OR เข้าซื้อหุ้น ‘KAMU’ ขายชาไข่มุกสูงสุดแก้วละ 120 บ. จะต้องใช้เวลาคืนทุนกี่ปี?

บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ประกาศว่าที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นของ บริษัท คามุ คามุ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีคือชานมไข่มุก KAMU จากผู้ถือหุ้นเดิมมูลค่าไม่เกิน 480 ล้านบาท โดย OR ได้ส่งบริษัทย่อยคือ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ (Modulus) เข้าไปถือหุ้น 25%

โดย OR ระบุว่า การเข้าซื้อในครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเข้ามาช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้า จากเดิมที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า OR เป็นเจ้าของกาแฟชื่อดังอย่าง ‘อเมซอน’ และยังมีแบรนด์ร้านอาหารภายใต้การบริหารอีกมากมาย เช่น โอ้กะจู๋ และ Texas Chicken

ซึ่งครั้งนี้ Business+ จะเจาะข้อมูลเฉพาะในส่วนของชานมไข่มุก KAMU จากข้อมูลผลประกอบการของ KAMU

– ในปี 2560 มีรายได้ 67 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 6 ล้านบาท
– ในปี 2561 มีรายได้ 154 ล้านบาท กำไรสุทธิ 21 ล้านบาท
– ในปี 2562 มีรายได้ 405 ล้านบาท กำไรสุทธิ 69 ล้านบาท
– ในปี 2563 มีรายได้ 362 ล้านบาท กำไรสุทธิ 97 ล้านบาท

โดยอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยต่อปี (CAGR) คือ 239.71% ซึ่งราคาสินค้าของ KAMU มีตั้งแต่ 40 บาท ไปจนถึง 120 บาท

ทั้งนี้เรามาลองวิเคราะห์จากผลประกอบการและเงินลงทุน ว่า ดีลนี้จะสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทได้มากน้อยแค่ไหน และคืนทุนในระยะเวลาเท่าไหร่?

หากคำนวนแบบกำปั้นทุบดินจากสัดส่วนที่ มอดูลัส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR (OR ถือหุ้น 100%) เข้าไปถือหุ้น 25% เท่ากับว่า มอดูลัส จะบันทึกเฉพาะในส่วนของกำไรของ KAMU ตามสัดส่วนการถือหุ้น คือ 25% ของกำไรสุทธิทั้งหมด

ทาง ‘Business+’ จึงประเมินกำไรจาก KAMU ที่ มอดูลัส จะบันทึกเข้ามาคือราว ๆ 24.25 ล้านบาท (คำนวณจากกำไร 97 ล้านบาทในปี 2563) และการที่ มอดูลัส เป็นบริษัทย่อยของ OR (ถือหุ้น 100%) จะทำให้ OR บันทึกทั้งรายได้และกำไรจาก มอดูลัสได้ทั้งหมด 100% คือ 24.25 ล้านบาท เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินจากอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิจะเห็นว่า KAMU มีการเติบโตที่ก้าวกระโดด ดังนั้นในปี 2564 หากประเมินการเติบโตแบบเว่อวังอลังการว่า KAMU จะเติบโตได้ปีละ 1 เท่าตัว (100%) อาจจะได้เห็นการเติบโตของกำไรสุทธิขึ้นไปแตะระดับ 194 ล้านบาท (บนสมมุติฐานการเติบโต 100% จากปี 2563)

และในปี 2565 อาจจะได้เห็นการเติบโตของกำไรสุทธิขึ้นไปแตะระดับ 388 ล้านบาท ดังนั้นในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ OR จะสามารถบันทึกกำไรจาก KAMU ได้เต็มปี ซึ่งการรับรู้กำไรตามสัดส่วนถือหุ้น คือ 97 ล้านบาท

เท่ากับว่า ดีลนี้จะคืนทุน (Pay Back Period) ภายใน 4 ปี 9 เดือน นั่นเอง คำนวนจากมูลค่าเข้าซื้อ 480 ล้านบาท บนเงื่อนไขที่ KAMU เติบโตได้ปีละ 1 เท่าตัว (ยังไม่รวมต้นทุนอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมเงินทุน และความอ่อนไหวจากผลกระทบด้านบวก หรือลบอื่น ๆ)

ถึงแม้จำนวนเงิน 97 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 1.10% จากกำไรสุทธิรวมในปี 2563 แต่แน่นอนว่า การเข้าลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน (non-oil) ทำให้ OR มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ non-oil มากขึ้น และสัดส่วนธุรกิจน้ำมันลดลง ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ OR ที่จะลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันลง เพราะน้ำมันนั้น เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป หรือใช้เวลานานกว่าจะกว่าจะเกิดขึ้นมาทดแทน

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : SET , OR ,KAMU

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #SET #OR #KAMU #ชานมไข่มุก