สำรวจค่าแรงขั้นต่ำประเทศอาเซียน ฉบับปี 2023

ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง สำหรับกรณีคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินดิจิทัลจาก ‘พรรคเพื่อไทย’ เมื่อมีการประกาศคุณสมบัติเบื้องต้นที่อาจโดนตัดสิทธิ์การได้รับเงินดังกล่าว โดยหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุด เห็นจะเป็นกรณีการตัดสิทธิ์ผู้ที่มีฐานเงินเดือนอยู่ที่ระดับ 25,000 บาท หรือมีเงินเก็บอยู่ที่ 100,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่ได้สูงมากนักแต่กลับถูกตัดสิทธิ์ ขณะที่บางกลุ่มก็มองว่าฐานเงินเดือนที่ 25,000 บาท อาจจะเป็นระดับที่ค่อนข้างมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าบุคคลในหลาย ๆ กลุ่ม โดยหากมองที่ค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับ 328 บาท/วัน หรือคิดเป็น 9,840 บาท/เดือน ก็ถือว่ามีความแตกต่างกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มฐานเงินเดือน 25,000 บาท ค่อนข้างมากถึง 1.5 เท่าตัว จึงอาจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีเงื่อนไขตัดสิทธิ์คนในกลุ่มนี้ออกมา

อย่างไรก็ดี อาจมีท่านที่สงสัยว่าประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ระดับใด ซึ่งในวันนี้ Business+ ได้ทำการสำรวจอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศในกลุ่มอาเซียนมาให้แล้ว (ยกเว้นบรูไนและสิงคโปร์) โดยคำนวณเป็นอัตราค่าแรงต่อเดือน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. มาเลเซีย มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 1,500 ริงกิต (MYR) หรือคิดเป็น 11,340 บาท/เดือน (คำนวณ ณ วันที่ 1 พ.ย.66 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิต (MYR) ต่อ 7.56 บาท)

2. อินโดนีเซีย มีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยค่าแรงที่หยิบยกมาคือค่าแรงในดีเคไอ จาการ์ตา (DKI Jakarta) ซึ่งมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 4,901,798 รูเปียห์ (IDR) หรือคิดเป็น 11,134 บาท/เดือน (คำนวณ ณ วันที่ 1 พ.ย.66 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูเปียห์ (IDR) ต่อ 0.0023 บาท)

3. ไทย สำหรับประเทศไทยนั้นมีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่เช่นเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย โดยค่าแรงขั้นต่ำที่หยิบยกมาคิดคำนวณคืออัตราที่ต่ำสุด อยู่ที่วันละ 328 บาท หรือคิดเป็น 9,840 บาท/เดือน ซึ่งเป็นอัตราที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, อุดรธานี และน่าน

4. ฟิลิปปินส์ มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 12,240 เปโซ (PHP) หรือคิดเป็น 7,796 บาท/เดือน (คำนวณ ณ วันที่ 1 พ.ย.66 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 เปโซ (PHP) ต่อ 0.64 บาท)

5. กัมพูชา มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 812,506 เรียลกัมพูชา (KHR) หรือคิดเป็น 7,107 บาท/เดือน (คำนวณ ณ วันที่ 1 พ.ย.66 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 เรียลกัมพูชา (KHR) ต่อ 0.0087 บาท)

6. เวียดนาม มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 4,680,000 ดอง (VND) หรือคิดเป็น 6,892 บาท/เดือน (คำนวณ ณ วันที่ 1 พ.ย.66 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอง (VND) ต่อ 0.0015 บาท)

7. ลาว มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 1,600,000 กีบ (LAK) หรือคิดเป็น 2,793 บาท/เดือน (คำนวณ ณ วันที่ 1 พ.ย.66 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 กีบลาว (LAK) ต่อ 0.0017 บาท)

8. เมียนมาร์ มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 115,200 จัต (MMK) หรือคิดเป็น 1,986 บาท/เดือน (คำนวณ ณ วันที่ 1 พ.ย.66 ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 จัต (MMK) ต่อ 0.017 บาท)

อย่างไรก็ดี ประเทศบรูไนและสิงคโปร์ ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ใช้วิธีการตกลงโดยตรงกับนายจ้างในการกำหนดอัตราค่าจ้าง หรือยึดตามอัตราค่าจ้างจากตลาดแรงงานประเภทเดียวกัน จึงไม่มีการนำเสนอข้อมูลของ 2 ประเทศนี้

ที่มา : aseanbriefing, mauvegroup, กระทรวงแรงงาน

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #TheBusinessplus #นิตยสารBusinessplus #ค่าแรงขั้นต่ำ #ประเทศอาเซียน #อาเซียน