โลกใบใหม่กับ Learning Culture ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ

“คนที่ไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้หมายถึงผู้ที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่จะหมายถึงผู้ที่ไม่สามารถเรียนรู้ ละทิ้งความรู้เดิม แล้วเริ่มเรียนรู้ใหม่ต่างหาก” นี่คือคำกล่าวของ Alvin Toffler นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกา


เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า โดยปกติคนไม่ชอบอยู่ในภาวะของ “ความไม่รู้” ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่ในขณะเดียวกันคนเราก็ไม่สามารถรู้ได้ทุกเรื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา นั่นแปลว่า หนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาภาวะของความไม่รู้ก็คือ การหมั่นเรียนรู้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง


เพราะเหตุใดเรื่อง Learn Unlearn Relearn ถึงเป็นเรื่องสำคัญ และถือเป็นหนึ่งในคัมภีร์สุดยอดที่ผู้นำ ผู้บริหารต้องปฏิบัติตาม ลองพิจารณาดูว่าทำไมในอดีตถึงไม่มีการพูดถึงเรื่อง Learn Unlearn Relearn มากเท่าในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าในอดีตใครจะไปคิดว่ารถจะขับเองได้ ใครจะไปคิดว่าเราจะไปซื้อของโดยไม่พกเงินสดติดตัวได้ หรือใครจะไปคิดว่าแม่ค้าในตลาดสดจะใช้ QR Code ได้

พูดง่าย ๆ คือโลกของเราเปลี่ยนไปแล้ว เราอยู่ในยุค Disruption ที่มีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นแบบไม่เคยพบไม่เคยเห็น หรือไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้ วิถีชิวิตของคนเราเปลี่ยนไปอย่างมาก รูปแบบการบริโภคก็พลิกโฉม สรุปคือว่าวันนี้เราไม่ได้อยู่ในสภาพเดิมแล้วเราจะอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นจากกระแส Disruption ส่งผลกระทบต่อเราในทุก ๆ ด้านทั้งเรื่อ

ส่วนตัวและเรื่องการดำเนินธุรกิจ การทำงาน นั่นแปลว่า สิ่งเดียวที่จะทำให้เราอยู่รอด หรือยิ่งไปกว่านั้นคือเติบโตต่อไปในยุคนี้ได้คือ เราต้องรู้จักที่จะ Learn Unlearn และ Relearn


ก่อนอื่นดิฉันอยากให้ทำความเข้าใจกับคำทั้ง 3 นี้ก่อน เพราะยังมีความสับสนกันอยู่มาก โดยต้องเข้าใจว่าการเรียนรู้นั้นไม่ใช่เพียงแค่การใส่ข้อมูลความรู้เข้าไปแค่อย่างเดียว หากแต่การเรียนรู้ที่ถูกต้องประกอบไปด้วย การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (Learn) การไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา (Unlearn) และการเรียนรู้สิ่งที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ ๆ (Relearn) ทั้งนี้ขั้นตอน Unlearn และ Relearn มักจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน เพราะว่าเคล็ดลับของการเรียนรู้ที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือความเต็มใจและยินดีที่จะยอมละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มา แล้วลองค้นหาวิธีการใหม่ ๆ มาทดแทน แม้ว่าวิธีการนั้น ๆ จะเคยนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีก็ตาม

หรืออาจกล่าวได้ว่า Learn หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คือการหาความรู้เพิ่มเติมหรือการรับรู้ข้อมูลบางอย่างผ่านการสังเกต การอ่าน และการได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ หรือมีการเรียนรู้ผ่านวิธีการอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เราเกิดและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทุกเหตุการณ์ในชีวิตต่างมีสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ เมื่อเราได้เรียนรู้สิ่งใดเป็นครั้งแรก เราจะให้ความสนใจที่จะเรียนรู้เพื่อให้ได้มุมมองที่กว้างขึ้นและได้ข้อสรุปในสิ่งนั้น

Unlearn คือการไม่ยึดติด ละทิ้งสิ่งที่เคยรู้มา ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรายอมเปิดรับมุมมองใหม่เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้อยู่แล้ว โดย Unlearn นับเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม Unlearn ไม่ได้หมายความเพียงแค่การลืมสิ่งที่เคยรู้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิเสธความเชื่อของตนที่เคยยึดถือปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ หรือเลิกยึดติดกับทฤษฎีที่ใช้กันมายาวนาน และก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องละทิ้งประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งหมด หรือบอกว่าวิธีการที่เราใช้มาในอดีตนั้นไม่สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงการกระตุ้นให้เราหมั่นเปิดรับแนวทางที่แตกต่างออกไปในการทำสิ่งต่าง ๆ

Relearn คือการเรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ และตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ที่เราได้รับจากมุมมองนั้น ๆ นั่นแปลว่าคนเราสามารถเรียนรู้บางอย่างในแง่มุมใหม่ได้เสมอ และเราสามารถพัฒนาความรู้และทักษะของเราได้ตลอดเวลา
เมื่อเข้าใจดังนี้แล้วจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ยากที่สุดใน 3 ประเด็นนี้คือ ทักษะในเรื่องของการ Unlearn เพราะหลาย ๆ ครั้งคนเราอาจจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจทำตัวเหมือนเป็นน้ำที่เต็มแก้ว ถึงแม้ว่าเราจะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ มา แต่ทว่าเรายังคงกลับไปใช้กระบวนการเดิม ซึ่งแปลว่ามันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะ Learn อะไรใหม่ ๆ

เพราะเหตุใด Apple จึงยังคงเป็นบริษัทชั้นนำที่ได้รับการกล่าวขานในเรื่องของนวัตกรรม เป็นบริษัทที่มีสินค้าใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครมาก่อน คำตอบก็คือหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรของเขาให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่อง Unlearn เขาสอนให้คนในองค์กรไม่ยึดติดว่าเราเจ๋ง หรือว่าเราเก่งกว่าใคร เพราะหากคิดว่าเจ๋งแล้ว ดีแล้ว เขาก็จะไม่คิดค้นสิ่งที่กว่าออกมา ซึ่งตรงนี้เห็นได้ชัดจากคำกล่าวของ Steve Jobs ที่บอกให้คน “Stay Hungry, Stay Foolish” หรือแปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า “จงกระหายและทำตัวให้โง่ตลอดเวลา” เพื่อกระตุ้นให้ตนเองอยากเรียนรู้นั่นเอง

นอกจากนั้น หากพูดถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก คำพูดของไอน์สไตน์ในหลาย ๆ ครั้งได้รับการถ่ายทอดมาเพื่อเป็นข้อคิด ยกตัวอย่างเช่น

“คนที่ไม่เคยทำผิดพลาดเลย คือคนที่ไม่เคยลองทำอะไรใหม่ ๆ” หรือ “จงเรียนรู้จากอดีต มีชีวิตเพื่อวันนี้ และมีความหวังเพื่อวันพรุ่งนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องอย่าหยุดตั้งคำถาม”

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเขาให้ความสำคัญในเรื่องการเรียนรู้อย่างมาก นอกจากไอน์สไตน์ เราจะเห็นได้ว่าบุคคลที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ ท่านล้วนแล้วแต่มีความเชื่อในเรื่องการเรียนรู้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกที่เราอยู่ตอนนี้ พลวัตการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกขณะ สิ่งต่าง ๆ ที่เราเคยเรียนรู้ และยึดถือปฏิบัติตามมาในอดีตอาจเกิดความล้าสมัยและไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการอีกต่อไปแล้ว

นักปราชญ์ชาวจีนเล่าจื้อ ได้กล่าวไว้ว่า

“ในทุก ๆ วัน เราได้เพิ่มความรู้ใหม่เข้ามา แต่แท้จริงแล้วเราต้องเรียนรู้ที่จะทิ้งสิ่งเก่าด้วยเพื่อรับรู้สิ่งใหม่ในทุกวัน เพราะถ้าเราไม่ทิ้งสิ่งเก่า เราก็ไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งใหม่ได้จริง” อีกทั้งยังบอกว่า“ถ้าอยากได้ความรู้ ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เพิ่มเข้าไปทุกวัน แต่หากอยากได้ปัญญา ต้องทิ้งบางอย่างออกไปในแต่ละวัน” เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วอะไรคือสาเหตุอะไรที่คนไม่ยอม Unlearn ?

แน่นอนว่าเรื่องน้ำเต็มแก้วอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นเป็นหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้คนไม่ยอม Unlearn การไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ด้วยเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองได้ประสบพบเจอมานั้นมีมากหลากหลาย เข้าทำนอง “อาบน้ำร้อนมาก่อน” เคยเจอมาแล้ว รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร เชื่อว่าวิธีแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ที่เคยทำมานั้นเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้แก้ไขปัญหาได้ครอบจักรวาล ทั้งที่ความจริงแล้วกาลเวลาสิ่งแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนไป อาจจำเป็นต้องค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการไขปัญหาข้ามผ่านอุปสรรคก็ได้ การไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้จึงเปรียบเสมือน “น้ำเต็มแก้ว” ที่ไม่ว่าจะพยายามเติมหรือนำเสนอความรู้ความคิดใหม่ ๆ อย่างไรก็ไม่สามารถทำได้

กลัวเสียหน้า  หลายคนเมื่ออยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูง ในฐานะผู้อาวุโสมีชั่วโมงบินสูงย่อมมีความมั่นใจในตัวเองหรือมีอีโก้มาก การพูดว่าตนเองไม่รู้จึงเป็นเรื่องที่ยากจะทำใจยอมรับได้ ถึงแม้บางคนอาจจะเริ่มสะกิดใจว่าตัวเองก็ไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง หรืออาจถูกทักท้วงแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากใจยังยึดติดกับสถานะผู้นำ หัวหน้า หรือผู้อาวุโส จึงกลัวว่าถ้าตัวเองรู้น้อยกว่าลูกน้องจะทำให้ไม่ได้รับการยอมรับนับถือ ถูกมองว่าเป็นผู้นำที่อ่อนด้อย ทั้งที่ความจริงแล้ว การอ้างว่ารู้มากรู้ดี แต่เมื่อความจริงปรากฏว่าไม่รู้หรือรู้ไม่จริงนั้น สามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่นและความน่านับถือลงไปได้หลายแต้มเลยทีเดียว
เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ผู้นำหัวเก่าหลายคนที่อยู่บนหอคอยงาช้างจำนวนมาก เคยชินกับการทำงานแบบบนลงล่างคือ สั่งการให้ลูกน้องทำตามคำสั่งเป็นลำดับชั้นลงไป นั่งโต๊ะสั่งการ-บริหารงานจากมุมมองของผู้บริหารเท่านั้น ไม่เรียนรู้ศึกษามุมมองอื่นจากผู้ปฏิบัติงาน ลูกค้า หรือหน่วยงานที่ร่วมงานกัน เรียกว่าเป็นการทำงานแบบทางเดียว คือสั่งการลงไปโดยไม่เปิดรับความคิดเห็นหรือผลตอบกลับที่ผู้ปฏิบัติงานจริงได้ประสบพบเจอมา จนในที่สุดเกิดภาวะ “แช่แข็ง” ทั้งด้านจิตใจและความคิดสร้างสรรค์ มองว่าความรู้บางอย่างไม่เกี่ยวข้องกับตน ไม่เห็นความสำคัญของการค้นคว้าหาสิ่งใหม่ ๆ มาใช้พัฒนางาน เชื่อว่าเดินมาถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้จึงหยุดเรียนรู้

สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่คนไม่ Unlearn ทั้งสิ้น โดยดิฉันเชื่อว่าการที่เราจะ Unlearn ได้เราต้องคว่ำแก้วน้ำของเราก่อน ต้องรู้สึกกระหายก่อนที่องค์กรจะส่งพนักงานไปเรียนสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้เขาพร้อมเติมเต็มอะไรใหม่ ๆ เข้ามา เพราะหากเราไม่คว่ำแก้วของเรา แน่นอนว่าเราก็คงไม่อยากเรียนรู้

คำถามคือ เราจะสามารถสร้างกลยุทธ์แห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไรในที่ทำงาน หลักการง่าย ๆ 5 ประการที่ดิฉันจะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ วิธีการเบื้องต้นที่ช่วยกระตุ้นให้บุคลากรเลิกยึดติดกับสิ่งที่เคยรู้มา เพื่อก้าวไปสู่การเรียนรู้ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

  • ขั้นตอนแรก ระบุสิ่งที่ต้องละทิ้งและสิ่งที่จะนำมาใช้แทน – เมื่อคุณกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอน คุณต้องลองฝึกถามตัวเองว่ากรอบความคิดเก่า ๆ เรื่องใดที่ใช้ไม่ได้แล้ว และจะต้องใช้มุมมองความคิดแบบใดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้น
  • ขั้นที่สอง อธิบายเหตุผลของความเปลี่ยนแปลง – โดยปกติหากคนเราเข้าใจเหตุผลที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราจะสามารถเปิดใจและพร้อมที่จะเลิกนิสัยและวิธีการเก่า ๆ ได้ดีกว่าการให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่รู้สาเหตุ
  • ขั้นที่สาม ให้ข้อมูลป้อนกลับ – เพราะคนเรามักไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรได้ดีหรือไม่ดี หรือมีอะไรที่ฉุดรั้งให้เราไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หรือไม่ การให้ข้อมูลป้อนกลับแบบ 360 องศา จึงเป็นเครื่องมือที่สามารถให้มุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ เมื่อคนเราได้รับข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของตนเองอย่างชัดเจน เขาก็จะรู้ว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่ควร Unlearn และตรงไหนบ้างที่ควร Relearn
  • ขั้นที่สี่ ให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการโค้ช – การเปลี่ยนนิสัยของตนเองโดยที่ไม่มีผู้ช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการโค้ชจะช่วยให้คนเราเลิกนิสัยเก่า ๆ และเริ่มปรับตัวเป็นคนใหม่ได้ง่ายขึ้นตามแนวทางที่วางไว้อย่างเป็นแบบแผน
  • ขั้นตอนสุดท้าย เริ่มต้นที่ตนเอง – ปัญหาที่พบในผู้นำหลายคนคือ พวกเขาต้องการให้ลูกน้องได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ตัวผู้นำเองกลับไม่สนใจที่จะทำเพราะคิดว่าการกระทำดังกล่าวให้ดีขึ้นเป็นเรื่องของลูกน้องเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ผู้นำที่ดีต้องเริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องที่ตนเองก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีและเพื่อกระตุ้นให้ผู้อื่นดำเนินรอยตาม

นอกจากนั้น ในฐานะผู้นำองค์กรคุณควรที่จะเร่งสร้าง Learning Culture ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง สร้างเวทีให้เกิดการทดลอง ลงมือทำ ให้มีวัฒนธรรมแห่งการ Learn Fast, Fail Fast and Move Forward ได้อย่างรวดเร็วเพื่อความก้าวหน้าขององค์กร…

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท SEAC