มิสแกรนด์

ชำแหละหุ้น ‘มิสแกรนด์’ ในวันที่ ‘น้ำพริกปลาสลิด’ ขายยาก และกระแสเงินสดปี 67 ที่หายไปเกือบ 400 ล้าน!

บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI ที่รู้จักกันดีกับหุ้นเวที ‘มิสแกรนด์’ ที่มีผู้ก่อตั้งคือ คุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล ซึ่งถึงแม้ว่าชื่อบริษัทจะสื่อตรงตัวว่าทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการจัดการประกวดนางงาม แต่เมื่อเจาะเข้าไปถึงสัดส่วนรายได้แล้วกลับพบว่า บริษัทฯ แห่งนี้มีรายได้จากการขายสินค้าอุปโภคและบริโภคมากกว่าการจัดงานประกวด โดยเฉพาะ ‘น้ำพริกปลาสลิด’ ที่ในช่วงปี 66 มีสัดส่วนรายได้ในบริษัทมากเป็นอันดับที่ 1

ซึ่งการขายสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคนั้น คุณณวัฒน์ ได้นำเอานางงามที่ผ่านการประกวดมาเป็นพรีเซนต์เตอร์ ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นแฟนคลับซึ่งจะช่วยสนับสนุนสินค้าของคนที่ตัวเองชื่นชอบ

อย่างไรก็ตามในปี 2567 รายได้จากการขายน้ำพริกปลาสลิดกลับไม่เติบโตเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการที่ดารา นักแสดง หรืออินฟลูเอนเซอร์ต่างหันมาผลิตและขายสินค้าประเภท น้ำพริก น้ำปลาร้า เป็นของตัวเองมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มที่ถูกใช้เพื่อขายและทำการตลาดมากที่สุดคือ Tiktok ทำให้บริษัทฯที่พึ่งพาการส่งเสริมการขายจาก Tiktok เป็นหลัก จึงถูกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดไป

นั่นจึงทำให้รายได้สินค้าบริโภคในปี 2567 อยู่ที่ 99.04 ล้านบาท ลดลง 5.90% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าสินค้าที่ขายดีที่สุดอันดับ 1 จะยังเป็น ‘น้ำพริกตรานางงาม’ แต่ยอดขายก็ไม่ได้โดยเด่นเท่าช่วงก่อนหน้านี้ โดยมียอดขายรวม 490,804 กระปุก คิดเป็นยอดขาย 72.16 ล้านบาท

ทีนี้มาดูข้อมูลกันว่า หากน้ำพริกปลาสลิดมียอดขายลดลง แล้วอะไรที่ทำให้ ‘มิสแกรนด์’ มีกำไรสุทธิมากกว่าปีที่แล้ว

ในปี 67 บริษัทมีรายได้มากถึง 746.82 ล้านบาท เติบโต 21.21% จากรายได้ของปี 66 อยู่ที่ 616.13 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในปี 67 อยู่ที่ 121.12 ล้านบาท เติบโต 1.57% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งทำกำไรสุทธิได้ 119.25 ล้านบาท

ที่นี้มาแยกสัดส่วนรายได้และการเติบโตในปีล่าสุดเพื่อตอบคำถามกันว่า กำไรของ ‘มิสแกรนด์’ เติบโตมาจากธุรกิจส่วนไหนกันแน่?

– รายได้จากการขายสินค้า

  • อุปโภค เช่น ครีมกันแดด ครีมบำรุง 76 ล้านบาท เติบโต 66.56%
  • บริโภค เช่น น้ำพริกตรานางงาม รายได้ 99.04 ล้านบาท ลดลง 5.90%

– รายได้จากธุรกิจสื่อบันเทิง 95.26 ล้านบาท ลดลง 15.50%

– รายได้จากธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 122.46 ล้านบาท ลดลง 9.06%

– รายได้จากธุรกิจการจัดประกวด 134.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.23%

– รายได้จากธุรกิจการเช่าช่วง MGI Hall จำนวน 28.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.19%

จะเห็นได้ว่ารายได้หลักของบริษัทกลับกลายเป็นสินค้าอุปโภค เช่น ครีมกันแดด ครีมบำรุง แทนสินค้าประเภทน้ำพริก โดยรายได้ของสินค้าอุปโภคมากถึง 248.76 ล้านบาท มากกว่ารายได้จากการจัดประกวดนางงามที่ยังทำได้เพียง 134.66 ล้านบาท

ที่น่าวิเคราะห์อีกส่วนคือ ตัวเลขในงบกระแสเงินสดปี 2567 เพราะบริษัทมีกระแสเงินสดสุทธิในปี 2567 ติดลบไปมากถึง 383.43 ล้านบาท ซึ่งหากมองเพียงแค่กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงานยังคงเป็นบวกที่ 126.49 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าบริษัทยังมีกำไรจากการทำธุรกิจ

แต่หากเป็นกระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุนจะเห็นว่าในปีที่ผ่านมาบริษัทใช้กระแสเงินสดในการลงทุนมากถึง 435.69 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.เข้าไปลงทุนในกองทุนระยะสั้น ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 198.21 ล้านบาท

2.เข้าไปลงทุน หรือเข้าซื้อหุ้นบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SABUY (ที่ในช่วง 9 เดือนของปี 67 ขาดทุนเกือบ 6 พันล้านบาท) 135 ล้านบาท

3.ใช้ในการปรับปรุงอาคาร 72.11 ล้านบาท

นอกจากนี้บริษัทยังมีกระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 74.10 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการจ่ายเงินปันผล 73.50 ล้านบาท (2 รอบคือปันผลระหว่างกาลประจำไตรมาส 3 ปี 2566 และปันผลปี 2566)

จริงๆ แล้วกระแสเงินสดสุทธิจากการลงทุน และกระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินเป็นลบนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะแสดงให้เห็นว่าบริษัทได้นำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนและขยายกิจการ หรือมีการนำเงินไปชำระหนี้หรือจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น

แต่สุดท้ายแล้วหากกระแสเงินสดสุทธิ (Net Cash Flow) ติดลบเหมือนของ MGI ในปี 2567 ที่ลดลงไป 383.43 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ไม่ดีนัก ทำให้เงินสดขาดมือ พูดง่ายๆคือ เงินสดที่หามาได้น้อยกว่าเงินสดที่ใช้จ่ายออกไปนั่นเอง

และการที่เงินสดสุทธิในปี 2567 ที่ติดลบนั้น ส่งผลต่อเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดสิ้นงวดที่ปัจจุบันเหลือเพียง 14.22 ล้านบาท (จากเดิมเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ต้นงวด 397.65 มาหักลบกับ 383.43 ล้านบาท) และหากในปีต่อไปบริษัทยังไม่สามารถบริหารเงินสดให้เป็นบวกได้อีกก็จะส่งผลกระทบต่อเงินสดสิ้นงวด (ที่เหลืออยู่น้อยนิด) จนอาจมีเงินสดติดลบ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทในท้ายที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น MGI ยังต้องแบกรับความกดดันจากการที่ยังถือหุ้น ‘สบาย เทคโนโลยี’ และราคาหุ้นได้ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติแล้วจะมีผลขาดทุนทางบัญชีที่อาจเกิดขึ้นหากนำราคาหุ้นที่ลดลงไปคำนวณบันทึกมูลค่ายุติธรรมในงบการเงิน (เพราะ MGI เข้าซื้อหุ้นที่ 4.50 บาท แต่ราคาหุ้นล่าสุด ณ วันที่ 13 ก.พ.68 เหลือเพียง 0.49 บาท เท่ากับขาดทุนไปแล้ว 89%)

แต่ในกรณีของ MGI เลือกบันทึกเงินลงทุนใน ‘สบาย เทคโนโลยี’ ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ทำให้ผลของการขาดทุนราคาหุ้นจะไม่กระทบกับกำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น แต่จะเข้าไปกระทบในส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นแทน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : https://www.thebusinessplus.com/mgi/

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : SET
ติดตาม Business+ ได้ที่ Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS