สมรภูมิ Online Food Delivery ไทยเดือด!!

ไทยถือเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิการแข่งอันดุเดือดของอุตสาหกรรม Online Food Delivery จากทั้งผู้เล่นภายนอกประเทศหลายรายตั้งแต่ Line, Pandafood, Grab และ GET (ที่ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็น Gojek) ล้วนแล้วแต่อยู่ในฐานะของ Super Apps ที่มีบริการมากมายให้ผู้บริโภคเลือกกินเลือกใช้

ล่าสุดผู้เล่นภายในประเทศอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยผ่าน SCB 10X ได้เปิดตัว Online Food Delivery ภายใต้ชื่อว่า Robinhood ซึ่งไอเดียการสร้างแอปพลิเคชั่น Food Delivery โดยใช้ชื่อ Robinhood นั้นได้แนวคิดมาจากบริษัทในต่างประเทศชื่อว่า Robinhood ที่ทำเรื่อง Security Trading โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ตรงกันกับ Food Delivery ใหม่ของทาง SCB ที่ไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม ไม่มีค่าสมัคร และไม่คิดค่า GP (Gross Profit)

ตรงนี้ทำให้ร้านอาหารได้เงินครบทุกบาท ลูกค้าได้จ่ายตามจริงและค่าส่งจริงไม่มีบวกเพิ่มแต่อย่างใด แถมมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นด้วย ถือเป็นรูปแบบโครงการ CSR ของ SCB เพื่อคืนกำไรให้สังคม

ในฟากของธนาคารยักษ์ใหญ่อีกรายของไทยอย่าง ธนาคารกสิกรไทย (Kbank) ผ่านบริษัทกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘Eatable’ แพลตฟอร์มบริการสั่งอาหารรูปแบบใหม่แบบครบวงจร 3 รูปแบบ (3D) ประกอบด้วย การนั่งทานอาหารในร้าน (Dine-In), การรับอาหารภายในร้าน (Dine-Out) และการสั่งอาหารมาทานที่บ้าน (Delivery) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ลูกค้า และคนส่ง ได้รับประโยชน์โดยพร้อมเพรียงกัน

โดยมีวัตถุประสงค์สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารให้สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการให้บริการ รวมถึงมีเครื่องมือในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของตัวเองให้ทันกับยุคของ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นอย่างทันสถานการณ์

ซึ่งเป็นบริการที่สามารถใช้ได้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใหม่ (ใช้งานผ่าน URL หรือ QR Code) โดย Eatable มีจุดแข็งอยู่ที่การสร้างประสบการณ์การสั่งอาหารที่สะดวกสบาย ลดความเสี่ยงในการระบาดของ Covid-19 ด้วยเทคโนโลยี Contactless เช่น Dine-In QR Ordering ที่เมื่อลูกค้าเข้ามาในร้านก็สามารถสั่งอาหารได้ทันทีผ่านการสแกน QR Code ไม่จำเป็นต้องรอเมนูหรือพนักงาน (ตัว QR ยังใช้เรียกพนักงานเมื่อต้องการได้รับบริการได้อีกด้วย) ลดโอกาสสัมผัสความเสี่ยงจากเชื้อโรค และยังช่วยให้ผู้ทานอาหารสามารถสั่งอาหารร่วมกันผ่านสมาร์ทโฟนของตัวเองได้ ผ่านฟีเจอร์ Order Along สำหรับการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ ทาง Eatable ก็จะไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP จากร้านอาหาร และเจ้าของร้านสามารถเลือก Rider หรือสายส่งที่คุ้มค่ากับออร์เดอร์นั้น ๆ ได้ผ่านฟีเจอร์ Express Link (ทางร้านจัดส่งเอง, Line, Get, Grab, Lalamove หรือ SKOOTAR) โดยที่ร้านอาหารก็ไม่ต้องบวกราคาค่าอาหารเพิ่ม

แต่คำถามตัวโตคือแล้ว SCB กับ Kbank จะได้อะไรจากการทำแบบนี้ แน่นอนว่า SCB และ Kbank ทั้งคู่คือบริษัทเอกชน หากลงทุนอะไรแล้วไม่หวังผลกลับมาออกจะน่าเหลือเชื่อไปนิด เพราะต้องไม่ลืมว่าเบื้องหลังคำว่า Robinhood และ Eatable ก็คือการลงทุนทางเทคโนโลยีผ่านทรัพยากรทั้งเงินและมนุษย์อย่างมหาศาล ซึ่งหากไม่มีผลรับกลับมาก็เป็นบริษัทเองที่ต้องแบกรับการขาดทุนเอาไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะไปส่งผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทของตัวเองต่อไปในอนาคตด้วย

ถ้าวิเคราะห์จากมุมมองของ SCB ผ่านมุมมองของคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ว่า

“Robinhoodเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อแข่งขันกับใครหรือต้องการเป็นเจ้าตลาด แต่พัฒนาโดยใช้มุมมองของลูกค้าเป็นตัวตั้ง เน้นที่ประสบการณ์ของลูกค้าหรือ Customer Experience แล้วค่อยๆ พัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีลูกค้ากี่ราย มุ่งหวังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคม สำหรับร้านอาหาร หากคิดว่าได้รับประโยชน์ ก็จะมาร่วมกัน ส่วนในมุมของผู้ซื้อถ้าประสบการณ์ในการใช้งานดี ก็จะอยากใช้งานต่อไป และเพราะโครงการนี้เริ่มต้นจากการเป็น CSR ที่ทำเพื่อสังคมจริงๆ จะไม่มีกำไรจากการให้บริการ Food delivery เข้า SCB แต่อย่างใด ซึ่งถ้าในอนาคตแพลตฟอร์มตรงใจร้านค้า ตรงใจลูกค้าและมีฐานลูกค้าที่ใหญ่พอ ก็อาจทำมากกว่าเรื่องอาหาร โดยอยากให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สร้างความผูกพันกับลูกค้า อยากให้ลูกค้าใช้เวลาอยู่กับแอปนาน ๆ”

ส่วนมุมมองของ คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บอกว่า

“Eatable ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเรา เพราะผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของ KBank คือหัวใจหลักของเรา การช่วยให้พวกเขาอยู่รอด มีรายได้ที่ดี ปรับร้านอาหารไปสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน จะนำไปสู่การต่อยอดบริการเเละผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร ก็เป็นเป้าหมายของเเพลตฟอร์มนี้เเล้ว”

โดย คุณเรืองโรจน์ ผู้บริหาร KBTG ไม่เปิดเผยถึงงบประมาณในการลงทุนที่เป็นตัวเลข บอกแค่ว่า ต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างเยอะทั้งในส่วนปฏิบัติการและการประสานงาน แต่มองว่าคุ้มเพราะ “ถ้าลูกค้ามีความสุข เขาก็จะอยู่กับเรานาน” ส่วนแนวทางการทำเงินในอนาคต คุณเรืองโรจน์ย้ำว่า Eatable จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการทุกรายผ่านวิกฤตและกลายเป็นผู้ชนะไปพร้อม ๆ กัน แทนที่จะมองถึงประเด็นการ Monetize ทำเงิน

จะเห็นว่าเป้าหมายในระยะสั้นของ SCB และ Kbank ดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปที่การเก็บ Data ของลูกค้าเป็นหลัก และสร้าง Customer Experience ให้กับลูกค้ามีต่อแพลตฟอร์มของตัวเอง ที่วันหนึ่งอาจจะแปรสภาพไปเป็นอย่างอื่นได้

เช่น การปล่อยกู้แบบ Micro-Lending ซึ่งถ้า SCB และ Kbank มีประวัติลูกค้าอยู่ในมือก็ง่ายที่จะตรวจสอบและอนุมัติสินเชื่อ (และไม่ใช่แค่ประวัติร้านค้าจากฐานลูกค้าเดิมที่ทำ QR อย่างแม่มณี แต่กำลังหมายถึงทั้งระบบ เช่น Partner อย่าง Skootar ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการส่งเอกสารในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่จะมาทำหน้าที่เป็น Rider ให้กับ Robinhood และ Eatable ตรงนี้มีคนเกี่ยวข้องอีกกี่คน? และ Partner อื่น ๆ อีก) แถมยังติดตามดูเงินที่ถูกใช้ออกไปได้อีกด้วยว่าตรงตามวัตถุประสงค์ที่ขอรึเปล่า

เพราะ NPL (หนี้เสีย) ในประเทศจำนวนไม่น้อยมาจากการกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ นอกจากนั้นก็มีการขายประกันแบบที่เรียกใช้ตามจริง (On-Demand) ก็จะง่ายขึ้น รวมถึงบริการอื่นในอนาคตด้วย

แต่เป้าหมายระยะยาวที่น่าสนใจคือเส้นทางของการก้าวเป็นไป Super-Application อย่างที่ Alibaba และ Xiaomi เป็น ซึ่งทาง คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร ผู้ที่ดูแลรับผิดชอบโปรเจคนี้ ภายใต้ชื่อ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ที่ทาง SCB 10X ถือหุ้น 100% ได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า

“Robinhood คือ แอปเล็ก ๆ เป็นทางเลือก ไม่ได้เน้นแข่ง ไม่ได้เน้นทำกำไร แต่ใครจะรู้ว่า แอปเล็ก ๆ นี้อาจพัฒนาไปเป็น Super App ในอนาคต โดยมีจุดเริ่มต้นจาก Food Delivery ถ้าพลังของการเป็นแอปคนไทย ไม่เก็บค่าธรรมเนียม เคลียร์เงินเร็ว ทำให้มีผู้ใช้จำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ การต่อยอดบริการใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปก็ทำได้ไม่ยากนัก”

ต้องบอกว่าภาพค่อนข้างชัดเจนว่า Robinhood และ Eatable จะยังไม่สามารถสร้างรายได้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งแหล่งเงินที่จะมาอุดหนุนคงเป็นทาง SCB 10X และ KBTG ซึ่งต้องใช้เงินต่อปีอยู่ที่ราว ๆ 100 ล้านบาท แต่ถ้าประสบความสำเร็จ ในระยะยาว Robinhood และ Eatable ก็จะกลายสภาพเป็นผู้ให้บริการทางการเงินกับลูกค้าทุกกิจการที่อยู่ใน Ecosystem ของ SCB และ Kbank แบบครบวงจรในทุก ๆ มิติเลยด้วย

เพราะฉะนั้นการที่ทั้งสองบริษัทยอมเจ็บตัวในระยะสั้น ก็เพื่อผลลัพธ์ในระยะยาวของมันที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นเอง