ความสำเร็จของ “เมืองไทยประกันชีวิต” ในปี 2566 นับว่าสะท้อนถึง ความแข็งแกร่งของสถานภาพทางด้านการเงินของบริษัท การเติบโตของเบี้ยประกันภัย และความผูกพันของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมา
คุณสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในด้านการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับใหม่ในปีที่ผ่านมาว่ามาจากหลาย ๆ ภาคส่วน โดยมาจากยอดขายของแบบประกันสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง (Health & CI) และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) ที่เติบโตเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจในภูมิภาค CLMV ที่ MTL เข้าไปขยายธุรกิจ มีผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ “เมืองไทยประกันชีวิต” เป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินในอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนจาก อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ที่สูงมากกว่า 300% มีสินทรัพย์รวมทั้งบริษัทฯ มากกว่า 630,000 ล้านบาท ได้รับการจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินจาก S&P Global Ratings ที่ระดับ BBB+ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และได้รับการจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากลและภายในประเทศจาก Fitch Ratings ที่ระดับ A- และ AAA(tha) ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินระดับประเทศในระดับสูงสุด ที่สำคัญยังเป็นบริษัทฯ ที่ได้รับรางวัลด้านองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการ ทั้งระดับประเทศและระดับสากล
คุณสาระ กล่าวถึง กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ “เมืองไทยประกันชีวิต” ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คือ การประสานเรื่อง “ความยั่งยืน” ให้เป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินธุรกิจในทุก ๆ วัน โดยมิติความยั่งยืนแรกที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญและเกี่ยวข้องกับเรื่องของประกันชีวิตโดยตรง คือ มิติสังคม ซึ่งมุ่งสร้างการเข้าถึงของการประกันชีวิตให้กับทุกคน (Democratize Insurance) เพื่อสร้างความอุ่นใจโดยไม่เป็นภาระ เช่น การขยายอายุรับประกันภัยสำหรับแบบประกันภัยของสัญญาหลักถึง 90 ปี พร้อมให้ความคุ้มครองต่อเนื่องสูงสุดถึงอายุ 99 ปี หรือการพัฒนาแบบประกันภัยสำหรับคนที่เข้าไม่ถึงแบบประกัน ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านอายุ กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง หรือโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ รวมถึงการเปิดการเข้าถึงความคุ้มครองและสุขภาพที่ดีในรูปแบบใหม่ ตามสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับมิติสิ่งแวดล้อม เมืองไทยประกันชีวิตได้ลงทุนและเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ยูนิตลิงค์ (Unit Linked) สามารถลงทุนในสินทรัพย์สีเขียว ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ตราสาร ESG (ESG Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) พร้อมปลูกฝังวัฒนธรรมสีเขียวให้แก่พนักงานในองค์กร อาทิ การแยกขยะ การลดใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การลดใช้กระดาษผ่านกระบวนการดิจิทัลต่าง ๆ และการเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อขยายผลสู่สังคมในวงกว้างต่อไป
ในขณะเดียวกัน เมืองไทยประกันชีวิตได้ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งคำนึงถึงการรักษาจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด ตามพันธกิจด้านความยั่งยืนที่ว่า “บริษัทฯ ยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุลทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ (ESG) เพื่อสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย”
นอกจากนี้ “เมืองไทยประกันชีวิต” เป็นแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคลในแต่ละช่วงอายุและไลฟ์สไตล์ได้เป็นอย่างดี เช่น การตอบรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการเดินหน้าส่งมอบความสุขและรอยยิ้มที่ยั่งยืน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ นวัตกรรม และเครือข่ายพันธมิตรที่ครอบคลุมทุกรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อสร้างความอุ่นใจและเติมเต็มชีวิตแบบสมาร์ตของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีบนจุดยืนที่ว่า “ต้องการเป็นคู่คิดด้านการวางแผนชีวิตและสุขภาพที่ลูกค้าสามารถไว้วางใจได้”
จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของ “เมืองไทยประกันชีวิต” ที่เกิดขึ้นข้างต้น มาจากสิ่งสำคัญที่อยู่ภายใต้การบริหาร นั่นคือ การมุ่งเน้นทำธุรกิจบนความยั่งยืนและสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าว นอกจากจะทำให้ เมืองไทยประกันชีวิต เติบโตได้อย่างมั่นคงท่ามกลางสถานการณ์และความผันผวนที่เกิดขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้คว้ารางวัล “THAILAND TOP COMPANY AWARDS 2024 ประเภทอุตสาหกรรมประกันชีวิต” ต่อเนื่องไปอีกหนึ่งปี