OTT TV แพลตฟร์อมดาวรุ่ง ภัยคุกคามของนายทุนทีวีดิจิทัล??

การอยู่รอดของผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลข่าวสารในศตวรรษที่21นี้ตัวตัดสินชี้ขาดอาจะอยู่ที่ตัวคอนเทนต์ (Content) ที่สามารถสื่อความออกมาได้ดี ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย

เพราะผู้บริโภคยุคใหม่และไลฟ์สไตล์ชนชั้นกลางเป็นคนกำหนดจะเลือกบริโภค Content หรือสื่ออะไรก็ตาม ตามความชอบส่วนตัว มากกว่าจะถูกยัดเยียดให้รับชม จึงเกิดช่องว่างทางธุรกิจอย่างบริการ OTT ที่กำลังเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในอุตสาหกรรมสื่อยุคปัจุบัน

ทั้งนี้ เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจได้มีการประมาณการไว้ว่า ตัวเลขการใช้งบประมาณผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลปี 2560 อาจมีมูลค่าสูงกว่า 11,774 ล้านบาท เทียบกับปี 2559 ที่มีมูลค่า 9,477 ล้านบาท และที่สำคัญเมื่อแยกเป็นตัวเลขรายได้โฆษณาจากกลุ่มผู้ให้บริการ OTT TV พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 5,007 ล้านบาท โดย Facebook ครองส่วนแบ่งสูงสุดที่ 2,842 ล้านบาท ตามมาด้วย YouTube 1,663 ล้านบาท และอื่น ๆ เช่น LINE TV

และเมื่อมองถึงแนวโน้มและพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยสำหรับการรับชมสื่อ ผ่านช่องทางต่าง ๆ จะพบว่า คนไทยเข้าอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8 ชั่วโมงต่อวัน เทียบกับทีวี 2 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนการดู YouTube ผ่านหน้าจอทีวี หรือสมาร์ตทีวี มีอัตราเติบโตต่อปีสูงสุด โดยเติบโตมากกว่า 2 เท่าในปี 2559

สำหรับจำนวนผู้ให้บริการ OTT TV ในตลาดที่มีจำนวนสูงขึ้นนั้น จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และมีการลดราคาค่าสมาชิกรายเดือนลง

นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมการชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังพบอีกว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 64) ชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์

ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 49 ระบุว่า การถ่ายทอดสดรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์ (Live) มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากการดูผ่านโทรทัศน์เป็นหลักมาสู่การดูผ่านช่องทางออนไลน์บ้างในบางครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่มีเวลา หรือไม่สะดวกชมรายการทางโทรทัศน์

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ระบุว่า การแพร่ภาพรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์เพียงช่องทางเดียว โดยไม่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์ มีผลให้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการดูผ่านโทรทัศน์เป็นหลักมาสู่การดูผ่านช่องทางออนไลน์บ้างในบางครั้ง เฉพาะรายการที่สนใจ

ข้อมูลนี้สะท้อนว่า ผู้ชมมีทางเลือกในการชมรายการทีวีผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และแน่นอนการกำหนดด้วยผังรายการของผู้ผลิตทีวีดิจิทัล จึงสวนทางกับพฤติกรรมการเข้าถึงเนื้อหา

จึงเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมบริการ OTT TV จึงเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งหลายกลับล้มระเนระนาด และมีทีท่าว่า ผู้ประกอบการบางรายกำลังคิดถึงการคืนใบอนุญาต

นั่นเพราะวิธีคิดและกระบวนการผลิตเนื้อหา กลับดำเนินการตรงข้ามกับลูกค้า จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมทีวีดิจิทัล จึงไม่สามารถทำกำไรได้และแจ้งเกิดได้สำเร็จ

รู้จัก Over-the-Top (OTT)

OTT หรือ Over-the-top คือ การให้บริการใด ๆ ก็ตามผ่านอินเทอร์เน็ต โดยที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่ได้ลงทุน หรือเป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเอง เช่น Facebook, Uber หรือ Airbnb เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย OTT TV ยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น เนื่องจากบริการดังกล่าวเพิ่งเข้ามามีบทบาทเมื่อปี 2557 โดยบริษัท Hollywood HD เป็นผู้เริ่มให้บริการ OTT TV รายแรก ตามมาด้วย iFlix, Netflix และ HOOQ รวมถึงผู้เล่นรายอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ให้บริการรายเดิมในตลาดโทรทัศน์ จึงไม่สามารถปล่อยให้ OTT TV เข้ามาแย่งฐานลูกค้าไป

True Visions ผู้ให้บริการ Pay TV รายใหญ่ในประเทศจึงเปิดตัว True Visions Everywhere ขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตคอนเทนต์และช่องรายการอย่าง GMM ได้ร่วมมือกับ LINE เพื่อให้บริการรายการบนแพลตฟอร์ม LINE TV และผู้ให้บริการฟรีทีวีก็ใช้ความพยายามที่จะรักษาฐานคนดูและรายได้โฆษณาผ่าน YouTube ในขณะเดียวก็ลองผิดลองถูกด้วยการทดลองพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับดูรายการย้อนหลัง หรือดู Live ไปด้วย

เอกสารเผยแพร่จาก บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด เมื่อพูดถึง Media Landscape ได้สรุปเนื้อตรงกับคำสัมภาษณ์ของธามที่ว่า OTT TV คือ ภัยคุกคามของนายทุนทีวีดิจิทัล

เพราะธุรกิจ OTT TV เกิดจากจุดเด่นในการเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ตามต้องการ (Video On Demand) ในเวลาใดและที่ใดก็ได้ ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

รวมทั้งความสามารถในการผลิตคอนเทนต์ที่มีความแตกต่างจากสื่อโทรทัศน์ขึ้นมา และเผยแพร่สู่สาธารณชนได้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้ OTT TV กลายเป็นสื่อที่มีความหลากหลายในด้านคอนเทนต์

ยิ่งไปกว่านั้น ทางฝั่งของผู้ให้บริการที่ประกอบธุรกิจในด้านนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เพื่อสร้างเครือข่ายขึ้นมาเอง

นับเป็นความท้าทายอย่างมากต่อธุรกิจแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิม โดยธุรกิจ OTT TV เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากสังคมไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 หลังจากที่มีการร้องเรียนไปยัง กสทช. ว่า กิจการประเภทดังกล่าวไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิม

การเติบโตของธุรกิจ OTT TV สร้างความท้าทายให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. เป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันยังคงไม่มีรูปแบบการกำกับดูแลออกมาอย่างชัดเจน จึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างฟรีทีวีและ OTT TV