ม. เทคโนโลยีมหานคร เดินหน้าปั้นบัณฑิตพร้อมใช้สายวิศวะ & บริหาร เปิดหลักสูตรการสอนแนวใหม่ เพื่อป้อนกำลังคนคุณภาพสู่โลกการทำงานจริง

จากการจัดอันดับของ SCImago Institutions Rankings (SIR) ในปี 2021 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับหนึ่งของไทย ด้านวิจัย นวัตกรรมและสังคม และจากสถิติยังพบบัณฑิตของ MUT มีงานทำอยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สูงถึงร้อยละ 95 ทั้งหมดนี้เป็นการการันตีความสำเร็จและเป็นสิ่งพิสูจน์ถึงความตั้งใจตลอดระยะเวลา 33 ปี แห่งความมุ่งมั่นดังวิสัยทัศน์ที่ว่า “บัณฑิตและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเป็นที่ยอมรับและต้องการของภาคอุตสาหกรรม” และ MUT พร้อมก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่ดีเยี่ยมสำหรับทุกคน (Premium Technological University for All)”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภานวีย์  โภไคยอุดม หรือ อาจารย์ตั้ว  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า “เป็นเวลากว่า 33 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง MUT มาจนถึงปัจจุบัน เราประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เพราะเรามีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสายที่เราเชี่ยวชาญและถนัดมากที่สุด คือ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะบริหารธุรกิจ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์กับเทคโนโลยีหลายแขนง เพื่อให้ทุกหลักสูตรมีคุณภาพ ทุกกระบวนการเรียนการสอนทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ก่อให้เกิดผลงานวิจัยชั้นนำที่โดดเด่น ทั้งแนวคิดผลิตผลเชิงนวัตกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ MUT ในหลายมิติ”

ก่อนจะกล่าวถึง หลักสูตรการเรียนการสอนแนวใหม่ของ MUT อาจารย์ตั้ว ได้ย้ำว่า MUT มุ่งเน้นสร้างความรู้และทักษะในการทำงานทั้งด้าน Hard skills และ Soft skills ที่แข็งแกร่งรอบด้านอย่างเป็นองค์รวม (Holistic Knowledge & Skills) ให้เกิดขึ้นในตัวนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ไปจนจบการศึกษา เพื่อให้นักศึกษาสำเร็จเป็นบัณฑิตที่เปี่ยมคุณภาพ เป็นบัณฑิตพร้อมใช้งาน ขณะนี้เราพร้อมเผยโฉมกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ สำหรับนักศึกษาสายวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ของ MUT โดยจำแนกเป็น 2 แผน เพื่อกลุ่มผู้เรียนเป้าหมาย 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. แผนการเรียนระดับปริญญาตรี 4 ปี สำหรับนักเรียนที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ และ ปวช. ทุกสาย ทุกสาขา สามารถมาสมัครเรียนตามแผนที่นำทางหรือ Road Map ของหลักสูตรต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบไว้อย่างดี ดังจะได้แจกแจงต่อไป
  2. แผนการเรียนเทียบโอน สำหรับผู้เรียนที่จบสายอาชีวศึกษาระดับ ปวส. และต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือผู้ที่เรียนจบ ปวส. หรือ ปริญญาตรี ไปแล้วในหลากหลายสาขาอาชีพ และมีความสนใจ จำเป็น หรือ ต้องการกลับมาเรียนสายวิศวกรรมศาสตร์ฯ รวมถึงผู้ที่เรียนจบปวส. แล้วออกไปทำงานมาอย่างน้อย 5 ปี อายุ 30 ปีขึ้นไป และต้องการกลับมาเรียนต่อ สามารถนำประสบการณ์การทำงาน ความรู้ที่มีอยู่มาเทียบโอนเพื่อเรียนเฉพาะด้านหรือหัวข้อวิชาที่ยังขาดทักษะความรู้ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปซ้ำอีก

“เรามีนโยบายในการบริหารจัดการนักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มแตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นนักศึกษาภาคปกติเรียน 4 ปี เมื่อเรียนถึงปีสุดท้าย บ่อยครั้งสิ่งที่ได้เรียนมาเมื่อ 2-3 ปีก่อน นักศึกษาอาจลืมหากไม่ได้ทบทวน จึงเป็นหน้าที่ของคณาจารย์และมหาวิทยาลัย ที่จะต้องแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรให้นักศึกษาปี 4 เมื่อจบไปแล้วมีความพร้อมตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม MUT จึงพัฒนากระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยสถานการณ์จริง นั่นคือ นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายจะได้ฝึกทำงานจริง ในบริษัทจำกัดที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อรับงาน R&D จากภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งต่างจากกลุ่มของนักศึกษาระดับ ปวส. ที่มาเรียนผนการเรียนเทียบโอน ทาง MUT ก็จะมาดูทักษะ ความจัดเจนของนักศึกษากลุ่มนี้ว่ายังขาดอะไร เพื่อจะช่วยเติมเต็มความรู้และพัฒนาศักยภาพของน้อง ๆ กลุ่มนี้ให้มีความชำนาญในระดับที่สูงมากขึ้น” ดร. ภานวีย์ กล่าวเสริม

ปัจจุบัน MUT ได้ปรับหลักสูตรและจัดกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ชื่อว่า MUT Selected Topics  สำหรับการเรียนในปีสุดท้ายของนักศึกษา ไม่ว่าจะเลือกเรียนแผนการเรียนปริญญาตรี 4 ปี หรือ แผนการเรียนเทียบโอน จะมีวิชาที่คัดสรรอย่างดีมาให้นักศึกษาแต่ละคนได้เลือกเรียนตามความถนัด ความสนใจหรือจำเป็นตามสายงานแต่ละอาชีพ แต่ละกิจการ หรือตามแต่ละอุตสาหกรรมที่นักศึกษาสนใจร่วมงานเมื่อสำเร็จการศึกษา

ในส่วนคณะบริหารธุรกิจ ปกติจะมีการเรียนที่เป็น Workshop ทั้งหมด 6 รายวิชา ที่ผ่านมาก็มีการเสริมทักษะให้นักศึกษาที่เรียนบริหารธุรกิจให้ได้มีแนวคิดเชิงวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้มีความเข้าใจทฤษฎีเชิงระบบว่า ทำไมการทำงานใดใดจึงต้องมีนวัตกรรม และสิ่งต่าง ๆ มีไว้เพื่อทำอะไรได้บ้าง เป็นการทำให้นักศึกษาที่เรียนบริหารธุรกิจ กับ MUT จะมีความได้เปรียบกว่า เพราะสามารถคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันนั่นเอง

ขณะเดียวกันนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีของ MUT ก็จะได้เรียนรู้เรื่องการบริหารธุรกิจด้วยเหมือนกัน เพื่อให้นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ฯ เมื่อเรียนจบออกไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม จะได้มีความรู้เชิงการบริหารงาน การคิดต้นทุน กำไร ขาดทุน รู้ถึงวิธีการทำธุรกิจ การทำ Marketing การใช้ประโยชน์จาก Social Media ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการเสริมทัพความแข็งแกร่งให้นักศึกษาของ MUT ทุกคน ไม่ว่าจะเรียนสายวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สายบริหารธุรกิจ ก็ให้มีความรู้แบบองค์รวม ไม่ใช่มีแค่ความรู้ด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น

ส่วนคณะสัตวแพทยศาสตร์ MUT ก็ให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกัน โดย MUT วางแผนที่จะเข้าไปเปิดโรงพยาบาลรักษาสัตว์ในตัวเมือง ซึ่งจะมีเคสสัตว์ป่วยเข้ามาให้ตรวจรักษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาสัตวแพทย์ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะในวิชาชีพมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นหลักคิดในการบริหารและจัดกระบวนการเรียนการสอนแนวใหม่ที่เป็นจุดเด่นและเป็นความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ

“ผมเคยพูดอยู่เสมอว่า ความคาดหวังในอนาคต คือ ผมอยากทำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ให้เป็นเพียงมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำยอดนิยมด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทยเท่านั้น ผมไม่ต้องการเปิดหลักสูตรอะไรตามแฟชั่น หรือ ตามเทรนด์ แต่ผมจะเอาความต้องการ หรือ เทรนด์ที่เกิดขึ้น มาพัฒนาปรับปรุงใส่เข้าไปสู่ระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรที่เป็น Core Value  ของ MUT มากกว่า”  อธิการบดี อาจารย์ตั้ว กล่าว

เพราะภาพรวมของตลาดด้านการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันค่อนข้างวิกฤต จำนวนนักเรียนมีน้อยลง  ดังนั้นโมเดลการดำเนินกิจการจำเป็นต้องปรับตัว ไม่สามารถโฟกัสเฉพาะในประเทศเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยก็เป็นประเทศเล็ก ๆ แต่มีจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมากกว่า 200 แห่ง ขณะที่จำนวนเด็กนักเรียนมีน้อยลง Supply มีมากกว่า Demand ด้วยเหตุนี้ MUT จึงจัดให้มี International  College โดยเปิดสอนหลักสูตรระดับนานาชาติ ที่ยังคงมุ่งเน้นความเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม บริหารธุรกิจ และ สัตวแพทย์ อีกด้วย

ขณะเดียวกันสิ่งที่นักศึกษาที่มาเรียนที่ MUT แห่งนี้ จะไม่ได้แค่เรียนรู้ภาคทฤษฎี การท่องจำสูตร แต่หัวใจสำคัญที่มากกว่าการเรียนทฤษฎี คือ การเรียนรู้การทำงานจริงที่สามารถวัดผลงานออกมาได้จริง ๆ ปัจจุบัน MUT มีห้องปฏิบัติการจำนวนมาก และเมื่อ 2 ปีก่อนได้เปิด “บริษัทนวัตกรรมมหานครจำกัด” เพื่อใช้เป็นบริษัทที่จัดการด้านงานวิจัยและนวัตกรรม มีการออกแบบและสร้างชุดฝึกยานยนต์ EV สำหรับสร้างทักษะ ซ่อมสร้าง EV ให้แก่นักเรียนนักศึกษาในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังคิดค้นวิจัยทำเครื่องฝึกจำลองแผ่นดินไหว สร้างรถเพื่อนำออกไปตรวจดูเส้นทางท้องถนนต่าง ๆ ว่ามีสภาพความเสียหาย เป็นหลุมเป็นบ่อกี่จุด ทั้งหมดนี้เป็นวิสัยทัศน์ที่ MUT ได้วางแผนไว้เพื่อจะสามารถรองรับการพัฒนาทักษะนักศึกษาของ MUT ให้เติบโตเป็นบัณฑิตพร้อมใช้ ในตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน MUT ไม่ได้บริหารจัดการคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยแบ่งเป็นภาควิชาต่างๆ แล้ว ทำให้นักศึกษาวิศวะทุกคนเมื่อผ่านการเรียน Basic มาแล้วก็สามารถเลือกเรียนตามความถนัด ความชอบ และ สามารถเรียนรวมกันได้ ตัวอย่างเช่น เด็กวิศวะโยธาจะไม่ได้มีความรู้เรื่องโยธาเท่านั้น แต่จะมีความรู้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพื่อให้เกิดทักษะที่เป็น Hard Skills เชื่อมโยงการทำงานของฝ่ายโยธาและอิเล็กทรอนิกส์ เข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับแนวคิดนักศึกษาที่เรียนวิศวะก็ต้องรู้เรื่องบริหารธุรกิจ และ นักศึกษาที่เรียนบริหารธุรกิจก็ต้องรู้เชิงวิศวกรรมด้วย

“ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาเป็นมุมมองด้านการจัดการศึกษา และทิศทางของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้  เพื่อให้ MUT ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตวิศวกรและนวัตกรคุณภาพสูง เพราะที่นี่ที่ MUT เราไม่เคยหยุดคิดหยุดพัฒนา ตลอดระยะเวลา 33 ปี ที่ผ่านมา” ผศ. ดร.ภานวีย์ กล่าวทิ้งท้าย