สุรพล โอภาสเสถียร ชู 3 แนวคิดนำยกระดับองค์กร

“ตอนโควิด-19 เราใช้ประสบการณ์แก้ไขปัญหา ตอนนี้ต้องคุยกับหน้างานเพราะเขารู้ความต้องการของลูกค้า แล้วผู้นำจึงตัดสินใจและยืดอกรับผลถ้ามันล้มเหลว”

 

‘บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด’ องค์กรที่พร้อมช่วยสนับสนุนข้อมูลสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้ประชาชน ควบคู่ไปกับ 3 แนวทางที่นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน

 

คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร กล่าวถึงความสำเร็จขององค์กรในปีที่ผ่านมาว่า เครดิตบูโรมีการวางกลยุท์การดำเนินงานผ่านรูปแบบการมอบอำนาจตัดสินใจ (Empowerment) ให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในองค์กรอย่างเต็มที่ โดยมีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบอย่างชัดเจนเพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรในองค์กร ทั้งการทำงานเป็นทีมที่ต้องคอยช่วยเหลือกัน และต้องร่วมกันรับผิดชอบในทุก ๆ เรื่องหากเกิดข้อผิดพลาด ซึ่งหลักการนี้จะทำให้บุคลากรเชื่อมั่นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร

 

นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการดูแลบุคลากร ด้วยการให้ความปลอดภัยและความเชื่อมั่นอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา เครดิตบูโร มีการซัปพอร์ตทั้งในเรื่องของการฉีดวัคซีน การกักตัว และดูแลเรื่องของยารักษาอย่างเต็มที่ เพื่อให้บุคลากรเกิดความรู้สึกว่าองค์กรไม่ได้ทอดทิ้ง

 

ขณะที่ในแง่ของผลประกอบการก็ต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์อยู่เสมอ โดยในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เครดิตบูโรแทบไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากในช่วงหลายปีก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ได้มีการศึกษาเรื่อง Digital Transformation เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งภายหลังจากการนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานทำให้การทำงานมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้มากขึ้นอีกด้วย

 

ทั้งนี้หากพูดถึงมุมมองแนวคิดที่ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จนั้น คุณสุรพล กล่าวว่า แนวคิดที่นำพาองค์กรไปสู่ความความสำเร็จในทุก ๆ มิติมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ได้แก่

 

  1. การทำงานเป็นทีม

ต้องฟังเสียงของบุคลากรที่อยู่หน้างานให้มากที่สุด เพราะเป็นคนที่รู้ปัญหาของลูกค้ามากที่สุด ซึ่งเรามีหน้าที่ตัดสินใจในทางเลือกที่ได้รับมา แม้การตัดสินใจจะผิดหรือจะถูกก็เป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบไม่ใช่บุคลากร

 

  1. ทรัพยากร

ให้การสนับสนุนทรัพยากรอย่างเต็มที่ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข และมีประสิทธิภาพ

 

  1. การดูแล

ในสถานการณ์ที่ยากลำบากต้องมีการสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากร ซึ่งเมื่อบุคลากรมีความมั่นใจ และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ก็จะทำให้การทำงานดำเนินต่อไปได้

 

สำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน หรือ ESG นั้น เครดิตบูโรเป็นองค์กรที่ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล (Governance) เป็นอย่างมาก จึงทำให้เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ โดยคุณสุรพล อาศัย 3 กลยุทธ์นำพาสู่ความยั่งยืน นั่นคือ กลยุทธ์ด้านบริการ โดยที่จะต้องตามไปให้บริการบนความเปลี่ยนของลูกค้าอย่างรวดเร็วที่สุด กลยุทธ์ด้านดิจิทัล ซึ่งจะต้องพัฒนาองค์กรด้วยการใช้ดิจิทัลให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน และกลยุทธ์ด้านการประหยัด โดยที่ต้องมองว่าสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมให้การสนับสนุน แต่ถ้ายังไม่เกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้น

 

ทั้งนี้เมื่อมองถึงภาพรวมหนี้เสียครัวเรือนไทย คุณสุรพล กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมยังค่อนข้างน่ากังวล ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 จนก่อเกิดเป็นหนี้เสียประมาณ 3 ล้านคน รวม 3 แสนล้านบาท นอกจากนี้ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประชาชนขาดสภาพคล่องทางการเงิน นั่นเป็นเพราะว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่รายรับเท่าเดิม ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบนี้ก็จะขาดการผ่อนชำระหนี้ จนทำให้เกิดเป็นหนี้เสียตามมา

 

ขณะเดียวกันหนี้ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นจากกลางปี 2565 ที่อยู่ 3.8 แสนหมื่นล้านบาท เป็น 6 แสนล้านบาทในไตรมาส 1/2566 โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนี้รถยนต์ 1.9 แสนล้านบาท ตามมาด้วยหนี้บ้าน 1.6 แสนล้านบาท และหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าแก้ไขไม่ทันการณ์ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย

 

สำหรับที่ผ่านมาเครดิตบูโร ช่วยสนับสนุนในองค์กรต่าง ๆ ที่มีโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน และต้องการรู้สถานะของลูกหนี้ โดยจะมีการช่วยให้ข้อมูลสินเชื่อ ผ่านทางแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยเป็นการเข้าไปช่วยบริการตรวจเครดิตบูโรแบบสรุป หรือตรวจเครดิตบูโรแบบย่อฟรี เพื่อให้เป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สิน ขณะที่โครงการคลินิกแก้หนี้ ก็มีการเข้าไปช่วยให้ได้รับรายงานข้อมูลเครดิตแบบฟรีเช่นกัน

 

ในแต่ละปีมีผู้มาใช้บริการตรวจเครดิตบูโรฟรีมากเป็นจำนวนหลักหมื่นถึงแสนราย ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินนั้นมากกว่า 10 ล้านบาท สำหรับก่อนสิ้นปีนี้มีแผนเดินสายหารือกับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาลูกค้า พร้อมส่งสัญญาณเตือนสาธารณชนให้มีการรับรู้ถึงหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือลดลง และต้องมีการวางแผนรับมืออย่างไร” คุณสุรพล กล่าว

เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS