เมื่อปลาใหญ่บุกมหาสมุทร NFT ครีเอเตอร์รายย่อยจะอยู่รอดอย่างไร?

ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงได้ทราบข่าวการเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทเอ็นเตอร์เทนเม้นท์รายใหญ่ของไทย ที่กระโดดลงมาสู่มหาสมุทรคริปโตเคอร์เรนซีอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น การมาของเหรียญดิจิทัล ‘POPCOIN’ จาก RS หรือ GMM และ LOVEiS ที่ขยายตลาดสู่อุตสาหกรรม NFT 

 

ความร้อนแรงในโลกในสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ ได้การยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นที่น่าสนใจว่าการที่รายใหญ่ขยายตัวเข้ามาเพิ่มมากขึ้นนั้น จะผลส่งกระทบต่อสถานการณ์ตลาด NFT อย่างไร? และเหล่าครีเอเตอร์รายย่อยจะยังสามารถอยู่รอดได้หรือไม่?

 

Business+ จึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องตลาดคริปโตฯ เพื่อไขข้อสงสัย พร้อมมุมมองตลาด และแนวทางการปรับตัวการโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ขอเกริ่นก่อนสำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจว่า NFT คืออะไร

 

NFT หรือ Non-Fungible Token เป็นคริปโตเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมูลค่าของแต่ละจะแตกต่างกัน มีเพียงชิ้นเดียว ไม่สามารถทดแทน คัดลอก หรือทำซ้ำได้ ตรงข้ามกับเหรียญฯ อื่น ๆ เช่น Bitcoin หรือ Dogecoin ที่แต่ละเหรียญมีมูลค่าเท่ากัน 

 

ซึ่ง NFT ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้กับอุตสาหกรรมเอนเตอร์เทนเมนต์ ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพศิลปะ ภาพถ่าย ภาพ MEME  วิดีโอ เกม การ์ตูน หรือโมเมนต์ต่าง ๆ ครอบคลุมทุกวงการงานศิลปะทุกแขนงทั่วโลก

 

ด้วยเหตุนี้เองคริปโตฯ ที่รวมถึง NFT จึงเป็นมหาสมุทรแห่งใหม่ที่น่าจับมองของผู้เห็นโอกาส ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กรายใหญ่ก็ล้วนอยากกระโดดลงเล่นด้วยกันทั้งนั้น

 

“ใครก็ออกเหรียญฯ ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างมูลค่าได้”

 

ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนถึงการเคลื่อนไหวแรกของบริษัทสายเอนเตอร์เทนเมนต์สู่ตลาดคริปโตฯ นั้น เริ่มจาก RS ที่ผันตัวเองสู่ Entertainmerce อย่างเต็มรูปแบบ มีการขยายธุรกิจไปมากกว่าสื่อ ครอบคลุมไลน์ธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งปลายปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการนำเสนอ ‘POP COIN’ สินทรัพย์รูปแบบดิจิทัล ที่สามารถนำมาใช้แลก (ได้ในปี 2565 ) ครอบคลุมจักรวาลกับสินค้าและบริการของบริษัทฯ 

 

โดยนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การออกเหรียญฯ มาสู่ตลาดไม่ใช่เรื่องยาก แต่การสร้างมูลค่าเพื่อให้คนเข้ามาใช้ และเกิดมูลค่าได้นั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ ความน่าสนใจ คือ RS ใช้วิธีสร้าง Ecosystem และวางกลยุทธ์การใช้งานของเหรียญฯ ได้ดี เพราะนอกจากสามารถแลกเปลี่ยนเหรียญฯ เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หรือของสะสมทางใจจากฝั่งเอนเตอร์เทนเมนต์ได้ ทั้งยังมีการวางกลยุทธ์สำหรับผู้บริโภคที่ไม่ได้มองเรื่องการใช้งาน โดยมีการเพิ่มช่องทางที่สามารถนำไปฝากเพื่อเพิ่มมูลค่าของเหรียญฯ ได้ หรือที่เรียกว่า ‘Staking’ คือ การนำเหรียญไปฝากเอาไว้เพื่อรอผลกำไร หรือดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด 

 

ส่วนการมาของ GMM และ LOVEiS คือ การเคลื่อนตัวของธุรกิจที่ขายความเป็น ‘ลิขสิทธิ์’ อยู่แล้ว ขยายโอกาสสู่ตลาดที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม และสนใจในสินค้ากลุ่มประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เพลง หรือ สินค้าและผลงานของศิลปินรุ่นใหญ่ ซึ่งก็ถือเป็นการต่อยอดที่น่าสนใจ กับการไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ วิ่งแซงตัวเอง

 

“อาจมีกระทบบ้าง ในอีกทางก็เป็นโอกาสขนาดใหญ่ของรายย่อย”

 

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจต่อมา คือ แล้วการที่รายใหญ่ก้าวสู่ตลาด NFT ในครั้งนี้ คงไม่ใช่แค่ครั้งแรกและเป็นครั้งเดียว ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีบริษัทรายใหญ่อีกมากมายที่กระโดดลงมาเล่นด้วยเช่นกัน คำถามคือ แล้วครีเอเตอร์รายย่อยทั้งหลาย ที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียง หรือคอนเน็กชันมากนักจะสามารถอยู่ได้อย่างไร? 

 

สำหรับนักวิเคราะห์มองว่า จริง ๆ แล้วตลาด NFT ในไทย ยังเป็นตลาดที่เฉพาะกลุ่ม ซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการเข้าใช้งานที่หลายคนมองว่ายุ่งยาก และยังไม่แน่ใจกับความปลอดภัยในโลกดิจิทัล 

 

และถึงแม้ว่าการมาของรายใหญ่จะเป็นเงาบังรายย่อยไปบ้าง แต่หากเหล่าครีเอเตอร์มีการปรับตัวอยู่เสมอ ก็อาจเป็นเวทีที่ได้แสดงศักยภาพต่อสายตาผู้คนมากขึ้น

 

“ปีนี้คึกคัก ปีหน้าสนุกกว่าเดิม และท้าทายสำหรับหน่วยงาน”

 

นักวิเคราะห์มองว่า สำหรับปีที่ผ่านมาโลกของคริปโตฯ รวมถึง NFT จะคึกคักเป็นอย่างมาก ซึ่งในปีหน้าก็จะไม่แผ่วลงเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นที่ปีที่สนุกกว่าเดิม ด้วยปัจจัยการตื่นตัวที่ผู้คนให้ความสนใจเรื่อง Metaverse มากขึ้น จึงจะเป็นเทรนด์สำคัญที่ทำให้ตลาด NFT ขยายตัวขึ้น และสร้างมูลค่าอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะทั้ง 2 อย่างมีความเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเล่นเกม หรือการสร้างงานศิลปะต่าง ๆ ซึ่งก็จะส่งผลต่อมาให้เกิดความหลากหลายของ Marketplace มากขึ้นไปด้วย

 

ส่วนตลาดประเทศไทย ภาคธุรกิจจะยิ่งเติบโตมากขึ้นทุกวัน เพราะเทคโนโลยียังคงพัฒนาและเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่สำคัญกระแสของสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้การยอมรับมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่หน่วยงานระดับโลก และระดับประเทศเริ่มเข้ามีบทบาท รวมถึงขอความร่วมมือให้มีการกำกับดูแลทรัพย์สินดิจิทัล

 

เรียกได้ว่าโลกของคริปโตเคอร์เรนซียังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทั้ง NFT และ Metaverse มีแนวโน้มร้อนแรงในตลาดอย่างต่อเนี่อง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังได้ทิ้งท้ายฝากถึงมือใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดคริปโตฯ สิ่งสำคัญ คือเข้าใจธรรมชาติของคริปโตฯ และมีทักษะ ‘Do Your Own Research’ หรือ การศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่อ่านเพื่อเชื่ออย่างเดียว แต่ต้องพิจารณา ‘Fact’ หรือ ข้อเท็จจริงของข้อมูลที่ไม่ใช่กระแส 

 

ที่สำคัญ คือ ไม่อยากให้กู้เงินมาเพื่อลงทุนในคริปโตฯ แต่ให้ลงทุนในจำนวนทุนที่เรามี และสามารถยอมรับได้เมื่อสูญเสียเงินส่วนนี้ไป …

 

เขียนและเรียบเรียง : ธนัญญา มุ่งสันติ