ตลาด Food Delivery เจอศึกหนักในปีหน้า คนลดความถี่ใช้แอพฯ – การแข่งขันยังดุเดือด!

ตลาด Food Delivery เจอศึกหนักในปีหน้า
.
คนลดความถี่ใช้แอพฯ – การแข่งขันยังดุเดือด!
.
ธุรกิจการส่งอาหารถึงที่พัก หรือ Food Delivery เป็นธุรกิจที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ตลาดแห่งนี้มีผู้เล่นมากมายที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่หลังจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย รวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และยังถูกซ้ำด้วยต้นทุนพลังงานที่พุ่งขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้จะต้องเจอโจทย์ที่ท้าทายในปีหน้า
.
.
ตลาด Food Delivery ในเมืองไทยนั้น เริ่มเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2012 เริ่มจากแบรนด์ Foodpanda ผู้ให้บริการระดับโลกที่เข้ามาเป็นเจ้าแรกในการตีตลาดเมืองไทย แต่ในขณะนั้นอาจจะยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีมากนัก เพราะผู้บริโภคยังไม่คุ้นชินกับการให้บริการดังกล่าว แต่ต่อจากนั้น ในปี 2017 LINE ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียจากญี่ปุ่นที่คนไทยคุ้นเคยได้หันมาให้เปิดบริการ LINE MAN ซึ่งเป็นตัวแปรที่เริ่มทำให้ธุรกิจนี้น่าสนใจมากขึ้น
.
ถัดมาในช่วงปี 2018 ทาง Grab ผู้ให้บริการ GrabFood ได้เข้าสู่ตลาด และเป็นผู้เล่นที่เข้ามาได้ถูกจังหวะ ทั้งเวลา และการให้บริการที่สะดวกเป็นอย่างมาก ด้วยเครือข่ายของ Grab ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และความสำเร็จนี้ได้ทำให้ตลาดการส่งอาหารถึงที่พัก หรือ Food Delivery ผุดตามขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แม้แต่กลุ่มธนาคาร และสายการบินก็โดดเข้าร่วมวงในธุรกิจนี้ด้วย
.
แต่ ‘Business+’ มองว่า การที่มีหลากหลายแพลตฟอร์มได้ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาเสมอ โดยที่ปัจจุบันนี้ ผู้บริโภคมีการตั้งเงื่อนไข หรือตั้งธงในใจได้มากขึ้น และมีจุดสำคัญ 3 ข้อที่เลือกใช้คือ ราคาค่าบริการที่ต้องต่ำกว่า , การใช้งานง่ายกว่า , และความน่าเชื่อถือที่มากกว่า (ส่งอาหารตรงเวลา อาหารได้รับการส่งถึงมือในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด) ซึ่ง 3 ข้อนี้ได้ทำให้เกิดการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นทุนอาหาร และขนส่งพุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันนี้
.
และโดยเฉพาะเมื่อไม่กี่วันนี้ มีกระแสข่าวว่า LINE MAN อาจเข้าซื้อกิจการของ Foodpanda ซึ่งหากทั้ง 2 ควบรวมกันสำเร็จจะทำให้ตลาด Food Delivery เกิดการเปลี่ยนแปลงทันที โดยส่วนแบ่งการตลาดจะตีตื้น Grab ได้ และอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดจากเจ้าของแพลตฟอร์ม 2 รายที่ต้องแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดกันแบบดุเดือดขึ้น (Grab ก็คงไม่ยอมให้ LINE MAN+Foodpanda ขึ้นนำ)
.
ด้านความเห็นของ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ มองว่า แนวโน้มธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในปี 2566 เผชิญกับโจทย์ท้าทายหลัง COVID-19 เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนปกติ และการใช้ชีวิตประจำวันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทำให้การเติบโตของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ส่งสัญญาณชะลอตัวลง
.
ทั้งนี้สามารถวัดได้จากดัชนีปริมาณการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักจากข้อมูล LINE MAN Wongnai ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 พบว่า เริ่มมีสัญญาณของการทรงตัวถึงชะลอลง เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่คงจะเข้าถึงการใช้บริการนี้มากพอสมควรแล้ว และการเพิ่มปริมาณการสั่งในช่วงข้างหน้ายังมีข้อจำกัดของการเติบโต
.
โดยมีการประเมินว่า ในปี 2566 ตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก น่าจะมีมูลค่าประมาณ 8.1-8.6 หมื่นล้านบาท โดยหดตัว 0.8%-6.5% (จากฐานที่สูงในปี 2565) ผ่านปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป 3 ด้าน เช่น
.
1. การใช้บริการ Food Delivery ยังมีอยู่แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลง แม้ว่า COVID-19 จะมีการระบาดเป็นระลอกเกิดขึ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อจะมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ แต่คาดว่าการผ่อนปรนมาตรการควบคุมของภาครัฐบาลที่ไม่ได้เข้มงวดเหมือนอดีต จะส่งผลให้ผู้บริโภคมีการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และปรับพฤติกรรมกลับไปนั่งทานอาหารภายในร้าน และการซื้อกลับมากขึ้น
.
ซึ่งการปรับพฤติกรรมการใช้งาน Food Delivery ของผู้บริโภคสะท้อนให้เห็นจากผลสำรวจที่พบว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้ จนถึงปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างกว่า 37% ปรับลดความถี่ในการใช้บริการลงหลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น โดยมีการใช้บริการแอปพลิเคชันจัดส่งอาหารไปยังที่พักเฉลี่ยประมาณ 5 ครั้งต่อเดือน (ซึ่งลดลงจากผลการสำรวจในช่วงการระบาดของโควิดที่อยู่ที่ประมาณ 7 ครั้งต่อเดือน) และคาดว่าความถี่ในการใช้งานในระยะข้างหน้าจะทรงตัว หรือลดลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
.
2. กลุ่มประเภทอาหารและเครื่องดื่มคาดว่าจะมีการชะลอตัวของคำสั่งซื้อลง เช่น เครื่องดื่มและเบเกอร์รี่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคสามารถซื้อได้สะดวกเมื่อกลับไปทำงานตามปกติ รวมถึงกลุ่มอาหารที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การรับประทาน หรือเน้นการรับประทานกับกลุ่มเพื่อนและครอบครัว เช่น ร้านอาหารบุฟเฟต์ สวนอาหาร และภัตตาคาร ที่คาดว่าผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนมานั่งทานภายในร้านเกือบทั้งหมด แต่ในส่วนของอาหารในหมวดพื้นฐานและอาหารจานด่วนจะเป็นกลุ่มที่ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภค โดยตัวอย่างอาหารในกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว อาหารไทย อาหารอีสาน อาหารตามสั่ง ซึ่งมีความหลากหลายและมีราคาไม่สูง
.
3. ระดับราคาเฉลี่ยต่อออเดอร์มีแนวโน้มทรงตัวหรือสูงขึ้น โดยเป็นผลจากการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหาร และราคาพลังงานที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้ราคาอาหารเฉลี่ยต่อหน่วย และค่าบริการจัดส่งอาหารอาจมีการปรับเพิ่มขึ้น
.
นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าถึงแม้ว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารจะยังมีการทำโปรโมชัน เพื่อรักษาฐานลูกค้าและยอดขายบนแพลตฟอร์ม แต่คาดว่าความเข้มข้นในการแข่งขันด้านราคาอาจปรับลดลง ทำให้ระดับราคาเฉลี่ยต่อออเดอร์น่าจะปรับขึ้นจากค่าเฉลี่ยที่ได้จากผลสำรวจที่อยู่ที่ประมาณ 180-190 บาท ในช่วงที่ผ่านมา
.
นอกจากนี้ การแข่งขันในตลาดรุนแรงขึ้น ทั้งจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารเอง และผู้ประกอบการร้านอาหารใหญ่ที่ลงมาทำตลาด Food Delivery มากขึ้น ประกอบกับการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจยังต้องคำนึงถึงผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน และผู้ให้บริการส่งอาหารไปยังที่พัก
.
ซึ่งท่ามกลางสภาพแวดล้อมของตลาด Food Delivery ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารจำเป็นจะต้องหากลยุทธ์การตลาด เพื่อรักษายอดขาย
เพราะยังมีโจทย์ในด้านของต้นทุนทางธุรกิจที่สูง ผลประกอบการยังขาดทุน (ซึ่งยอดขาดทุนได้ลดระดับลงมาอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากในช่วงปี 2564 และ 2565 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-6 เท่า)
.
ดังนั้น เห็นได้ว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร มีการปรับตัวรองรับกับโจทย์ธุรกิจ Food Delivery ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานตลาดไปยังต่างจังหวัด การดึงกลุ่มลูกค้าเก่าให้ใช้งานต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอแพคเกจรายเดือน และการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริการฝากซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อ
.
ขณะเดียวกัน ก็มีการกระจายฐานธุรกิจไปอย่างหลากหลาย ทำให้การกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ช่วยให้ผู้ประกอบการบางส่วนได้รับประโยชน์จากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของผู้บริโภค อาทิ ระบบจัดการร้านอาหาร (POS) ธุรกิจเรียกรถรับส่ง (Ride-hailing) และธุรกิจการจองที่พัก
.
.
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
.
เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ศูนย์วิจัยกสิกรไทย #FoodDelivery