เทียบผลประกอบการ ‘ผงชูรส’ 3 เจ้าดัง ใครครองใจผู้บริโภคด้านความนัวที่สุด

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาหารในประเทศไทยนั้น นอกจากจะมีความหลากหลายในด้านของของประเภทอาหารแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ในด้านของรสชาติอาหารที่มีทั้งความเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน ที่ผสานกันอย่างลงตัว ซึ่งในการทำอาหารคาวหลาย ๆ เมนู สิ่งหนึ่งที่มักจะเป็น ‘ตัวเอก’ ในการปรุงรสชาติให้มีความกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น เห็นจะหนีไม่พ้น ‘ผงชูรส’ หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อ ‘ผงนัว’ ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยให้อาหารมีรสชาติที่ลงตัวยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในเมนูที่เป็นภาพจำของการใช้ ‘ผงชูรส’ เป็นส่วนผสมจนกลายเป็นไวรัลจนเป็นที่รู้จักของต่างชาติก็คือเมนูส้มตำ ที่หากเข้าไปหาคลิปการทำส้มตำในโซเชียลมีเดีย ก็จะได้เห็นการใช้ผงชูรสด้วยเสมอ และหลาย ๆ คลิปก็มักจะถูกพูดถึงในเรื่องของปริมาณการใส่ ‘ผงชูรส’ ที่ค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นที่กล่าวถึงในเชิงขบขันว่าการใส่ส่วนผสมลับชนิดนี้คือเคล็ดลับความอร่อยที่แท้จริงของร้านนั้น ๆ

จากข้อมูลเหล่านี้ คงพอทำให้เห็นแล้วว่า ‘ผงชูรส’ นั้นเป็นที่นิยมในประเทศไทยมากเพียงใด วันนี้ Business+ จึงได้หยิบยกเอาข้อมูลผลประกอบการ 2 ปีย้อนหลังของ 3 ผู้เล่นหลักในตลาด ‘ผงชูรส’ มาเปรียบเทียบให้เห็นว่าผู้เล่นรายใดที่เป็นเจ้าแห่งตลาด ‘ผงชูรส’ ที่ครองใจผู้บริโภคสูงสุด โดยเป็นการคัดเลือกจากผู้เล่นในตลาดที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี และมักจะติดโผรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ถูกยกให้เป็นผู้สร้างความ ‘นัว’ ให้กับผู้บริโภคจากหลาย ๆ บทความในโลกออนไลน์ ได้แก่ ไทยชูรส ตราชฎา, อายิโนะโมะโต๊ะ และ ราชาชูรส

โดยเริ่มจาก ‘ไทยชูรส ตราชฎา’ เครื่องหมายการค้าภายใต้ บริษัท ไทยชูรส จำกัด ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 โดย ‘คุณวิชัย ซอโสตถิกุล’ และเพื่อน ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยในระยะแรกมีปริมาณการผลิตผงชูรสอยู่ที่ 50 ตันต่อเดือน และเพิ่มเป็น 1,200 ตันต่อเดือน และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 10 ล้านบาทเป็น 120 ล้านบาทในปัจจุบัน

ด้านผลประกอบการของ บริษัท ไทยชูรส จำกัด ในปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,065 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.61% จากปี 2564 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 989 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 120 ล้านบาท ลดลง 44.60% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 217 ล้านบาท

ขณะที่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะเครื่องหมายการค้าภายใต้ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต ‘ผงชูรส’ สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2452 และได้เริ่มวางฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นแห่งแรกของการวางฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2503 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 796 ล้านบาท โดยมีผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและบริการต่าง ๆ มากมาย นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ ‘ผงชูรส’ อาทิ เครื่องปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เครื่องดื่ม เป็นต้น​

สำหรับผลประกอบการของ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 34,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.38% จากปี 2564 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 33,601 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,706 ล้านบาท ลดลง 10.13% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 14,139 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มีมาเก็ตแชร์สูงถึง 94.5% ของตลาด ‘ผงชูรส’ ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3,956 ล้านบาท

ส่วน ‘ราชาชูรส’ เครื่องหมายการค้าภายใต้ บริษัท ราชาชูรส จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2510 (จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี พ.ศ. 2509) ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 420 ล้านบาท โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยและไต้หวันในสัดส่วนร้อยละ 51 : 49

โดยมีรายได้รวมในปี 2565 อยู่ที่ 3,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.80% จากปี 2564 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,948 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 585 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.50% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 539 ล้านบาท

ที่มา : datawarehouse, thaichuros, ajinomoto, ราชาชูรส

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ผงชูรส #ตลาดผงชูรส #ผงนัว #ไทยชูรสตราชฎา #อายิโนะโมะโต๊ะ #ราชาชูรส