Fast forward 10X เข็มทิศธุรกิจ ‘โอสถสภา’

“องค์กรที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน คือ องค์กรที่สามารถสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพและมีความสามารถเพื่อช่วย ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”

องค์กร 130 ปีอย่าง บมจ. โอสถสภา ผู้นำทัพอย่าง ‘วรรณิภา ภักดีบุตร’ วางยุทธศาสตร์ Fast forward 10X เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืนในปี 2025 เพื่อแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ขององค์กร ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้อย่างน่าสนใจ

ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวหลายอย่าง โอสถสภาเองก็เช่นกัน เรามีการปฏิรูปองค์กรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการ Fast forward 10X ใน 5 ด้าน คือ 1. Cost transformation บริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่น การต่อรองราคาวัตถุดิบที่สำคัญ และการปรับปรุงประสิทธิภาพทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 2. Hybrid Workforce Transformation การจัดการทรัพยากรบุคคลแบบผสมผสานให้สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจและวิถีการทำงานรูปแบบใหม่ ที่คนและองค์กรเติบโตไปด้วยกัน 3. Process Transformation พัฒนากระบวนการทำงานที่คนและเทคโนโลยีทำงานร่วมกัน 4. Function Transformation เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงานของสายงานให้ตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคต และ 5. Asset Transformation บริหารจัดการหรือเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์ให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ยังได้จัดทำ Roadmap ความยั่งยืน เพื่อแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ขององค์กรในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

“วิสัยทัศน์ของโอสถสภา คือ พลังเพื่อเสริมสร้างชีวิต ซึ่งเราเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นเสริมสร้างชีวิตให้แก่ผู้บริโภคและสังคม ด้วยผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยมีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นผลสำเร็จในการดำเนินงานที่เป็นเลิศและยึดหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้นเรากำหนดประเด็นทางด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์บริษัท

 

กลยุทธ์ความยั่งยืนองค์กร หรือกลยุทธ์ 3+1 ซึ่งประกอบไปด้วยเสาหลักทางด้าน ESG และรากฐานที่สำคัญคือ พนักงานของเรา (People) โดยกลยุทธ์ได้ถูกขับเคลื่อนผ่านคณะทำงานร่วมของแผนกที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานเฉพาะทางด้านความยั่งยืน รวมถึงการรายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการบริษัท นอกเหนือจากผลสำเร็จของการเติบโตของธุรกิจ ตัวชี้วัดทางด้าน ESG ได้ถูกนำมาใช้เป็นดัชนีชี้วัดผลงาน และเรา (โอสถสภา) มุ่งมั่นในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพผ่านการส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นส่วนส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้มีส่วนได้เสีย

 

และหนึ่งในเป้าหมายบริษัทฯ ปี 2568 คือ การปรับปรุงสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มหลักของบริษัทคือ กลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงานและกลุ่ม Functional drink ให้มีส่วนประกอบของน้ำตาลลดลง ซึ่งจะครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่และเดิม โดยผลการดำเนินการในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 สินค้าเครื่องดื่มในประเทศไทย 100% ได้ปรับลดน้ำตาลลงต่ำกว่า 6% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล เปิดตัวผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้าแบบ 2-in-1 ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดถึง 13% ในการซื้อแต่ละครั้ง ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ และสูตรผลิตภัณฑ์โดยรวมได้รับการยกระดับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศในการดำเนินงาน อาทิ  ลดการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำ การจัดการของเสีย ตลอดจนการดำเนินด้านบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน และได้เปิดเผยผลการดำเนินงานด้าน ESG ตามมาตรฐาน Global standard of sustainability impacts (GRI)

 

และสนับสนุนสังคมผ่านโครงการความรับผิดชอบทางสังคมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอย่างหลากหลาย อาทิ การสร้างงานสร้างอาชีพแก่คนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางในสังคมให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างยั่งยืน, การสนับสนุนเกษตรกรยกระดับการจัดการแปลงและการปลูกพืชสมุนไพร การจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชน “จากขวดแก้ว สู่ขวดแก้ว” (Bottle to Bottle) และ “โอสถสภา Go Green” การสนับสนุนกีฬา การบริจาคและลงทุนเพื่อสังคม เป็นต้น

 

ตลอดจนกำหนดแนวทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์เพื่อสนับสนุนผลสำเร็จขององค์กร ที่มีความยืดหยุ่นตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของช่วงวัย และในปีนี้โอสถสภาได้เพิ่มความเข้มข้นในการนำ Human Right Policy มาปฏิบัติในองค์กร เน้นถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกันตามมาตรฐานระดับสากล โดยคำนึงถึงความเสมอภาค ไม่แบ่งแยก การส่งเสริมความเท่าเทียม และการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีกระบวนการรับฟังเสียงและความต้องการของพนักงาน ตัวอย่างเช่น การจัดให้มีสวัสดิการแบบยืดหยุ่น (Flexible Benefits) เวลาและสถานที่ในการทำงานที่ยืดหยุ่น การจัดพื้นที่ในองค์กรและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการปลูกฝังพฤติกรรมความปลอดภัยให้แก่พนักงานเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ

 

ด้วยผลงานที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่า คุณวรรณิภา ได้วางเข็มทิศของบมจ. โอสถสภา ได้อย่างมั่นคง และเธอได้กล่าวทิ้งท้าย ว่า “ปีที่ผ่านมาเป็นอีกปีแห่งความผันผวนและท้าทายอย่างมาก โอสถสภาจึงเน้นการสื่อสารให้เข้าถึงพนักงานทุกระดับ เพื่อให้รับรู้และเข้าใจเป้าหมายและกลยุทธ์องค์กรให้ทุกคนทราบถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่ามีความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายอย่างไร ผ่านผู้บริหารและหัวหน้างาน ตลอดจนเน้นการปรับตัวให้รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และแนวทางการทำธุรกิจในอนาคต และพัฒนาศักยภาพคนเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจ (Upskill Reskill New skill) ด้วยการสร้าง Ecosystem และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพและต่อยอดให้ธุรกิจ รวมถึงปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานแบบโอสถสภา Faster Better Together”

 

เขียนและเรียบเรียง : วิทยา กิจชาญไพบูลย์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS