Pepsi

เป๊ปซี่’ กำลังเจอกับต้นทุนสูงที่สุดในรอบ 5 ปี!

ปี 2565 เราได้เห็นเจ้าตลาดน้ำอัดลมอย่าง “เป๊ปซี่” (PepsiCo) ปรับราคาสินค้าในประเทศไทยขึ้น โดยครั้งนั้นได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำอัดลม “เป๊ปซี่” ทุกขนาด และทุกแพ็กเกจจิ้ง ในอัตรา 1-2 บาทต่อขวด/กระป๋อง ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุที่ทำให้ต้องปรับราคาขายขึ้นเกิดจากการแบกรับต้นทุนไม่ไหว จนกดกำไรสุทธิของเป๊ปซี่ประเทศไทยลงไปอย่างมาก ซึ่งหากเปรียบเทียบรายได้ของเป๊ปซี่คือ 100 บาท จะเหลือเป็นกำไรเพียง 37 บาท จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมากำไรจะสูงกว่าระดับ 42 บาท ซึ่งห่างกันมากถึง 5 บาทเลยทีเดียว

โดย ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายเป๊ปซี่ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับต้นทุนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงแตะระดับ 8,547 ล้านบาท ทำให้บริษัทเหลืออัตรากำไรขั้นต้นเพียงแค่ 37.18% จากรายได้รวม 11,226 ล้านบาท เหลือเป็นกำไรสุทธิ 2,487 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 ซึ่งมีกำไรขั้นต้น 43.46% และปี 2564 กำไรขั้นต้น 44.52%

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของ รายได้ ต้นทุน และอัตรากำไรสุทธิของเป๊ปซี่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นดังนี้

Pepsi

จะเห็นได้ว่าในช่วง ปี 2562- 2564 อัตรากำไรของเป๊ปซี่สูงกว่าระดับ 42% แต่ในปี 2565 กลับลดลงมาต่ำ เหลือแค่ 37% ซึ่งนี่ถือว่าเป็นจุดที่เข้าขั้นวิกฤตของธุรกิจประเภทน้ำอัดลม เพราะธุรกิจประเภทนี้จะแข่งขันกันที่กำไรเป็นอย่างมาก และยังมีสินค้าทดแทนกันอย่างเครื่องดื่มโค้ก การขึ้นราคาอาจเป็นจุดที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะหันไปซื้อสินค้าทดแทนมากกว่า

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นนั้น เกิดจากราคาน้ำตาลในประเทศที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2566 ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาราคาน้ำตาลในประเทศพุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี แน่นอนว่ากำไรสุทธิของ เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) ปี 2566 ที่กำลังจะออกมาอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร

ขณะที่แนวโน้มในอนาคตยังมีโอกาสที่ต้นทุนจะยังคงอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะราคาน้ำตาลในประเทศไทย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้าของธุรกิจเครื่องดื่มอีก เพราะเป็นธุรกิจที่แข่งต้องแข่งกันกันเรื่องมาร์จิ้น หรือกำไรขั้นต้นอย่างรุนแรงจนต้องหาทางรอดด้วยการขึ้นราคา

ทั้งนี้หากเป็นการขึ้นราคาเพียงเล็กน้อยแล้วอาจจะไม่เป็นผลมากเท่าคุณภาพ หรือรสชาติที่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจจะส่งผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของลูกค้าได้เช่นกัน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ อ้างอิง สำนักข่าวรอยเตอร์ที่รายงานว่า ไม่กี่วันที่ผ่านมาโฆษกของคาร์ฟูร์ในฝรั่งเศส ได้มีการประกาศว่า จำไม่ขายสินค้าของเป๊ปซี่เพราะมีราคาแพงขึ้นจนรับไม่ไหว ซึ่งจะมีการติดป้ายข้อความแจ้งกับลูกค้าไว้อย่างเป็นกิจลักษณะเลยทีเดียว

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนพฤติกรรมไปบริโภคสินค้าทดแทนอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกันผู้ผลิตอาจจะต้องบริหารและควบคุมต้นทุนให้ดี มีการป้องกันความเสี่ยงด้วยการ Stock น้ำตาล หรือปรับสูตรไปใช้สารทดแทนความหวานประเภทอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าแทนที่จะอาศัยการผลักภาระไปให้กับผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเป๊ปซี่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมผู้ถือครองการผลิตและจำหน่ายจาก เป๊ปซี่โค อินค์.สหรัฐอเมริกา คือ บริษัทเสริมสุข จำกัด ตั้งแต่ปี 2496 ด้วยราคาขายครั้งแรกในราคา 1 บาท และถือครองสิทธิมากนานถึง 59 ปี ก่อนที่ในปี 2555 บริษัทแม่เป๊ปซี่โค อินค์ จะไม่ต่อสัญญา และจัดตั้งบริษัทใหม่ของตัวเอง ชื่อว่า บริษัทเป๊ปซี่-โคลา (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มเป๊ปซี่ รวมถึงมิรินด้าและเซเว่นอัพ ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : https://corpusxweb.bol.co.th/corpus/home

ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#thebusinessplus #BusinessPlus #เป๊ปซี่ #PEPSI #น้ำอัดลม #น้ำหวาน