RMF

ทำไมกองทุน RMF ถึงช่วยให้เราไม่ “จนตอนแก่“

คนไทยส่วนใหญ่วางแผนเกษียณอายุช้ากว่าประเทศอื่น เพราะหวังพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐฯ ทำให้เรามีเงินเก็บไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ โดยพบข้อมูลว่าคนส่วนใหญ่ในบ้านเรามีเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท ด้วยสัดส่วนมากถึง 88.3% จากจำนวนบัญชีทั้งหมดทำให้เห็นว่านอกจากเราจะไม่ได้วางแผนการเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้คนไทยยังมีวินัยการเงินน้อย ดังนั้น กองทุนรวม RMF หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จึงถูกนำมาเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณ และจะช่วยลดผลกระทบจากสังคมผู้อายุโส (Aged Society) ในประเทศไทยได้ด้วย

‘กองทุนรวม RMF’ เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการวางแผนการเกษียณอายุ เพราะเป็นการออมเงินในระยะยาว จากการกำหนดเงื่อนไขที่บังคับให้เราต้องมีวินัยในการบริหารเงิน อย่างเช่น บังคับให้ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องในทุกปี (หยุดลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น) และยังต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และถือจนกว่าอายุจะครบ 55 ปี จึงทำให้กองทุนประเภทนี้เหมาะกับคนที่ไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมารองรับ หรืออาจจะมีสวัสดิการแต่ต้องการออมเพิ่ม

โดยที่กองทุนรวม RMF นั้น แตกต่างกับกองทุนรวม LTF หรือปัจจุบันคือ SSF ตรงที่ SSF จะเป็นการลงทุนแบบไม่ต่อเนื่อง หากเราลงทุนกองทุน SSF ในปีไหน ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น ๆ ทันที และหากปีอื่น ๆ ไม่อยากจะลงทุนแล้ว ก็สามารถขายคืนได้ไม่ผิดเงื่อนไข

ดังนั้นกองทุนรวม RMF จึงมีระยะเวลาการออมที่ยาวนานกว่า และเหมาะกับผู้ที่ต้องการวางแผนเกษียณ เพราะเงื่อนไขของการลงทุนใน RMF จะเป็นการสร้างวินัยในการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ซึ่งกองทุนรวม RMF จะบังคับให้เราซื้อหน่วยลงทุนในแต่ละปีด้วยเงินไม่ต่ำกว่า 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท (แล้วแต่ว่าเงินจำนวนไหนจะต่ำกว่า) แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ในแต่ละปี และเมื่อรวมกับเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่ เกิน 500,000 บาท

โดยต้องมีการลงทุนต่อเนื่องกันทุกปี แต่สามารถระงับการลงทุนได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ จะต้องมีปีในการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องถือไว้จนกระทั่งอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ ไม่ต้องเสียภาษีกำไรจากการลงทุน (ในกรณีที่เราได้กำไร) และไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับมาย้อนหลัง 5 ปี แต่ถ้าหากคุณไม่ทำตามเงื่อนไขก็จะไม่ได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี หรือจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั่นเอง


ซึ่งการผิดเงื่อนไขนี้ก็แบ่งเป็นหลายระดับ เพราะบางคนก็ทำได้บางเงื่อนไขแต่ผิดบางเงื่อนไข
  • หากเราลงทุนไม่ถึง 5 ปี เราจะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนไปคำนวณภาษี และต้องคืนภาษีที่เคยได้รับการลดหย่อนย้อนหลังทุกปี
  • หากลงทุนครบ 5 ปี แต่ขายก่อนอายุ 55 ปี เราต้องต้องคืนภาษีที่ได้รับการลดหย่อน 5 ปีย้อนหลัง แต่กรณีนี้เราไม่ต้องนำกำไรจากการขายคืนไปรวมในการคำนวณภาษี
  • หากซื้อเกินเกณฑ์ที่กำหนด เราต้องนำกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนไปคำนวณภาษี โดยที่ข้อจำกัดใหม่ของการลงทุนRMF เมื่อปี 2022 สูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ในปีนั้น ๆ และไม่เกิน 500,000 บาท

จะเห็นว่าเงื่อนไขของกองทุนรวม RMF ค่อนข้างที่จะเข้มงวด นั่นเป็นเพราะว่าหากเราลงทุนไม่ครบตามเงื่อนไข ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนก็จะขาดเงินที่จะนำไปลงทุนต่อยอด และขาดรายได้ค่าธรรมเนียมจากเรา

ถึงแม้การลงทุนแบบกองทุนรวมจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนคอยดูแลผลตอบแทนอย่างใกล้ชิด แต่เราเองก็จำเป็นต้องติดตามสภาวะตลาด และเลือกกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์การลงทุนเหมาะกับสถานะทางการเงินของเรา เพราะกองทุนรวมมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์และนโยบายของกองทุน โดยแต่ละประเภทก็มักมีความเสี่ยงต่างกันไปด้วยเช่นกันเราจึงต้องศึกษาประเภทของกองทุนรวม RMF ประเภทต่าง ๆ ให้ดี โดยประเภทของ RMF มีดังนี้

  • กองทุน RMF ประเภทตราสารหนี้ : เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย
  • กองทุน RMF ประเภทตราสารทุน : คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ รวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่น ๆ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง
  • กองทุน RMF ประเภทผสม : ที่ลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ทุกประเภท ทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือตราสารอื่นๆ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
  • กองทุน RMF ประเภทลงทุนในต่างประเทศ และอื่นๆ : มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ และหลักทรัพย์ในต่างประเทศทั่วโลก หมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง
ที่สำคัญคือ อย่าลืมว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และหลักในการเลือกลงทุน RMF คือ เราต้องพิจารณาว่าเรามีวินัยพอที่จะเข้าลงทุนประเภทนี้หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเลือกกองทุนที่มีความเหมาะสมกับลักษณะการใช้เงินของเราด้วย เพราะกองทุนรวมก็มีนโยบายลงทุนแตกต่างกันไป เช่น การจ่ายปันผล หรือไม่จ่ายปันผล หรือระยะเวลาในการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain/Loss) ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลต่อระดับความเสี่ยง โดยที่กองทุนรวมมีทั้งหมด 8 ระดับ ซึ่งระดับที่ 8 ขึ้นไปจะเป็นกองทุนสำหรับนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษเท่านั้น เพราะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อน

เหตุผลสำคัญที่คุณควรลงทุนใน RMF ตั้งแต่วันนี้ไม่ต้องรอจนกว่าจะใกล้ถึงเวลาเกษียณ เพราะว่ากองทุนรวม RMF จะช่วยให้เรามีเงินไว้ใช้หลังเกษียณซึ่งเป็นช่วงที่เราจะขาดรายได้จากการทำงาน ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล แต่ยังต้องมีรายจ่ายต่างๆ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นและการลงทุนในกองทุนรวม RMF ยิ่งเร็ว ก็จะยิ่งทำให้เรามีเงินเก็บไว้ใช้ในตอนเกษียณมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้การที่เราซื้อกองทุน RMF ก็มีข้อดีในแง่ของการประหยัดภาษีเมื่อลงทุนต่อเนื่องไปทุกปี

นอกจากนี้ การลงทุนใน RMF ยังสามารถที่จะแบ่งการลงทุนเป็นรายเดือนได้ ซึ่งจะทำให้ราคาซื้อขายเฉลี่ยไม่สูงจนเกินไป เพราะหากรอซื้อกองทุนปลายปีทีเดียวอาจจะได้ราคาที่สูงเกินไป เพราะช่วงปลายปีเป็นช่วงที่มีความต้องการในการซื้อจากผู้ที่ต้องหักค่าลดหย่อนในการเสียภาษีมากขึ้น

หากใครต้องการอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุที่น่าสนใจในแง่มุมอื่น ๆ สามารถติดตามได้ที่ Section พิเศษ The Coming of a Hyper-aged Society’ เฒ่าทันความสูงวัย ก่อนไทยเข้า Hyper-Aged ที่ ‘Business+’ ได้จัดทำขึ้นมาในช่วงครบรอบ 34 ปี และรวบรวมเนื้อเอาไว้ภายในเว็บไซต์ : https://www.thebusinessplus.com/hyper_aged/?version=Bplus1

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

#RMF #กองทุนรวมRMF #ลงทุน #การลงทุน #การลงทุนกองทุนรวม #กองทุนรวม #กองทุน #LTF