RMUTT ‘มุ่งสร้างนวัตกรรม เพื่อยกระดับประเทศ’

หลังจาก 1 ปีผ่านไปของการระบาดจาก COVID-19 ทุกอุตสาหกรรมในวันนี้ได้เรียนรู้วิธีการที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่อยากลำบากนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องรับมือกับสถานการณ์อันยุ่งยากนี้เป็นลำดับต้น ๆ ก็คือ ธุรกิจการศึกษา เพราะทันทีที่การระบาดในรอบที่ 3 อุบัติขึ้น มหาวิทยาลัยทุกแห่งจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนในห้องเรียนทันที และมุ่งหน้าสู่การเรียนออนไลน์ซึ่งกำลังจะเป็นแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่จากนี้ ซึ่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่สามารถรับมือและปรับตัวได้ดีกับสถานการณ์เช่นนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ในโลกยุคปัจจุบันการปรับตัวแทบเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพียงแต่การมาของ COVID-19 ได้ไปเร่งให้การปรับตัวนั้นต้องเร็วขึ้นในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น โดย ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้เปิดเผยถึงการรับมือกับ COVID-19 ในรอบที่ 3 ว่า

“การระบาดในรอบที่ 3 นี้เนื่องจากเรามีประสบการณ์จาก 2 ครั้งแรกมาแล้ว ทำให้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีมีแผนที่ได้รับการปรับปรุงมาจากการได้เรียนรู้ข้อบกพร่องจากวิกฤตในสองครั้งแรกมา ทำให้การดำเนินการเพื่อรับมือกับการระบาดในครั้งนี้ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก นักศึกษาและอาจารย์ทุกคนมีความพร้อมและมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ รวมไปถึงมีทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้การรับมือกับวิกฤตในรอบนี้ของมหาวิทยาลัยเป็นไปได้อย่างราบรื่น”

ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ผศ.ดร.สมหมาย เพิ่มเติมว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมทำให้การเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องยากและสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะบุคลากรมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ที่แข็งแรงอยู่แล้ว “การมาของ COVID-19 ในรอบที่ 3 ทำให้การเรียนการสอนแบบออนไลน์มีความจำเป็นมากขึ้น และจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องเพราะจากสถานการณ์โดยภาพรวมที่ยังไม่ดีขึ้น แต่ปัจจุบันทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างก็คุ้นเคยกับการเรียนการทำงานจากที่บ้านแล้ว ทำให้ไม่ใช่เรื่องยากอะไรอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างลักษณะนิสัยให้นักศึกษารู้จักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น รู้วิธีที่จะได้ความรู้ด้านต่าง ๆ มา เพื่อนำไปสู่การตกผลึกทางความคิดในแต่ละรายวิชาที่เขาเรียน ถือเป็นมุมดี ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากในขณะนี้”

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็ไม่ได้ดูแลแค่สุขภาพของนักศึกษาและบุคลากรผู้สอนเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยยังเป็นห่วงเป็นใยสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ซึ่งหลายครอบครัวเผชิญกับช่วงเวลาที่รายได้ลดลงจากการไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ทำให้ท่านอธิการบดีเล็งเห็นผลกระทบตรงเรื่องนี้ จึงมีนโยบายช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยลดค่าเทอมลงประมาณ 10%

“นักศึกษาก็เหมือนลูกหลานของเราอะไรที่สามารถช่วยกันได้ มหาวิทยาลัยยินดีที่จะช่วยอย่างเต็มที่ เพราะด้วยสภาวะเช่นนี้ทุกครอบครัวกำลังเจอเรื่องยากลำบาก การที่มหาวิทยาลัยก้าวเข้าไปแบ่งเบาภาระของครอบครัวพวกเขาได้ย่อมจะทำให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตได้สะดวกขึ้น”

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงพัฒนาบุคลากรของชาติเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงส่วนรวมอีกด้วย โดยล่าสุดได้ประสานกับโรงพยาบาลธัญบุรีเพื่อใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยเป็นที่ฉีดวัคซีน พร้อมตั้งเป้าในขั้นแรกคือ 10,000 คน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอดูจำนวนวัคซีนและการตัดสินใจของรัฐบาลอีกทีหนึ่ง

“เราเป็นสถาบันการศึกษาทำให้บทบาทของเราจึงต้องคำนึงในหลากหลายมิติ จะมองแค่ตัวเองไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงสังคมส่วนรวม ครอบครัวของนักศึกษา และประชาชนในละแวกใกล้เคียงด้วย”

ด้านภาพตลาดแรงงานในวันนี้ ผศ.ดร.สมหมาย มองว่า ทุกมหาวิทยาลัยจากนี้มีความจำเป็นต้องเพิ่มหลักสูตรและเสริมทักษะใหม่ ๆ ที่จะทำให้นักศึกษามีทักษะในระดับ High Skills ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานในขณะนี้ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมยุคใหม่ยังคงขาดแคลนแรงงานอยู่อีกมาก รวมไปถึงทักษะด้านภาษาด้วยเช่นกัน พร้อมกันนั้นก็ต้องผลักดันให้นักศึกษากล้าที่จะก้าวออกไปเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเองเพื่อขยายการจ้างงานในตลาดแรงงานให้สูงขึ้น ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

“ปัจจุบันเราจะเน้นให้ความสำคัญกับความรู้ในวิชาชีพให้ได้มาตรฐานและต้องสูงกว่ามาตรฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งานทำให้สูงขึ้น ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาว ส่วนทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เราจะเน้นไปที่เรื่องของภาษาเป็นสำคัญเช่น ภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผลต่อความก้าวหน้าของนักศึกษาในอาชีพการงาน และเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ IT ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพัฒนาทั้งนักศึกษาและอาจารย์ การเรียนออนไลน์ทำให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างให้ความสำคัญกับ IT มากขึ้น รวมไปถึงพยายามเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้าสถานการณ์มากขึ้น ซึ่งพอเป็นการเรียนแบบออนไลน์ กระบวนการเรียนการสอนและรูปแบบการสอนจะต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม เพื่อให้เนื้อหาสาระสามารถถูกถ่ายทอดออกไปถึงนักเรียนได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตรในแต่ละวิชา

ขณะที่ทักษะอย่าง Soft Skill ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความตรงต่อเวลา มนุษยสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ ความอ่อนน้อม การทำงานร่วมกับผู้อื่น ๆ รวมไปถึงทักษะการนำเสนอ และด้วยความที่เราเป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้พื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเช่นกัน รวมไปถึงการบูรณาการความรู้ให้หลากหลายด้านมากขึ้น”

การมาของ COVID-19 ได้พิสูจน์ว่า การบูรณาการความรู้ เป็นเรื่องสำคัญ การเรียนรู้เพียงเรื่องเดียวไม่พออีกแล้ว จำเป็นต้องมีความรู้ที่หลากหลายมาประกอบกัน เช่นหากคุณเรียนเรื่องการบิน ชัดเจนมาก ๆ ในวันนี้ว่าคุณจะต้องลำบากแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องใส่ความรู้รายวิชาเกี่ยวกับผู้ประกอบการเข้าไปด้วย เช่น ทักษะที่สำคัญในการเป็นเจ้าของสถานประกอบการ วิชาบัญชี การตลาด เป็นต้น เพื่อรองรับอนาคตในกรณีที่พวกเขาไม่อาจทำงานประจำได้อีกต่อไป

“คนของมหาวิทยาลัยนี้ซึ่งจบแล้วก็จะไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรม และหลายคนทำไปสักพักลาออก มาเป็นเจ้าของสถานประกอบการเองมีจำนวนมาก ซึ่งตัวผมตั้งปณิธานไว้ว่าตั้งแต่เขาเข้ามาเรียนกับเราเขาก็เป็นลูกศิษย์ของเราไปตลอดชีวิตเลย เรายินดีต้อนรับเขาตลอดเวลา เพราะทุกวันนี้การรู้ไปตลอดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก”

ส่วนปัญหาด้านปริมาณนักศึกษาที่คาดว่าในอนาคตจะลดลงเนื่องจากประชากรของประเทศเกิดน้อยลงนั้น ทางท่านอธิการบดีเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้วในเรื่องนี้ โดยจะขอมุ่งไปที่การพัฒนาคุณภาพของคนเป็นสำคัญเพราะโลกจากนี้เรียกร้องคุณภาพของคนมากกว่าปริมาณอย่างในอดีตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นนั้นเอง

“เรื่องนี้เราเตรียมการมานานและได้รับมอบหมายจากทางกระทรวงศึกษา และจากสภาการศึกษาให้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องของ เครดิตแบงค์ด้านการศึกษา หรือการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต หลายคนไม่อยากมาเรียนในระบบหรือไม่มีเวลามาเรียน ตรงนี้จะเข้ามาแก้ปัญหา โดยเราจะเปิดโอกาสให้เขาได้สะสมเครดิตไว้และมาต่อยอดอีกแค่หนึ่งปีก็สามารถรับปริญญาได้เลย ตรงนี้สำหรับบุคคลทั่วไป

ปัจจุบันเราพบว่าคนในภาคอุตสาหกรรมก็อยากจะเพิ่มพูนความรู้กันมากขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ความรู้ที่มีอยู่ไม่พออีกแล้ว รวมไปถึงหลายคนก็อยากเรียนให้จบปริญญาตรีก็เยอะมากเลย เราก็จะเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาเรียนสะสมความรู้เอาไว้ก่อนหรือเครดิตแบงค์ ปัจจุบันมีแล้วทั้งหมด 19 หลักสูตร เราเคยทำกับ ไทย ซัมมิท เราจัดอาจารย์ไปสอนให้ถึงที่ หรือบางทีงานที่เขาทำเชี่ยวชาญกว่าอาจารย์เราก็จะทำเครดิตไปให้เลย สะสมเป็นหน่วยกิตเอาไว้”

ผศ.ดร.สมหมาย ย้ำว่า ภาพการศึกษาในอนาคตคงไม่ใช่แบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกแล้ว ที่จะมีแต่วัยรุ่นนักเรียนถึงจะเรียนได้ ต่อไปการเรียนการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนทุกวัย ซึ่งจะต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุด เพราะในยุคปัจจุบันที่ความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้อะไรที่คนเคยรู้หรือเคยเรียนมาไม่สามารถใช้ได้อีกแบบในอดีต การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ในการเรียน เช่นด้านภาษา สมมติว่าเด็กคนไหนเก่งอยู่แล้ว และมีพื้นความรู้ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียนพื้นฐานอีก มันจะได้ไม่เสียเวลาชีวิตเขา ตรงนี้เราจะให้เกรด A เขาไปเลย ไม่ต้องมาเรียนซ้ำอีก เขาจะได้ทุ่มเวลาไปกับวิชาที่จำเป็นจริง ๆ รูปแบบการศึกษาเราจะบังคับเลยว่าจะต้องออกไปทำงานข้างนอกกับสถานประกอบการ เพื่อฝึกวิชาชีพ ลงมือทำงานจริง ใช้ความรู้ที่เรียนมาประสานเข้ากับการฝึกทำงานจริง รวมไปถึงการทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย

ผศ.ดร.สมหมาย มองการศึกษาในอนาคตว่า “ผมคิดว่าเราต้องหาความรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยมีหน้าที่สอนให้นักศึกษารู้จักที่จะหาความรู้ด้วยตัวเอง หรือ Learn How to Learn เรามีการพัฒนาการเรียนการสอนมาตลอด 10 ปีร่วมกับประเทศสิงคโปร์ และประเทศฟินแลนด์ อย่างเมื่อก่อนผมสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมวัสดุและโลหการ) สาขาวิศวกรรมพลาสติก เด็กฟังแล้วไม่อยากเรียน เพราะคิดว่าเรียนจบแล้วไปขายกะละมังใบละ 99 บาทที่เป็นพลาสติก เราก็ต้องทำให้เขาเข้าใจว่าความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ประเทศเรามีโรงงานพลาสติกมากกว่า 6,000 โรงงานในประเทศ เราเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่ผลิตออกมาปีละ 30 คนต่อปี เพราะฉะนั้นมีงานทำแน่นอน และนักศึกษาทุกคนทำงานไป 4 – 5 ปี เงินเดือนเกิน 50,000 บาทหมด ทุกคนประสบความสำเร็จกันหมดในหน้าที่การงาน เราปั้นดินให้เป็นดาวเยอะมาก”

3 ปีจากนี้เราคาดหวังให้นักศึกษาของเราเป็นนักคิดด้วย เพราะเราสร้างคนอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยของเราจะเป็น Innovative University และนั่นทำให้นักศึกษาของเราจะมีความเป็น ‘นวัตกร’ เพื่อไปผลักดันนวัตกรรมของประเทศ เพื่อสร้างรายได้ที่ดีให้กับประเทศไทย รวมไปถึงบุคลากรทุกคนที่จะต้องเป็นนวัตกรด้วย ปัจจุบันนวัตกรรมกลุ่มหลักที่เราเน้น 4 ด้านคือ

1.เกษตรและอาหาร

2.โลจิสติกส์

3.ไอที

4.ท่องเที่ยว และวิทยาศาสตร์สุขภาพ

เราจะปรับปรุงหลักสูตรให้มีความบูรณาการมากขึ้น ด้วยการนำสาขาอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วยเช่น คุณจะเรียนแต่ Food Science (วิทยาศาสตร์อาหาร) อย่างเดียวไม่ได้แล้ว มหาวิทยาลัยจะบังคับให้เรียนวิชาอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย อย่างเช่น คณะการจัดการอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งต้องใช้ 5 คณะร่วมมือกันคือ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงคณะบริหารธุรกิจ เป็นต้น หนึ่งหลักสูตรทำให้เขาเป็นผู้จัดการได้ ทำอย่างอื่นได้อีกหลากหลายอย่าง เราบังคับให้ทุกคณะต้องมีแบบนี้คือ 1  หลักสูตรใหม่ ๆ ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้แหละจะสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยมากขึ้นในอนาคต อันไหนไม่จำเป็นเราก็ต้องปิดไป รวมไปถึงอาจารย์จะต้องเพิ่มพูนความรู้ตัวเองเพิ่มขึ้นตลอดเวลาด้วย

ผศ.ดร.สมหมาย ปิดท้ายว่า โลกจากนี้เรียกร้องการปรับตัวเป็นอย่างมาก หากใครไม่ปรับตัวจะอยู่ลำบาก มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากขึ้นกว่าในอดีต และนำความรู้เหล่านั้นมาประสานเชื่อมโยงกัน และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมายกระดับประเทศ สังคม และชีวิตมนุษย์ต่อไป

ซึ่งโชคดีที่อาจารย์ส่วนใหญ่ของเรามีการปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว เนื่องจากเติบโตมาบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันเรามีจำนวนเด็กที่ให้ความสนใจเรียนกับเราค่อนข้างเยอะมาก โดย 5 ปีย้อนหลังจำนวนเด็กเราเพิ่มขึ้นเกิน 100% ทุกปี คุณภาพก็ดีขึ้นเราจะเน้นคุณภาพมากขึ้น เราไม่กังวลกับปริมาณเท่าไร อีกอย่างจะเกิดการเรียนซ้ำคนของรุ่นเก่า ๆ มากขึ้น จากสาเหตุที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว