ปตท.พลิกโฉมบริษัทพลังงาน ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่ ‘พลังงานอนาคต’

อุตสาหกรรมพลังงานต้องเผชิญกับบททดสอบที่ท้าทายมาโดยตลอด ทั้งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงวิกฤตที่เผชิญทั่วโลกอย่างโควิด-19 และที่สำคัญสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน แต่สำหรับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กลับสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและข้ามผ่านความท้าทายดังกล่าว โดยเรียนรู้ที่จะสร้างความเข้มแข็งด้วยการปรับกลยุทธ์ ผันวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส และพัฒนาให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่ ซึ่งการพลิกโฉมครั้งนี้จึงนำมาสู่รางวัล THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2022 ประเภท “อุตสาหกรรมพลังงาน”

คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จว่า ปตท. เตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” หรือ “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มภาคพลังงาน เทคโนโลยี และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยวิสัยทัศน์นี้เป็นการมุ่งสร้างพลังขับเคลื่อนทุกชีวิตให้ความสำคัญกับการเติบโตของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ได้ขยายสู่ธุรกิจพลังงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ขณะที่ได้ขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนและร่วมทุนกับพันธมิตรในธุรกิจยา โภชนาการ เทคโนโลยีทางการแพทย์ รวมไปถึงการจัดตั้งบริษัทด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และด้านคลาวด์

นอกจากปรับกลยุทธ์ไปยังพลังงานอนาคต และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องแล้ว ปตท. ยังคงใช้แนวคิดและกลยุทธ์ PTT by PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation by Partnership and Platform, Technology for All และ Transparency and Sustainability ซึ่งจะเน้นการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง เติบโตร่วมกับพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างความเข้มแข็งจากภายใน Inside-out เพิ่มเติมด้วย Outside-in โดยนำความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ต่างๆ มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับ Partnership and Platform ปตท. จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพธุรกิจสู่มือผู้บริโภค ส่วน Technology for All เป็นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัลมาปรับใช้ในทุกมิติของการทำงาน เพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน พัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นเลิศ รวมทั้งชูนวัตกรรมเพื่อสังคม และที่สำคัญ Transparency and Sustainability ที่ ปตท. ยึดหลักความโปร่งใสมาโดยตลอด พร้อมกับพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ยก 3 กลยุทธ์ก้าวข้ามวิกฤตสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
คุณอรรถพล กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ได้มุ่งเน้นไปที่การปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคง และยั่งยืนทางด้านพลังงาน ด้วยการปรับโฉมองค์กรครั้งสำคัญเตรียมพร้อมสู่โลกอนาคต ผ่านการดำเนินการ 3 ด้าน ได้แก่

1.กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ โดย ปตท. มีเป้าหมายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และสร้าง New S-Curve ให้แก่ประเทศ ซึ่งวิสัยทัศน์ใหม่นี้จะเน้นที่การสร้างพลังขับเคลื่อนทุกชีวิต โดยมี Future Energy and Beyond เป็นจุดยืนด้านยุทธศาสตร์ขององค์กรในการมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน

2.กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 3 เป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2030 ได้แก่ New Growth เพิ่มสัดส่วนการลงทุน และตั้งเป้ากำไรจากธุรกิจกลุ่ม Future Energy and Beyond ประมาณ 30% ของ Portfolio การลงทุน และสัดส่วนกำไร Business Growth ปรับ Port การลงทุน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ และ Clean Growth กลุ่ม ปตท. มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลง 15% เมื่อเทียบกับปี 2020

3. กำหนดกลยุทธ์ 4Rs ที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นและปรับตัวของการทำงาน หรือ Resilience เตรียมความพร้อมและรักษาความแข็งแกร่ง หรือ Restart ออกแบบธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลง หรือ Reimagination และปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับรูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ Reform

นอกจากกลยุทธ์ด้านการบริหารธุรกิจแล้ว ปตท. ยังโดดเด่นในเรื่องของการนำ ESG (Environmental, Social, Governance) หรือการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล มาใช้ร่วมกับการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป็น Sustainability DNA ของ ปตท. “ผลดำเนินงานเราต้องเลิศ โลกเราต้องรักษ์ สังคมไทยเราต้องอุ้มชู”

นอกจากนี้ในภาวะความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครน ทาง ปตท. โดยคุณอรรถพล ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมองเรื่องนี้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศที่สำคัญด้านพลังงาน โดยผลประเมินของ International Energy Agency บอกว่าสถานการณ์น้ำมันจะยิ่งตึงตัว แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ จะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามแม้สงครามจะจบลง แต่ผลกระทบจะยังไม่คลี่คลายในเร็ววัน

คุณอรรถพล จึงคาดว่าในปี 2565 ราคาน้ำมันจะมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ปตท. จึงยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมใช้มาตรการบริหารจัดการน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศอย่างเต็มความสามารถ และมั่นใจว่าประเทศไทยจะยังมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ

แม้ ปตท. จะมุ่งมั่นพิชิตภารกิจสำคัญพร้อมนำประเทศฝ่าวิกฤตอย่างต่อเนื่อง แต่งานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ ปตท. ให้ความสำคัญเสมอมา โดยเฉพาะโครงการลมหายใจเดียวกัน ที่ร่วมสู้ภัยโควิด-19 มาตั้งแต่ต้น ทั้งการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร และต่อยอดสู่โครงการลมหายใจเพื่อน้อง เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา จำนวน 60,000 คน พร้อมมุ่งจัดตั้งกองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา หรือแม้แต่การตั้งเป้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเตรียมปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่

ภาพเหล่านี้คงสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความตั้งใจจริงของ ปตท. ที่เรียนรู้รับมือความเปลี่ยนแปลง พร้อมดูแลสังคม ชุมชม และสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด และเป็นยักษ์ใหญ่ที่ไม่หลับใหล พร้อมขยับตัวเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน

ที่มา : ปตท.

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #อุตสาหกรรม #น้ำมัน #ปตท #PTT