perfect paper

The Success Story of The Month ‘ศรินทร พันธุ์โสภา’ ขับเคลื่อน PERFECT PAPER สู่บริษัทฯ ระดับโลก

The Success Story of The Month By ‘Business+’ฉบับเดือนมีนาคม 2567 (Special Content) จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจากคุณศรินทร พันธุ์โสภา ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับช่วงต่อในการบริหาร ‘เพอร์เฟ็ค เปเปอร์’ จากรุ่นบุกเบิก โดยที่บริษัทแห่งนี้มีความเชี่ยวชาญด้านการคัดแยกเศษกระดาษเพื่อนำมาใช้ใหม่ ซึ่งก่อตั้งมากว่า 50 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจแบบครอบครัว จนปัจจุบันมีเป้าหมายใหม่คือการเป็นบริษัทระดับโลก

สิ่งที่ “คุณศรินทร พันธุ์โสภา” ลงมือ “ปรับทิศ” ธุรกิจของ “เพอร์เฟ็ค เปเปอร์” เกิดจากการมองกลยุทธ์ Rebranding เพื่อให้ “เพอร์เฟ็ค เปเปอร์” ก้าวไปสู่องค์กรระดับโลก บนหลักคิดแบบ World Waste Management (องค์กรที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการขยะครบวงจรระดับโลก) ที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดกับ Stakeholders ทุกภาคส่วน นั่นเพราะเธอมองว่า โลกธุรกิจได้ปรับโฉมหน้าเปลี่ยนไปจากเดิมมาก จากเดิมธุรกิจคัดแยกเศษกระดาษเพื่อนำมาใช้ใหม่ จะแค่ซื้อ-ขายในประเทศ แต่เทรนด์ปัจจุบันต้องให้บริการครบ Ecosystem

“ธุรกิจเราอยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต้องประเมินอุตสาหกรรมนี้จาก 2 ด้าน คือ ในมุมของผู้ขายเศษกระดาษในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่เพียงพอ เราจึงต้องบริหารจัดการด้วยการรับซื้อในประเทศ ร่วมกับการนำเข้าร่วมด้วย และเมื่อเศษกระดาษในประเทศตอนนี้ไม่เพียงพอ นั่นแสดงให้เห็นว่า ลูกค้าเรามีการตลาดที่เติบโตขึ้นและกำลังขยายการผลิต วัตถุดิบไม่พอใช้ จึงทำให้เรายังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในธุรกิจนี้”

ถ้าให้สรุปคำกล่าวของ “ศรินทร พันธุ์โสภา” ก็แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า เธอบริหารธุรกิจทองคำ จากการคัดแยกเศษกระดาษเพื่อนำมาใช้ใหม่ ที่มีโอกาสเติบโตไม่สิ้นสุดนั่นเอง

ลองมารู้จักธุรกิจของบริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด แบบเจาะลึก แล้วคุณจะรู้จักตัวตนของทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาบริหารต่อจากรุ่นบุกเบิก จนปัจจุบัน บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด มีรายได้แตะ 2,000 ล้านบาทไปแล้ว ผ้านบทความนี้ หรือ รับชมฉบับ Video ได้ที่ PERFECT PAPER จากรถเก็บเศษกระดาษคันเดียวรายได้หลักหมื่นบาท สู่บริษัทรายได้ 2 พันล้าน!

คุณศรินทร พันธุ์โสภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ ‘Business+’ ว่า เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ในสมัยของคุณพ่อ จากการเป็นผู้เก็บเศษกระดาษไม่ใช้แล้ว และผ่านการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การก่อตั้งบริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด เมื่อปี 2541 โดยปัจจุบัน เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับซื้อ คัดแยก และขายเศษกระดาษ เพื่อผลิตและนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ให้กับลูกค้าแบบครบวงจรของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตกระดาษทุกชนิด

“หน้าที่หลักของเรา คือ การรับซื้อเศษกระดาษทุกชนิด และคัดแยกให้เป็นไปตามคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งคู่ค้าของเรา มีทั้งโรงงานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่ต้องใช้เศษกระดาษเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานผลิตกระดาษทิชชู กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟต์ ที่นำมาทำแพ็กเกจจิ้งต่าง ๆ” คุณศรินทร พันธุ์โสภา กล่าว

perfect paper

ความแตกต่างของเพอร์เฟ็ค เปเปอร์ เมื่อเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัว เพื่อไต่ระดับสู่ World Class คุณศรินทร กล่าวในฐานะที่เข้ามารับช่วงต่อจากกิจการของคุณพ่อเมื่อ 18 ปีที่แล้วว่า “ในช่วงเริ่มทำธุรกิจ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์บริหารธุรกิจแบบดั้งเดิมจากคุณพ่อ จากนั้นจึงเริ่มมองการพัฒนาธุรกิจให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้เข้ามาปรับปรุงในส่วนที่สามารถใช้เทคโนโลยี หรือระบบใหม่ ๆ เข้ามาเสริม จากรูปแบบธุรกิจเดิมจะมีการบริหารจัดการแบบระบบเถ้าแก่กับลูกน้อง ที่มีการสั่งงานแบบปากต่อปาก เปลี่ยนมาสู่การจัดเก็บข้อมูลในระบบ โดยเน้นไปที่การจัดเก็บข้อมูล การบันทึกเป็นแบบฟอร์ม และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสาขา ซึ่งทำให้สามารถลดขั้นตอนการทำงานได้ดีขึ้น รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น อาทิ การนำระบบเทคโนโลยี ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งเป็นระบบเพื่อวางแผนทรัพยากรและข้อมูลทางธุรกิจทั้งหมดขององค์กรให้เชื่อมโยงกัน ทำให้การบริหารธุรกิจด้านการวางแผนการลงทุน การบริหารทรัพยากรตั้งแต่งานด้านบัญชี การเงิน ด้านการผลิต การจัดซื้อ การขาย การกระจายสินค้า มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดระยะเวลาและขั้นตอนวิเคราะห์ข้อมูลและติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

โดยสิ่งที่สำคัญที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือ การทำบัญชีที่จะเชื่อมโยงไปถึงการซื้อขาย การบริหาร Stock รวมไปถึงระบบโลจิสติกส์ จึงทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงงานสาขาต่าง ๆ ของบริษัท เป็น Centralized ได้สูงสุด นั่นจึงทำให้สามารถบริหารต้นทุนทั้งการขนส่ง ต้นทุนสินค้าคงคลัง (Inventory Cost) ได้ดีขึ้น โดยการพัฒนาระบบต่าง ๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น ทำให้ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ เปลี่ยนจากธุรกิจเล็ก ๆ ในครอบครัวมาสู่บริษัทที่สามารถบริหารจัดการคัดแยกเศษกระดาษ เพื่อป้อนให้กับโรงงานกระดาษอย่างมืออาชีพ”

perfect paper

สำหรับจุดเด่นของ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็น Supplier ของบริษัทขนาดใหญ่ นับตั้งแต่เธอเข้ามาบริหารองค์กร คือ การให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าและคุณภาพในการส่งมอบสินค้า ซึ่งในด้านของคุณภาพสินค้านอกจากจะมีการคัดแยกกระดาษให้เป็นไปตามมาตรฐานแล้ว สิ่งสำคัญคือ การคัดแยกกระดาษให้ได้ตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าแต่ละรายให้ได้ ซึ่งนั่นคือ Value Added ที่ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ส่งมอบให้กับลูกค้า โดยที่ผ่านมา เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ สามารถจัดส่งวัตถุดิบให้เป็นไปตามมาตรฐานทุก ๆ ประเทศ และในบางประเทศยังที่สามารถส่งออกสินค้า โดยที่ไม่ต้องอาศัย Third party ในการตรวจสอบคุณภาพหรือจัดการ ซึ่งมาตรฐานที่ดีนี้จะทำให้เกิดการบอกต่อในกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เป็น นิชมาร์เก็ต (Niche Market) จึงทำให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

“เราสามารถจัดหาวัตถุดิบได้ตามมาตรฐานและสามารถบวกความต้องการพิเศษของลูกค้าเข้าไปได้ เช่น โรงงานทิชชูบางประเภทจะใช้กระดาษประเภทที่ผลิตทิชชู แต่ตั้งสเป็กว่าไม่เอาเศษกระดาษที่มีสีเทียน เราก็จะยึดตามสเป็กเศษกระดาษผลิตทิชชูแบบมาตรฐาน และบวกความต้องการของลูกค้าเข้าไป ทำให้เราสามารถเพิ่ม Value ให้กับสินค้าของเราได้มากขึ้น”

นอกจากคุณภาพของสินค้าแล้ว เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ มีอีกหนึ่งจุดแข็งที่โดดเด่น คือ คุณภาพในการส่งมอบสินค้า โดยที่ผ่านมาบริษัท สามารถบริหารจัดการระยะเวลาการส่งมอบได้ตามเงื่อนไขทั้งเวลาและปริมาณ จึงทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้อง Stock สินค้าเอาไว้เป็นจำนวนมาก เปรียบเสมือน เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ช่วยลดต้นทุนสินค้าคงคลัง (Inventory Cost) ให้กับลูกค้า

perfect paper

นอกจากนี้ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ยังสามารถส่งมอบสินค้าได้แบบ Just in time ดังนั้น หากลูกค้าสั่งซื้อวัตถุดิบเข้ามา ก็จะสามารถจัดหาและจัดส่งสินค้าได้ทันที ซึ่งคุณศรินทร กล่าวว่า ต้องอาศัยการบริหารจัดการ Stock ให้ดี โดยข้อได้เปรียบของ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ คือ เศษกระดาษเป็นสินค้าวัตถุดิบ ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้ และบริหารจัดการได้ง่ายกว่าสินค้าขั้นปลายที่หากมี Stock สินค้ามากเกินไปทำให้เสียราคา

สำหรับเป้าหมายต่อไปของ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ต่อจากนี้ คือการนำบริษัทเข้าสู่มาตรฐานระดับโลก โดยที่มุ่งหวังว่าจะยกระดับให้สามารถขึ้นเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานระดับโลกในการบริหารจัดการขยะที่กลับมาใช้ได้ใหม่ทุกชนิดในโลก (World Waste Management) ซึ่งการมีมาตรฐานที่ดี และมี Certificate จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น โดย คุณศรินทร กล่าวว่า การที่ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จะไปสู่เป้าหมายระดับโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าให้ได้นั้น ต้องเร่งพัฒนาและใช้กลยุทธ์ที่เป็น Quick Wins Strategy ก่อน

ขั้นตอนแรกคือ การบริหารจัดการเศษกระดาษให้ได้ตามมาตรฐานระดับสากล และต้องเพิ่มมาตรฐานให้สอดคล้องกับภูมิภาคต่าง ๆ ที่เข้าไปเป็นคู่ค้า นอกจากนี้ยังต้องดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน (Sustainability) ด้วยการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาผนวกเข้ากับการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ เป็นส่วนสำคัญใน Supply Chain อุตสาหกรรมกระดาษ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของ Stakeholders ทั้ง 5 ส่วน นั่นคือ Supplier, Partner, Investor, Employee, Community และ Consumer เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน

โดยที่วางแผนจะบรรลุเป้าหมายทั้งหมด 13 ข้อ ด้วยแผนการทำ ESG ดังนี้

ENVIRONMENT : WASTE MANAGEMENTMINDSET โดยจะปลูกฝังและส่งต่อความรู้เรื่องการจัดการขยะเพื่อต่อยอดความยั่งยืนและโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกชีวิตให้กับคนไทยทุกคน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพ อาหาร อากาศ และสังคม

SOCIAL : INNOVATION FORWARDING ส่งต่อนวัตกรรมและนวัตกรรมความคิดสู่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และต่อยอดองค์ความรู้ที่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

EQUALITY & GROWTH : ส่งเสริมและทำกิจกรรมร่วมกับพนักงานในองค์กร เพื่อที่จะสามารถส่งต่อความรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม มีสัญญาและนโยบายการว่าจ้างที่เป็นธรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียม และการเติบโตของตัวพนักงานเองและสังคม

GOVERNANCE : PROLONG TRUST ทำงานอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา พร้อมส่งมอบของที่มีคุณภาพที่สุดให้กับลูกค้า ไม่เอาเปรียบคู่ค้า และทุกกระบวนการสามารถตรวจสอบได้

EXCEEDING STANDARD : เราจะทำทุกขั้นตอนให้เกินมาตรฐานเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพ ไม่มีการสอดไส้ สินค้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมการจัดการขยะ และเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคจะได้สินค้าที่ดี และปลอดภัยมากที่สุด

RESOURCE MANAGEMENT : จัดสรรทรัพยากรและพนักงานอย่างมีคุณภาพที่สุด เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด และหาโอกาสการสร้างผลประกอบการใหม่ ๆ อย่างมีคุณธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เอาเปรียบ และตรวจสอบได้

คุณศรินทร กล่าวว่า หากแผนการทั้งหมดนี้สำเร็จได้ ก็จะเกิดเป็น PERFECT OUR FUTURE ซึ่งก็คือ เป้าหมาย หรือ Goal ขององค์กรซึ่งสื่อถึงการสร้างอนาคตที่เพอร์เฟ็คของทุกคน โดยการให้ความสำคัญกับ Sustainability โดยในมุมของ Business Growth นั้นก็จะทำให้บริษัท สามารถส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับ Stakeholders ทุกคน และเมื่อ Stakeholders มีความมั่นคงก็สามารถส่งต่อความยั่งยืนกลับมาที่ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ เช่นกัน

“การนำจิตวิญญาณและสปิริตของชาวเพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ที่มีวิสัยทัศน์ คือ การเป็นบริษัทชั้นนำที่มีมาตรฐานระดับโลกในการจัดการขยะทุกชนิด ด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างอนาคตร่วมกันกับคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน ชุมชน และสังคมอย่างเป็นมิตรและยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นจุดที่เราแตกต่างจากคนอื่น คุณศรินทร กล่าวพร้อมกับย้ำว่า สปิริตของเพอร์เฟ็ค เปเปอร์ หรือวัฒนธรรมองค์กร ประกอบไปด้วย 4 เสาหลักนั่นคือ GOES

  • GO GETTING (มุ่งมั่น) คิดหรือพูดแล้วต้องตั้งใจทำได้จริง
  • OPTIMIST (ทัศนคติดี) – มองโลกในแง่บวก และหวังจะเห็นโลกที่ดีขึ้น
  • EMPATHY เข้าอกเข้าใจ เห็นใจ และนึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ
  • SHARP ฉลาดเฉียบคม มองเห็นปัญหา และหาวิธีแก้ไข แต่ไม่อวดเบ่ง

ด้วยวัฒนธรรมองค์กร 4 เสาหลักนี้ ต้องบอกว่า คุณศรินทร เป็นผู้ริเริ่มจุดประกายให้เกิดขึ้น จากมุมมองหลังจากเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งคีย์สำคัญของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ คือ การบริหาร “บุคลากร” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในองค์กรให้เห็นถึง Purpose ตรงกัน โดยเฉพาะการผสมผสานแนวคิด ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยคนหลากหลายรุ่นทำงานร่วมกัน นับตั้งแต่พนักงานรุ่นบุกเบิก ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ตลอดจนคนรุ่นใหม่ ทั้งเจเนอเรชัน X เจเนอเรชัน Y หรือมิลเลนเนียล ให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นวิธีหรือกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการข้ามความท้าทายในเรื่องของการบริหาร “บุคลากร” อย่างแยบยล

นอกจากนี้ เมื่อมองถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิลกระดาษในอนาคตนั้น คุณศรินทร กล่าวยอมรับว่า เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้นจะต้องประเมินอุตสาหกรรมจาก 2 ด้าน คือในมุมของผู้ขายเศษกระดาษ และอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ ซึ่งจำนวนของเศษกระดาษรับซื้อในเมืองไทยขณะนี้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จึงต้องรวบรวมเศษกระดาษในประเทศให้ได้มากที่สุด โดยการรับซื้อในราคายุติธรรมร่วมกับการบริหารจัดการด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ สถานการณ์เศษกระดาษในประเทศที่ไม่เพียงพอแสดงให้เห็นว่า ลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระดาษเติบโตได้ดี นั่นจึงทำให้มีโอกาสเติบโตในธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ยังอาศัยการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นตามเทรนด์อุตสาหกรรมโลกและเทรนด์ของลูกค้าอยู่เสมอ อย่างเช่นปัญหาที่เกิดกับอุตสาหกรรมด้านสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีความต้องการลดลงหลังจากโลกเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้หลายคนอาจมองว่าจะกระทบต่อธุรกิจรีไซเคิลกระดาษ แต่ในมุมมองของของคุณศรินทรนั้น เธอมีความคิดเห็นว่า “หากดูตามเทรนด์และสถิติของลูกค้าก็จะเห็นว่า เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างลูกค้าให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดอยู่เสมอ

หากย้อนกลับไปช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนลูกค้าเป็นกลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก แต่ปัจจุบันเมื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความนิยมน้อยลง ทำให้ความต้องการกระดาษปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงงานผลิตทิชชู และโรงงานผลิตแพ็กเกจจิ้งหรือกล่องกระดาษมากขึ้น เราก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างลูกค้าไปตามเทรนด์ของโลกเช่นกัน

จากที่บอกมานั้น เพราะเรามองเห็นกระแส Disruption มาพอสมควร ซึ่งการที่เรารับซื้อเศษกระดาษ และคัดแยกเศษกระดาษทุกประเภท ทำให้เรามองเห็นและสามารถปรับตัวให้รองรับทุก ๆ ความต้องการของลูกค้าได้แบบทันท่วงที และยังสามารถเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่ค้าได้อยู่เสมอ แม้คู่ค้าจะเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นก็ตาม”

ถึงตรงนี้ เราจะเห็นแนวทางการบริหาร เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งก็ต้องชื่นชมในความสามารถของคุณศรินทร ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถ Shift หรือพาองค์กรที่มีอายุยาวนานให้ก้าวข้ามอุปสรรคมากมาย ด้วยกลยุทธ์การบริหารแบบ Modern Management ที่ไม่เพียงแต่พุ่งเป้าไปที่การสร้างผลกำไรเท่านั้น แต่เธอกำหนดเข็มทิศให้ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ก้าวไปสู่ยุคใหม่ (new era) ซึ่งดำเนินธุรกิจอยู่ในเทรนด์ของกระแสโลก โดยเน้นให้ความสำคัญกับการเติบโตที่ยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

และหากวิเคราะห์ธุรกิจไปกับเมกะเทรนด์ของโลก ก็จะพบว่า เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ ได้พาตัวเองมาอยู่ในกระแสของโลกอย่างน่าชื่นชม และยังสามารถสร้างมูลค่าธุรกิจได้สูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจัยที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทแห่งนี้ คือ การวางกลยุทธ์การบริหารต้นทุนที่ดี โดยเฉพาะต้นทุนหลักของบริษัทก็คือ เศษกระดาษที่มีราคาซื้อ-ขาย ผันผวนตามตลาดโลก โดย เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ เลือกใช้วิธีการคำนวณหาค่าเฉลี่ยในทุกประเภทอย่างแม่นยำ ซึ่งแต่ละออเดอร์อาจจะต้องเผชิญทั้งขาดทุนหรือกำไร แต่เมื่อใช้หลักบริหารคำนวณค่าเฉลี่ย ก็ทำให้ไม่มีการขาดทุน

นอกจากนี้ คุณศรินทร ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟแนนซ์ (Finance) ส่งผลให้เธอยังบริหาร Stock สินค้าได้ดีที่สุดด้วย โดยดำเนินการประเมินความเสี่ยงจากคำสั่งซื้อของลูกค้าล่วงหน้า เพื่อให้มีสินค้าหมุนเวียนในปริมาณที่เหมาะสม

การเข้ามารับช่วงต่อของทายาทรุ่นที่ 2 ของคุณศรินทร ที่ได้ปรับวิสัยทัศน์และพัฒนาแนวความคิดของคนทั้งองค์กร ให้ก้าวทันโลกยุคใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า เธอสามารถสานต่อธุรกิจครอบครัว เริ่มต้นจากรายได้ระดับหมื่นบาท มาสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปี 2566 เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ มีรายได้ถึงระดับ 2,000 ล้านบาท และมาพร้อมเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญกว่านั้นคือ การก้าวเข้าสู่บริษัทบริหารจัดการขยะครบวงจรที่มีมาตรฐานระดับโลก (World Waste Management) และพร้อมจะนำ เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ สู่อนาคตอย่างยั่งยืนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

ทุกคำกล่าวของ “ศรินทร พันธุ์โสภา” ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ทำให้เราเห็นมิติการขับเคลื่อนธุรกิจของครอบครัวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นเพราะเธอกำลังบริหารธุรกิจขยะ ให้เป็น “ทองคำ” นั่นเอง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ในช่องทางอื่นๆ ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS