‘ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย’ เส้นทางสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

หนึ่งในผ้าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กับเมืองไทยมานาน และเชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักเป็นอย่างดี นั่นก็คือ ‘ผ้าขาวม้า’ ซึ่งถือเป็นผ้าท้องถิ่นของไทย และเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันมาช้านาน ชุมชนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศต่างยึดถือการทอผ้าขาวม้าเป็นอาชีพเสริมหลังการทำเกษตรกรรม

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด โดย คุณต้องใจ ธนะชานันท์ กรรมการผู้จัดการ และภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ

ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มีความคิดริเริ่ม ‘โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย’ ขึ้นมา เพื่อช่วยยกระดับผ้าขาวม้าทอมือให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

และสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายและประโยชน์ใช้สอยของผ้าขาวม้าให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่

ไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพ เทคนิคการผลิต ตลอดจนการแปรรูปผ้าขาวม้าทอมือให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

โดยการทำงานของโครงการนี้ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่าน 4 มิติ คือ

  1. การสร้างความตระหนักรู้ และความสนใจในผ้าขาวม้าทอมือของกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
  2. การสร้างนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการใช้งาน
  3. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชน และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ อาทิ การใช้สีธรรมชาติ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
  4. การผลักดันให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน ทั้งในด้านลิขสิทธิ์ลายผ้า เครื่องหมายการค้า และสิทธิบัตร

โดยจุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 ผ่านเป้าหมายหลักในการเฟ้นหาผ้าขาวม้าที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ อาทิ เรื่องราว ประวัติความเป็นมา ความสวยงาม และอัตลักษณ์ที่เด่นชัด ซึ่งได้รับความสนใจจาก 499 ชุมชน มีชิ้นงานเข้าประกวดจำนวน 519 ชิ้นงานทั่วประเทศ รวมถึงได้ผ้าขาวม้าที่มีอัตลักษณ์ในประเภทต่าง ๆ ได้แก่

  • ประเภทผ้าขาวม้าอัตลักษณ์ประจำชุมชน (Heritage)
  • ประเภทวัตถุดิบธรรมชาติ และสีธรรมชาติ (Organics)
  • ประเภทผ้าขาวม้าความคิดสร้างสรรค์ (Creative)
  • ประเภทผ้าขาวม้าแปรรูป (Product)

คุณต้องใจ เปิดเผยว่า ในปีแรกของการดำเนินโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย เราได้สนับสนุนชุมชนที่มีฝีมือในการทอผ้าขาวม้า โดยได้เข้าไปช่วยดำเนินการในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น 13 ลิขสิทธิ์ 8 เครื่องหมายการค้า 1 อนุสิทธิบัตร

นอกจากนี้ยังนำชุดผ้าขาวม้าทอมือกว่า 30 ชุด ไปสู่เวทีแฟชั่นระดับอินเตอร์ บนรันเวย์งาน Amazon Fashion Week Tokyo 2017 ณ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยฝีมือการออกแบบของ คุณลินดา เจริญลาภ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า LALALOVE เมื่อวันที่ 20 – 22 มีนาคม 2560 และได้นำผู้แทนชุมชนไปดูงานอีกด้วย

หลังจากนั้นในปี 2561 ได้จัดการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือ ภายใต้หัวข้อ ‘นวอัตลักษณ์’ พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจในการออกแบบ แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ผ่านผลงานผ้าขาวม้าทอมือ โดยแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่

  • สาขาออกแบบแฟชั่น
  • สาขาออกแบบเคหะสิ่งทอ
  • สาขาออกแบบลายผ้าขาวม้า

ปี 2562 เนื่องจากประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานอาเซียน การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือจึงอยู่ภายใต้แนวคิด ‘อัตลักษณ์แห่งคุณค่า ผ้าขาวม้าอาเซียน’ หรือ ‘ASEAN METROPOLIS’ ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าไทย รังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สื่อถึงเสน่ห์แห่งเมืองต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่สำคัญยังสามารถผลิตและจำหน่ายได้จริง โดยแบ่งออกเป็น 4 สาขา ได้แก่

  1. สาขาออกแบบเสื้อผ้า
  2. สาขาออกแบบเครื่องใช้และเครื่องประดับ
  3. สาขาออกแบบเคหะสิ่งทอ
  4. สาขาออกแบบลายผ้า

ขณะที่ในปีล่าสุด 2563 โครงการ ‘ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย’ ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนเพื่อการพัฒนาและต่อยอดในการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมไปถึงการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า และเห็นคุณค่าของผ้าขาวม้าทอมือ ซึ่งโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยได้มีการดำเนินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และทำงานร่วมกับหลายฝ่ายมากขึ้น ด้วยความร่วมมือผ่านการเชื่อมโยงเครือข่ายต่าง ๆ ในทุกภาคส่วน โดยในปีนี้ร่วมมือกับ โครงการ EISA สำนักประสานงานภายนอก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยในเครือข่ายดำเนินโครงการ Creative Young Designer

การจัดทำหนังสือผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย 

เป็นความตั้งใจของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เพื่อเก็บรวบรวมเรื่องราวของผ้าขาวม้าไว้เป็นข้อมูลความรู้ให้แก้ผู้ที่สนใจ โดยได้จัดทำอย่างต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งได้แก่

  • ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย : คุณค่าและภูมิปัญญาจากอดีตถึงปัจจุบัน
  • ผ้าขาวม้าทอใจ : สืบสานเส้นใยแห่งการแบ่งปัน
  • ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย : มรดกเส้นใยสานสี วิถีภูมิปัญญาพื้นถิ่น

การประกวดภาพถ่าย IG ‘ผ้าขาวม้ารัก(ษ์)โลก’

การประกวดภาพถ่ายผ้าขาวม้า ผ่านทาง IG ในหัวข้อ ‘ผ้าขาวม้ารัก(ษ์)โลกโดยมี ‘ผ้าขาวม้า’ เป็นองค์ประกอบหลัก ที่สะท้อนเรื่องราวในการดูแลรักษาโลก หรือช่วยโลกในมุมต่าง ๆ พร้อมทั้งเขียนคำบรรยายเพิ่มเติม ติด Hashtag #ผ้าขาวม้ารักษ์โลก และโพสต์ลงอินสตาแกรม พร้อมเปิดให้เป็น ‘สาธารณะ’ (Public) ลุ้นรางวัลรวม 53,000 บาท ซึ่งสามารถร่วมสนุกได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 14 ส.ค.63 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ IG และ Facebook : PakaomaThailand

“เราพยายามจะผลักดันสินค้าและทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ภาคเอกชนหลายรายก็เข้ามาเป็นลูกค้าเรา อย่าง S&P ก็มาซื้อถุงผ้าขาวม้าของเราไปขายในร้าน รวมไปถึงเรายังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่น ที่เข้ามาร่วมยกระดับผ้าขาวม้าทอมือให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปร้อยรักษ์ ต.ฮ่องแฮ่ จ.ร้อยเอ็ด หรือมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ร่วมยกระดับผ้าขาวม้าทอมือให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำมอญแจ้ซ้อน จ.ลำปาง”