และจัดอบรม การพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานของคลัสเตอร์” รวมถึงร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลแจงงาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะได้รับความรู้ด้านการพัฒนาเครือข่าย การพัฒนาโรงเรือนอัตโนมัติ การแปรรูป เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเกิดเป็นคลัสเตอร์

ขณะที่ ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสงประดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มทร.ธัญบุรี กล่าวเสริมว่า กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร มุ่งเน้นการพัฒนา 4 กลุ่มหลักด้วยกันคือ การมุ่งพัฒนากลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยี กลุ่มผู้ที่สามารถนำเทคโนโลยีที่มีไปปรับใช้ในภาคการเกษตร กลุ่มผู้แปรรูป รวมถึงกลุ่มขนส่ง และกล่าวอีกด้วยว่า การดำเนินงานของ มทร.ธัญบุรี ที่สร้างและพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ จึงทำให้มั่นใจได้ว่ากิจกรรมพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2562 นี้ จะเกิดเป็นคลัสเตอร์ที่มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนได้.