Sustainable Growth ของ ปตท.

วันนี้ ปตท. พร้อมนำและต่อยอดนวัตกรรมที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชีวิตวิถีใหม่อย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากทุกพันธมิตรและแพลตฟอร์ม

จุดที่น่าชื่นชมสำหรับองค์กรขนาดใหญ่อย่าง ปตท. คือการปรับตัวในธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ ท่ามกลาง Landscape ธุรกิจพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ทุกองค์กรกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้ก้าวผ่านความท้าทายนั้นอย่างน่าทึ่ง

มาตามติดเส้นทาง Sustainable Growth ของ ปตท. จากคำบอกเล่าของคุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

นัยสำคัญของการบริหารธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องยอมรับว่า ไม่เคยหยุดนิ่งในการเป็นผู้นำ มุ่งมั่นคิดค้นนวัตกรรม ตลอดจนวางแนวทางบริหาร เชื่อมโยงทุกบริการให้เกิด Ecosystem ตอบรับทั้งความต้องการของลูกค้า และสอดรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยคุณอรรถพล กล่าวยอมรับกับ Business+ ว่า ผลการดำเนินงานของ ปตท. ในปี 2565 บรรลุตามเป้าหมายในส่วนของรายได้ 3.37 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 91,175 ล้านบาท และนำส่งรายได้เข้ารัฐ 86,395 ล้านบาท

ขณะที่มิติของประสิทธิภาพงานส่วนอื่น ๆ ที่มีผลการดำเนินงานสำเร็จไปแล้ว และอีกหลายส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเด่น ๆ อาทิ ธุรกิจ Renewable Energy ดำเนินการผ่านบริษัท GPSC บริษัท Flagship ด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. และบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. และ GPSC, ธุรกิจ EV Value Chain เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นําในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem)

 

นอกจากนี้ ยังได้ส่งมอบโอกาสผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ กลุ่มอนาคตใหม่ อาทิ ธุรกิจ Hydrogen โดยร่วมกับ OR, Toyota และบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส (BIG) เปิดสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในไทย เพื่อศึกษาต้นแบบการใช้พลังงานไฮโดรเจนและศึกษาความเป็นไปได้, ธุรกิจ Life Science รองรับเทรนด์ด้านการดูแลสุขภาพและรองรับสังคมสูงวัยของประเทศ, ธุรกิจยา, ธุรกิจโภชนาการหรืออาหารเพื่อสุขภาพ, ธุรกิจอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์, ธุรกิจ Lifestyle ผ่านบริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR ลงทุนและพัฒนาธุรกิจรองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ธุรกิจ Logistics & Infrastructure, ธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization โดยใช้ AI, Robotics ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานรองรับการลงทุนด้าน AI & Robotics ในอนาคต

 

ถึงตรงนี้จะเห็นว่า ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณอรรถพล นำพา ปตท. ก้าวข้ามธุรกิจเดิมและเติมธุรกิจใหม่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งท่านบอกกับเราว่า “หลักการบริหารปตท. ไปสู่ความเป็นเลิศในมิติต่าง ๆ ผมวางแนวคิด 4T คือ พร้อมปรับตัว ทำงานเป็นทีม คิดบวก และสร้างความเชื่อมั่นบาลานซ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเข็มทิศสำหรับองค์กร

 

T ตัวแรก พร้อมเรียนรู้และปรับตัว (Transformative mindset) คือ ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ เราต้องพร้อมที่จะรับมือ จะต้องหาความรู้ เปิดรับความรู้ใหม่ หาวิธีทางใหม่ ๆ พร้อมที่จะปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลง

T ตัวที่สอง คือ ทำงานเป็นทีม (Teamwork) ต้องร่วมกันทำงานกับทีมงาน เข้าใจความแตกต่างและทำงานร่วมกับ generation เก่าและใหม่ แลกเปลี่ยนไอเดีย ออกแบบ New Business Model และร่วมกันนำองค์กรสู่เป้าหมายที่วางไว้

T ตัวที่สาม คือ คิดบวก (Think Positive) มองโลกในแง่บวก ไม่เครียด ไม่จมอยู่กับปัญหา หาทางออก และมองทุกวิกฤตเป็นโอกาส มองเห็นโอกาสในภาวะวิกฤต

และ T ตัวที่สี่ คือ สร้างความเชื่อมั่น และบาลานซ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Trust) เนื่องจาก ปตท. เป็นองค์กรใหญ่ เรามีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม จึงต้องเน้น operation excellence และการบริหาร สร้างสมดุลให้ดีครบมิติ

และท้ายที่สุด เราถามท่านว่า อนาคตหลังจากนี้ กลยุทธ์ที่จะทำให้องค์กรเดินสู่ความยั่งยืน ปตท. วาง Roadmap ไว้อย่างไร และคำตอบที่ได้จากท่าน ถือว่า น่าสนใจอย่างมาก

“ปตท. บูรณาการเรื่องความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ เราเน้นเรื่อง operation excellence สร้างความมั่นคงทางพลังงาน พร้อมกับสร้างการเติบโต และต่อยอดธุรกิจใหม่ ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล ขยายการลงทุนตามทิศทางวิสัยทัศน์ใหม่ โดยเรากำหนดเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2040 และเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี 2050 โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 3P ดังนี้

  1. เร่งปรับกระบวนการผลิต หรือ Pursuit of Lower Emissions ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยงกับเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15 % จากปี 2020 ภายในปี 2030

 

  1. เร่งเปลี่ยนแผนการลงทุน หรือ Portfolio Transformation สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) มีการปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่และทิศทางในอนาคต โดยการลงทุนในช่วงปี 2021-2030 จะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจ Future Energy and Beyond ในสัดส่วนมากกว่า 30% ของการลงทุนทั้งหมด และตั้งเป้าหมายพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทน ด้วยกำลังการผลิต 12 GW ภายในปี 2030

และ 3. เร่งปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ หรือ Partnership with Nature and Society เพิ่มการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติผ่านการปลูกป่าใหม่ 1 ล้านไร่ (ร่วมกันในกลุ่ม เป็น 2 ล้านไร่) และบำรุงรักษาป่าเก่า 1.1 ล้านไร่ พร้อมวางแผนในการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

บนเส้นทาง Sustainable Growth ของ ปตท. ที่คุณอรรถพลถ่ายทอดให้ฟังนี้ ได้สะท้อนถึงวิธีการทำงานที่ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน และรางวัล THAILAND TOP CEO OF THE YEAR 2023 ประเภทอุตสาหกรรมพลังงาน ก็ควรคู่กับท่านอย่างไร้ข้อกังขา

เขียนและเรียบเรียง : วิทยา กิจชาญไพบูลย์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS