“โรงพยาบาลแพทย์รังสิต” เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในจังหวัดปทุมธานี เริ่มต้นด้วยจำนวนเตียงจดทะเบียนเพียง 30 เตียง ผ่านมาเกือบ 4 ทศวรรษ วันนี้จากโรงพยาบาลชานเมืองเล็ก ๆ กำลังสยายปีกทางธุรกิจบนเส้นทางศูนย์แพทย์เฉพาะทาง
ถ้าย้อนไทม์ไลน์ความสำเร็จของกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ต้องย้อนกลับไปในปี 2527 ที่มีการก่อตั้งบริษัท ปทุมรักษ์ จำกัด โดยมีกลุ่มครอบครัวแย้มสอาด กลุ่มครอบครัวตระกูลช่าง กลุ่มครอบครัวฮันตระกูล และกลุ่มแพทย์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาลภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลแพทย์รังสิต” และถัดมาเพียง 2 ปี โรงพยาบาลแพทย์รังสิต จึงได้ฤกษ์เปิดให้บริการในวันที่ 9 มกราคม 2529
โดยถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในปทุมธานี โดยมีทะเบียนเพียง 30 เตียง
ต่อมาในปี 2538 โรงพยาบาลแพทย์รังสิต จึงได้เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และในปี 2540 เปิดให้บริการอาคารผู้ป่วย 7 ชั้นเพิ่มเติม และมีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 155 เตียง ก่อนที่จะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2 ครั้ง ภายใต้โรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิต ในปี 2553
พัฒนาการของ รพ.แพทย์รังสิต ไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น ปี 2554 เปิดให้บริการโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็กแพทย์รังสิตขึ้นเป็นครั้งแรก และเปิดบริการศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง สามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจแบบครบวงจร และต่อมาในปี 2562 เปิดให้บริการโรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 โดยมีจำนวนเตียงจดทะเบียน 59 เตียง เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วไปขณะที่ปี 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อมีการนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แปรสภาพบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีการแก้ไขชื่อบริษัทจากบริษัท ปทุมรักษ์ จำกัด เป็นบริษัท แพทย์รังสิต เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG และเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งแรกในวันที่ 6 กรกฏาคม 2566 ในกลุ่มบริการ หมวดธุรกิจการแพทย์ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “PHG” ซึ่งถือเป็นพัฒนาการและจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต เพราะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจตามกลยุทธ์ขยายธุรกิจในแนวดิ่ง เพื่อต่อยอดการให้บริการทางการแพทย์สำหรับโรคผู้สูงอายุ โรคมะเร็ง และโรคทางนรีเวชกรรม เพื่อยกระดับกลุ่มโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ และเป็นการสร้างการเติบโตครั้งใหม่ให้กับกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต
จิ๋วแต่แจ๋ว โตแบบค่อยเป็นค่อยไป
“รณชิต แย้มสอาด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพทย์รังสิต เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่แห่งกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต เปิดเผยถึงความสำเร็จขององค์กรว่า จากโรงพยาบาลชานเมืองเมื่อ 38 ปีก่อน ปัจจุบันกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิต กำลังกลายเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นแนวหน้าแห่งย่านรังสิต โดยสิ่งที่ทำให้กลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิตอยู่รอดและเติบโตมาได้ แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ คือ ประสบการณ์ ทีมงาน และการบริหารงานแบบค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถสร้างการเติบโตขึ้นเป็นลำดับตามที่กล่าวมา และกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยเช่นกัน
“ความสำเร็จของเรา” อย่างแรกเลยคือ พัฒนาเรื่องแพทย์ เราสามารถหาแพทย์มาประจำได้ จุดอ่อนในวันนั้น วันนี้เราสามารถปิดช่องว่างตรงนั้นได้แล้ว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาใช้บริการได้ และไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มโรงพยาบาลแพทย์รังสิตยังมีการพัฒนาเชิงลึก เน้นการให้บริการสุขภาพที่เป็นทุติยภูมิ และตติยภูมิ ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น รักษาพยาบาลโรคที่ยาก ซับซ้อนและเฉพาะทางมากขึ้น มีการจัดอบรมโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยมีสถาบันหลักทางการแพทย์ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาใช้บริการ โดยเรานำวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ซึ่งถามว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มองว่า เราเป็นองค์กรแบบจิ๋วแต่แจ๋ว
จากแผนการเข้าตลาดที่สำเร็จแล้ว จากนี้ไปจะเป็นก้าวที่เรานำ IPO Fund เหล่านั้นมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพในทางธุรกิจให้กว้างขึ้น ทั้งแนวดิ่งที่หมายถึง การที่เราจะให้บริการในการรักษาโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น ยากขึ้น ส่วนการรักษาโรคระดับปฐมภูมิอาจจะค่อย ๆ จางหายไป เพราะมันเป็นเรื่องที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน จะเน้นโรคผู้สูงอายุ ตอนนี้เรามีศูนย์ไต 3 ศูนย์อยู่ในโรงพยาบาล มีศูนย์หัวใจ 24 ชั่วโมง และอนาคตจะมีโรงพยาบาลมะเร็งที่จะมารองรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งแถบนี้ยังไม่มี”
สำหรับแผนการลงทุนนั้น กลุ่มโรงพยาบาลรังสิตมีแผนนำเงินไปลงทุนดังนี้ “โครงการก่อสร้างอาคารจอดรถ” มูลค่า 100 ล้านบาทภายในปี 2567 “โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 1” มูลค่า 200 ล้านบาทภายในปี 2567 “โครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ที่ 2” มูลค่า 300 ล้านบาทภายในปี 2569 “การซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์” มูลค่า 250 ล้านบาทภายในปี 2567 “ชำระคืนเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงินบางส่วน” มูลค่า 150 ล้านบาทภายในปี 2566 และ “เงินทุนหมุนเวียน” ในการดำเนินธุรกิจ มูลค่า 134 ล้านบาทภายในปี 2566
โดยโครงการทั้งหมดอยู่ในที่ดินผืนเดียวกันกับโรงพยาบาลแพทย์รังสิตเดิม ซึ่งเป็นการลดต้นทุนด้านที่ดิน และจะทำให้เกิด “Economy of Scale” ในการดำเนินธุรกิจ มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อเวชภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ทั้งบุคลากร ระบบหลังบ้าน การจัดซื้อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยในการควบคุมต้นทุนและสร้างความสามารถในการทำกำไรได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต และที่สำคัญทำให้ค่าใช้จ่ายที่ผู้มารับบริการต้องจ่ายก็จะไม่สูงจนเกินไปนัก
“เราอยู่ในละแวกนี้ต้องรู้ว่าควรดูแลเรื่องอะไร หลัก ๆ เลยคือ คุณภาพและราคา ถ้าเราอยู่ใกล้เขา มีการรักษาที่ได้มาตรฐานในราคาที่เขาจ่ายได้ มันก็ตอบโจทย์สิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเราพยายามทำให้ได้ครบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและคนไข้ได้มั่นใจว่า เมื่อมาที่นี่แล้วทุกคนต้องหายกลับไป และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม” รณชิต กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามคอนเทนต์ในรูปแบบ Video