Netflix

Netflix กับสูตรสำเร็จ ‘ห้ามแชร์รหัส’ พีคสุด 2 วัน ยอดสมัครใหม่พุ่งเท่าตัว!

เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวกลางในการถ่ายทอดเนื้อหาคอนเทนต์ แต่ยังได้มีการลงทุนสร้างละคร หรือ ซีรีส์ ที่มีลิขสิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง หรือเรียกอีกย่างว่า Netflix Original โดยเงินทุนที่ใช้สร้างไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท นับเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก

แต่ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2566 เน็ตฟลิกซ์ได้รับกระแสในเชิงลบจากการที่ออกนโยบายห้ามแชร์รหัสผ่านนอกครอบครัว โดยผู้ใช้บริการที่ต้องการแชร์บัญชีกับบุคคลนอกครัวเรือนจะต้องทำการซื้อบริการสมาชิกเสริมในราคา 99 บาท/เดือน ซึ่งการออกนโยบายนี้ของเน็ตฟลิกซ์เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้ใช้งานให้สร้างบัญชีใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2563 มีผู้ใช้งานลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี อีกทั้งในไตรมาสแรกของปี 2565 ผู้ใช้บริการเน็ตฟลิกซ์หายไปกว่า 2 แสนราย

สำหรับผลประกอบการของเน็ตฟลิกซ์งวดล่าสุดไตรมาส 1/2566 บริษัทมีรายได้รวม 8.16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโต 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1.31 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนสมาชิกกลับเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นถึง 1.75 ล้านราย ทำให้ตัวเลขยอดสมาชิกรวมขยับขึ้นมาเป็น 232.5 ล้านราย

โดยจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอาจอนุมานได้ว่าผู้ใช้บริการมีแรงผลักดันในการสมัครจากนโยบายห้ามแชร์รหัสผ่านนอกครอบครัวที่มีผลบังคับใช้ในไตรมาส 2/2566 ซึ่งก่อนหน้านี้เน็ตฟลิกซ์ได้มีการเปิดให้ใช้ระบบแชร์รหัสร่วมกันได้แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้ครัวเรือนเดียวกันเพื่อเป็นการเพิ่มฐานลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มทวิตเตอร์ที่มีการเปิดหารบ้านเพื่อให้สามารถจ่ายค่าสมัครสมาชิกได้ในราคาที่ถูกลง แต่ทั้งนี้เมื่อมีการออกกฎห้ามแชร์รหัส และถ้าจะใช้รหัสเดียวกันต้องมีการจ่ายส่วนต่างเพิ่มนี่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้บริการหันไปสมัครมีบัญชีเป็นของตัวเอง

อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่เน็ตฟลิกซ์สร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้มากกว่าในอดีต ยกตัวอย่างเช่น การสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับเกาหลีไม่ว่าจะในรูปแบบภาพยนตร์หรือซีรีส์ต่างก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากมีฐานแฟนคลับจำนวนมากที่คอยสนับสนุน และชื่นชอบในวัฒนธรรมเกาหลี

สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์วิเคราะห์ข้อมูลอันเทนนา (Antenna) ระบุว่า ตั้งแต่เน็ตฟลิกซ์มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการเกี่ยวกับนโยบายการแชร์รหัสผ่านเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มบังคับใช้วันที่ 24 พฤษภาคม พบมีการสมัครใช้งานจากลูกค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยมีการสมัครสมาชิกเพิ่มถึง 100,000 บัญชี ในช่วงระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม มียอดสมัครสมาชิกเฉลี่ยวันละ 73,000 ราย เพิ่มขึ้น 102% จากค่าเฉลี่ยการสมัครเป็นสมาชิก 60 วันก่อนหน้านี้ ซึ่งมากกว่าการสมัครสมาชิกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ COVID-19 ก็มีผู้ใช้บริการที่ยกเลิกการเป็นสมาชิกราว 25.6% แต่จำนวนผู้สมัครสมาชิกใหม่ก็สูงกว่ามาก

หากดูผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี พบว่า

ปี 2561 มีรายได้ 1.58 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรสุทธิ 1.21 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2562 มีรายได้ 2.01 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรสุทธิ 1.87 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2563 มีรายได้ 2.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรสุทธิ 2.76 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2564 มีรายได้ 2.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรสุทธิ 5.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปี 2565 มีรายได้ 3.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรสุทธิ 4.49 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งมีการเติบโตเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีบริษัทจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาแย่งชิงความสนใจจากผู้บริโภคในตลาด ซึ่งเมื่อมีผู้เล่นรายใหม่ปรากฎตัวขึ้นเน็ตฟลิกซ์ก็จะมีการแข่งขันทางการตลาดที่ดุเดือดมากขึ้น ทั้งนี้เน็ตฟลิกซ์ยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาด แต่ก็ต้องมาดูกันต่อในอนาคตเนื่องจากอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งมีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือเน็ตฟลิกซ์จะใช้โมเดลธุรกิจแบบใดในการแข่งขัน นอกจากการกำหนดราคา การนำเสนอเนื้อหาสุดสร้างสรรค์ที่สามารถดึงดูดและรักษาผู้ชม

.

ที่มา : IQ, TradingView, CNBC

.

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ

.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.facebook.com/businessplusonline/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #thebusinessplus #นิตยสารBusinessplus #เน็ตฟลิกซ์ #Netflix #สตรีมมิ่ง