สิ่งที่น่าจับตามองจากดีล OR กับ ‘บุญรอดฯ’ Joint Venture ครั้งนี้ได้อะไรมากกว่าที่คิด

เกิดการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอีกครั้งสำหรับการขยายธุรกิจของบิ๊กใหญ่พลังงานอย่าง ‘OR’ กับดีลใหม่ล่าสุดที่ได้พี่ใหญ่วงการเครื่องดื่มอย่าง ‘บุญรอดฯ’ เจ้าของเบียร์สิงห์ และลีโอ (ผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในไทย)

ซึ่งแผนการร่วมมือกันครั้งนี้ดูเหมือนจะเริ่มต้นด้วยเม็ดเงินไม่มากนักสำหรับ 2 ยักษ์ใหญ่ (210 ล้านบาท) แต่ถ้าหากดูความสามารถในการเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมของทั้งคู่ บวกกับธุรกิจที่มีอยู่ในมือของบุญรอดฯ ซึ่งมีตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ จึงเชื่อว่าการเปิดหัวด้วยความร่วมมือเล็กๆ นี้จะเป็นใบเบิกทางที่ทำให้เกิดการขยายไปยังธุรกิจใหม่ได้อีกมากมาย และเป็นไปตามเป้าหมายของ OR ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนธุรกิจ Non-oil ดังนั้น ดีลนี้จึงถือเป็นดีลที่ต้องจับตากันไปอีกยาวๆ

โดยเช้าวันนี้ (8 มิ.ย.2565) บริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR แจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากบอร์ดของบริษัทได้เห็นพ้องต้องกัน และอนุมัติแผนการส่ง บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) บริษัทย่อยของ OR ตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด (บุญรอดฯ) ซึ่ง Modulus และบุญรอดจะถือฝ่ายละ 50% โดยที่เงินลงทุนของ Modulus จะอยู่ภายในวงเงินไม่เกิน 210 ล้านบาท

สำหรับแผนการร่วมมือกันครั้งนี้เพื่อลุยธุรกิจผลิตและขายเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม โดยคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ช่วงไตรมาส 3 ปี 2565

ถึงแม้การเข้าลงทุนครั้งนี้จะใช้เม็ดเงินไม่มาก และไม่ใช่รายการที่ใหญ่โตจนเข้าข่ายต้องรายงานสารสนเทศตามหลักเกณฑ์การได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน แต่ก็ถือเป็นการได้มาซึ่งเงินลงทุนในบริษัทอื่นที่ OR มีอำนาจควบคุมอยู่

เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมดีลครั้งนี้ถึงน่าจับตามองกันอีกยาวๆ สาเหตุเป็นเพราะ คู่หูที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์สำหรับการผลิตและขายเครื่องดื่มสำเร็จรูปให้กับ OR เป็นถึงยักษ์ใหญ่ในตลาดเบียร์ของไทยซึ่งมีรายได้มากถึงปีละ 107,369 ล้านบาท (2563)

แถมยังมีธุรกิจด้านเครื่องดื่มหลากหลาย ทั้งผลิตและจัดจำหน่ายไม่จำกัดเฉพาะเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ แต่ไล่เรียงมา ตั้งแต่น้ำดื่ม น้ำแร่ เครื่องดื่มผสมวิตามิน รวมถึงธุรกิจอาหาร

โดยผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
– น้ำดื่มตราสิงห์
– โซดาตราสิงห์
– น้ำแร่เพอร์ร่า
– เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์
– น้ำดื่ม FIJI
– เบียร์สิงห์
– เบียร์สิงห์ไลท์
– เบียร์ลีโอ
– สิงห์ เลมอนโซดา
– MY BEER
– U Beer (ยกเลิกการผลิตไปเมื่อเดือนตุลาคม 2563)
– สโนวี่ ไวเซ่น (หลายคนเรียกเบียร์หมี)
– คาร์ลสเบิร์ก
– เบียร์โคโรนา
– อาซาฮี
– Est 33 Kopper
– โครเนนเบิร์ก1664 บลองเบียร์
– จินโร โซจู
และยังมีสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม เช่น ขนมขบเคี้ยว มาชิตะ รวมไปถึงข้าวสาร ตรา ‘ข้าวพันดี’

ซึ่งคุณสมบัติที่เป็นจุดแข็งของ ‘บุญรอดฯ’ นอกจากเรื่องของส่วนแบ่งการตลาดแล้ว ยังมี คุณสมบัติของธุรกิจที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะบุญรอดฯ มีบริษัทโฆษณา ทำอีเวนท์ จัดจำหน่าย ทำการตลาด โลจิสติกส์ฯ ซึ่งถือว่าครบถ้วนตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ

ดังนั้น เมื่อนำจุดแข็งในทุกๆ ด้านที่บุญรอดมีอยู่ในตลาดเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ให้กับ OR สิ่งที่น่าจับตามองต่อจากนี้คือ การผลิตและขายเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่มของตัวเอง (ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วไป)

โดยปัจจุบันพอร์ตเครื่องดื่มที่ OR มีคือธุรกิจกาแฟอเมซอน ,แบรนด์ชาขมไข่มุก ‘คามุ ที’ (ถือหุ้น 25%) และ Pearly tea แต่ยังไม่มีเครื่องดื่มสำเร็จรูป ซึ่งเป็นที่รู้ดีอยู่แล้วว่า OR มีจุดแข็งในแง่ของร้านสะดวกซื้อที่ครอบคลุม (7-11 ซึ่งเช่าพื้นที่ของปั๊มน้ำมันปตท.อยู่) และการบริหารจัดการพื้นที่ในปั๊มน้ำมัน

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เองจะสร้างจุดแข็งให้กับ OR หากสามารถผลิตเครื่องดื่มสำเร็จรูปออกมาขายด้วยแบรนด์ของตัวเองจริงๆ ด้วยการใช้ Know How จากบุญรอดฯ จะเพียบพร้อมตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การจัดจำหน่าย รวมไปถึงการโฆษณา ไปจนถึงทำการตลาด

และยังสามารถทำให้ OR ที่ต้องการขยายธุรกิจ Non-oil ให้ได้มากที่สุดก้าวเข้าถึงเป้าหมายไปอีกขั้น นั่นเพราะธุรกิจน้ำมันมีอัตรากำไรค่อนข้างต่ำ แต่เครื่องดื่ม และอาหารมีอัตรากำไรที่สูงกว่า โดยปี 2564 มีรายได้ 237,168 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิเหลือเพียง 7,228 ล้านบาท (คิดเป็นเพียง 3% สาเหตุจากธุรกิจน้ำมันที่มีกำไรต่ำ)

ดังนั้น ต่อจากนี้เชื่อว่าเราจึงได้เห็นการซื้อกิจการ และการลงทุนในธุรกิจ Non-oil ของ OR เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา : SET , singhacorporation

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ธุรกิจ #อุตสาหกรรม #งบประมาณรายจ่าย