RMUTT ลุยโจทย์ Innovation University ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ

ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ประจำปีการศึกษา 2562 ซึ่งมอบโจทย์สำคัญให้กับภาคการศึกษาในการผลิต พัฒนากําลังคนเพื่อรองรับ New S-Curve อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายดังกล่าวนำมาซึ่งความท้าทายของมหาวิทยาลัยไทยในการปรับเปลี่ยนทิศทาง นโยบายและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และตรงความต้องการของตลาดแรงงานและนักศึกษา 

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในผลิตบุคลากรให้มีศักยภาพและรับความต้องการของภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อไปสู่การเป็น Innovative University ผ่านการปรับรูปแบบการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพสู่ ‘นักนวัตกร’ ผู้สร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ

นายวิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ในการที่จะพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม และตอบโจทย์ภาคการผลิต ตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทยในการสร้างคนรองรับ New S-Curve ผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยได้กำหนดโจทย์และทิศทางในการจัดหลักสูตร รวมถึงรูปแบบการเรียนการสอนผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

 

1. สร้างคน โดยยกระดับการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพอันเป็นจุดแข็งและเป็นรากฐานเดิมที่แข็งแกร่งของมหาวิทยาลัยในสายวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรม อุตสาหกรรม เกษตร ศิลปะ คหกรรม ฯลฯ ไปสู่การสร้างนักนวัตกร ที่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาและสื่อสารเป็น ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ‘นวัตกร’ เหล่านี้จะกลายเป็นจะผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในยุคดิสรัปชั่นเทคโนโลยี

 

2. นวัตกรรมหรือ Innovation ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการวิจัยและสร้างเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป ด้วยการสนับสนุนให้อาจารย์ นักวิจัยสามารถผลิตและสร้างนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตามกรอบที่รัฐบาลวางไว้ โดยเฉพาะเรื่องของอากาศยาน ระบบราง อาหารปลอดภัย เทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมการบริการ

 

3. สร้างความร่วมมือ กับองค์กรภายนอกทั้งในและต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนบุคลากรและพัฒนาบุคลากรร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และที่สำคัญคือสร้างโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมต่างวัฒนธรรม ปัจจุบัน มทร.ธัญบุรี มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเยอรมันในเรื่องการสร้างคนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ‘Meister’ และอากาศยาน รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านการพัฒนาคนเพื่อป้อนตลาดระบบขนส่งทางราง และเกษตรสมัยใหม่กับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน ไปจนถึงความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมการบริการอาหารร่วมกับสถาบันอาหารไต้หวัน และมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น 

“รูปแบบของความร่วมมือกับต่างประเทศเราเน้นและให้ความสำคัญมากที่สุดในเรื่องของการส่งนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนในสถานศึกษาและสถานประกอบการราวๆ1พันคนในแต่ละปี ภายใต้การดีไซน์หลักสูตรใหม่ที่กำหนดให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนต้องเข้าไปทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 4 เดือน 8 เดือนและ 1 ปี โดยทางมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนผ่านกองทุนนักศึกษาเพื่อซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายตลอดโครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ในการพัฒนาสู่ความเป็นนานาชาติ”

 

4. การพัฒนาองค์กร ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยให้สอดรับยุทธศาสตร์ Innovative University ภายใต้    กลยุทธ์ Modern Management โดยการทรานส์ฟอร์มมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ส่วนด้วยกัน ทั้งการสร้างและพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัล การพัฒนา Infrastructure เช่น โครงสร้างห้องสมุด ห้องปฏิบัติการ ระบบการใช้พลังงานในมหาวิทยาลัย และสุดท้ายคือสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

 

“จากแนวโน้มโลกในอนาคตที่ถูกกระทบจากดิสรัปชั่นเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ต้องการที่จะยกระดับบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพขึ้นมาเป็นนวัตกร ตามนโยบายของผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัยที่ต้องการสร้างทุนบัณฑิตให้กับประเทศซึ่งก็คือการสร้างนวัตกร ในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เชื่อว่าหลายจุดที่เป็นความเข้มแข็งของ มทร.ธัญบุรี น่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศในเรื่องของนวัตกรรมและแรงงานที่จะเข้าไปช่วยในการพัฒนาประเทศได้”

 

นอกเหนือจากนโยบายจัดการศึกษาสําหรับผู้เรียนในระบบการศึกษาปกติแล้ว เพื่อการพัฒนาแรงงานดิจิทัลที่มากด้วยทักษะแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมใหม่ในระยะยาวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรียังต่อยอดรูปแบบการศึกษาเพื่อเพิ่มสมรรถนะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ตอบโจทย์กําลังคนเร่งด่วนที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ ผ่านการจัดหลักสูตรสําหรับกําลังคนหรือแรงงานที่อยู่ในวัยทํางานซึ่งต้องการ Up-Skill  Re-Skill และ New-Skill เพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของสถานประกอบการ ในลักษณะของ Non-Degree

ทั้งนี้ นายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ได้เผยว่า โลกปัจุบันเป็นยุคแห่งการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ส่งผลให้นิยามของคำว่าผู้เรียนเปลี่ยนไปโดยผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21 ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะนักศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอกเท่านั้น ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาคนเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ประเทศของ มทร.ธัญบุรี หลังจากนี้จึงจำเป็นจะต้องนำ Infrastructure เดิมที่มหาวิทยาลัยมีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม บวกกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ภายใต้เทคโนโลยียุคใหม่ มา Provide ให้กับบุคคลภายนอกที่ต้องการ Up-Skill  Re-Skill และ New-Skill ซึ่งเป็นเทรนด์ของการจัดการศึกษายุคใหม่ เข้ามาเรียนได้รวมทั้งอาจจะเปิดโอกาสให้คนทั้งโลกเข้ามาเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์

 

ในการจัดหลักสูตรระยะสั้นหรือประกาศนียบัตร (Non-Degree ) ของ มทร.ธัญบุรี คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ  โอกาส โดยดูว่ายุทธศาสตร์ของประเทศมุ่งไปในทิศทางใด และความต้องการกำลังคนของประเทศไปทางไหน ปัจจัยที่สอง เรามองในเรื่องของวิกฤตและภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากดิสรัปชั่นเทคโนโลยี เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการ Up-Skill Re-Skill และ New-Skillเพราะคนที่อยู่ในวิชาชีพเดิมถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยี

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มทักษะเพื่อต่อยอดไปสู่วิชาชีพอื่นหรือต่อยอดในอาชีพเดิมภายใต้เงื่อนไขเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป  และท้ายที่สุดคือมองหา จุดแข็ง ของมหาวิทยาลัยที่จะไปตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว ซึ่งเรามีความพร้อมของห้องปฏิบัติการและนวัตกร รวมทั้ง Infrastructure เดิมซึ่ง Provide ไว้ให้กับนักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัย เชื่อว่าความพร้อมทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์ในเชิงบูรณาการอย่างรอบด้านได้”

 

ในปัจุบัน มทร.ธัญบุรี มีการจัดการหลักสูตร Non-Degree 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานไทยเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารปลอดภัยสู่ภาคอุตสาหกรรม, นวัตกรรมการผลิตโคเนื้อคุณภาพพรีเมี่ยมเพื่อตลาดระดับบน, การพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อย, โครงการฝึกอบรมระยะสั้น Train the Trainer  หลักสูตร Thai Meister Automotive และโครงการฝึกอบรมระยะสั้น Train the Trainer หลักสูตร Thai Meister Mechatronics และในปี 2562 นี้มทร.ธัญบุรี ยังมีแผนที่จะเปิดหลักสูตร Non-Degree เพิ่มเติมอีกกว่า 16 หลักสูตร

 

รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ยังกล่าวถึงประเด็นการสนับสนุนทางด้านการวิจัยและมุมมองของการต่อยอดงานวิจัย อันเป็นยุทธศาสตร์สำหรับในการผลักดัน มทร.ธัญบุรี ไปสู่เป้าหมาย Innovative University ว่ายุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในการสร้าง Innovation จะขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดของ Triple Helic ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัย (University) รัฐบาล (Government) และ ภาคอุตสาหกรรม (Industry) หรือ UGI โดยงานวิจัยที่นวัตกรคิดค้นได้จะต้องนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ได้จริง  โดยรัฐบาลจะทำหน้าที่ตัวกลางในการ จับคู่มหาวิทยาลัย นักวิจัย และผู้ใช้งานวิจัย กล่าวคือ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่จะได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล จะต้องเป็นงานวิจัยที่มีผู้ผลิตและมีคนนำไปใช้จริง เช่น มหาวิทยาลัยทำการวิจัย เพื่อให้ชุมชนนำไปใช้ โดยมีภาคธุรกิจเป็นผู้ผลิต

 

จากการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายข้างต้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการส่งเสริมการประกันคุณภาพการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น และยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นนานาชาติ ตามนโยบายมหาวิทยาลัย ล่าสุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้ทำการยื่นขอการรับรอง มาตรฐาน ASIC จากองค์กรรับรองทางการศึกษาตามมาตรฐานสากลของสหราชอาณาจักร การรับรองและประกันคุณภาพสถานศึกษาให้แก่โรงเรียนนานาชาติ วิทยาลัย และ มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมทร.ธัญบุรี ยังกล่าวถึงความสำคัญของการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน ASIC ครั้งนี้ว่า เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย Innovative University และผลักดันให้ มทร.ธัญบุรี พัฒนาสู่ความเป็นนานาชาติ การได้รับรองมาตราฐานการศึกษาจากหน่วยงานระดับสากลจะช่วยตอกย้ำศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการก้าวสู่บริบทใหม่และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศได้

 

สำหรับ ASIC เป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากสากลในการออกใบประกันคุณภาพให้สถาบันการศึกษาโดยช่วยพัฒนาสถาบันการศึกษาให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพราะผ่านระบบการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจึงทำให้เกิดความมั่นใจในมาตรฐานตรงตามที่รัฐบาลกำหนดและสอดคล้องกับความเป็นสากล

 

โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทาง ASIC ได้ส่งผู้ตรวจคุณภาพมาตรวจที่มหาวิทยาลัย โดยผลการประเมิน มหาวิทยาลัยได้รับมาตรฐาน ระดับ มหาวิทยาลัย ระดับ Premier ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการประเมินคุณภาพและยังได้รับรางวัลพิเศษ 3 รางวัล ได้แก่

1. Outstanding Achievement Award in Student Satisfaction and Support มาตรฐานด้านการสนับสนุนนักศึกษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีการสนับสนุนและส่งเสริมนักศึกษาทางด้านต่างๆ ทุนการศึกษา สนับสนุนนักศึกษาพิการ สวัสดิการรองรับส่งเสริมนักศึกษา ส่งผลให้นักศึกษามีคุณภาพที่ดี

2. Achievement of Excellence Award in Most Innovative, Student Centred Library in Asia โดยได้รับจากการจัดการห้องสมุด ให้เหมาะสมกับนักศึกษารุ่นใหม่ และพัฒนาสถานที่และกิจกรรมเพื่อรองรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน และ

3. Eco-Universities Green Flag Award for Excellence in Environmental Awareness and Learning Environment ทางด้านสิ่งแวดล้อมของทางมหาวิทยาลัย เช่นการใช้พลังงานทดแทนในมหาวิทยาลัย การบริการรถไฟฟ้ารถไฟฟ้าวิ่งรอบมหาวิทยาลัย และ ห้องควบคุมการเปิดปิดแอร์ในห้องเรียน

นอกจากนี้ทาง ASIC ประทับใจกระบวนการทำงานของนักศึกษาชมรมค่ายอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ จึงให้ทางมหาวิทยาลัยเขียนบทความ เพื่อนำไปเผยแพร่ไปทั่วโลกในเว็บไซต์ของ ASIC เพื่อเป็นตัวอย่างของมหาวิทยาลัยอื่นในการพัฒนา Soft-Skills ของนักศึกษาผ่านชมรม

 

จากผลประเมินดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการเตรียมการเพื่อประเมินผลทางการศึกษา QS Star University Ratings โดยเป็นรูปแบบการประเมินผลทางการศึกษาโดยใช้รูปแบบของดาวระดับต่างๆ (QS Stars) การจัดอันดับด้วยดาว มีการประเมินจาก 6 เกณฑ์ ได้แก่ 

1. การเรียนการสอน 
2. ภาวะการมีงานทำ 
3. การวิจัย 
4. ความเป็นนานาชาติ 
5. สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ และ 
6. ด้านวัฒนธรรมและสังคม

 

ซึ่งแต่ละเกณฑ์การประเมินมีรูปแบบการให้คะแนนที่มีตัวชี้วัดที่มีความเฉพาะเป็นของตัวเอง โดยมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นต่อการพัฒนาและก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลต่อไป นอกเหนือจากนี้ มทร.ธัญบุรี ยังมีแผนที่จะเข้ารับประเมินในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เพื่อตอกย้ำศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการสร้างคนและพัฒนาทักษะแรงงานยุคใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในเวทีระดับโลก