AI กับการใช้งานทางการแพทย์ เพื่อก้าวสู่ Medical Technology

“ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี AI-Assisted Colonoscopy มาใช้ควบคู่กับการส่องกล้องในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Screening Colonoscopy) พบว่าสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ 60-70% ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากโรคมะเร็งลำไส้ได้”

แพทย์หญิงปิตุลักษณ์ อัศวกุล อายุรแพทย์ด้านโรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) คือ เทคโนโลยีที่ทำให้เครื่องจักรสามารถเรียนรู้ (Machine Learning : ML) หรือทำความเข้าใจในองค์ความรู้ต่างๆ ได้

ทางโรงพยาบาลสมิติเวชได้มีการร่วมมือกับโรงพยาบาลทางเดินอาหารชื่อว่า Sano Hospital ที่โกเบ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2555 โดยแพทย์ที่สมิติเวชได้รับการฝึกจากแพทย์ที่ซาโนในการอ่านชิ้นเนื้อจากกล้องให้มีค่าเป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ ซาโนยังร่วมมือกับบริษัท Olympus ในการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการทำหัตถการด้วย

โดยสมิติเวชเริ่มมีการนำ AI มาใช้ในการส่องกล้องตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2564 ซึ่งเป็น AI ที่มีการแปลผลด้วยภาพหรือ Image Processing และมีการใช้ Computer-aided Diagnosis เป็นโปรแกรมอ่านเยื่อบุชิ้นเนื้อ โดยที่ตัวกล้องสามารถปรับสีเยื่อบุและเส้นเลือดให้ชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องย้อมสี และมีกำลังขยายมากถึง 550 เท่า นอกจากนี้ ยังมีความแม่นยำในการแปลผลชิ้นเนื้ออยู่ที่ 90%

AI ในอีกรูปแบบหนึ่งนำมาใช้งานในการตรวจจับหาติ่งเนื้อหรือ Polyp โดยข้อดี คือ มีระบบส่งเสียงแจ้งเตือนเมื่อเครื่องประมวลผลว่าเจอลักษณะติ่งเนื้อคล้ายกับที่เครื่องได้เรียนรู้มา สำหรับความไวในการตรวจจับหาติ่งเนื้อสูงถึง 90% แต่เมื่อทำการตรวจสอบแล้ว พบว่า ความแม่นยำในการตรวจจับติ่งเนื้อจริง ๆ อยู่ที่ 50-60%

สิ่งที่ถือว่าเป็นประโยชน์จากการใช้ AI คือ ช่วยควบคุมการทำงานของแพทย์ เช่น ในกรณีที่ภาพถ่ายออกมาไม่ชัดเจน ระบบจะแจ้งเตือนให้ปรับโฟกัสภาพใหม่ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันความผิดพลาด กรณีที่แพทย์มีอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้การตรวจมีความคลาดเคลื่อน ดังนั้น AI จึงมีส่วนช่วยในการลดปัญหาความผิดพลาดในส่วนนี้ได้

“ปัจจุบัน AI ในทางการแพทย์มีลักษณะคล้ายกัน คือ แทบทุกบริษัทมีการฝึกเครื่อง AI จากส่วนกลางที่บริษัทผู้ผลิตโดยตรง และเมื่อมีการใช้งานจริง แพทย์หรือผู้ใช้งานสามารถส่งข้อมูลย้อนกลับไปยังบริษัทผู้ผลิต โดยบริษัทจะมีการอัปเกรดโปรแกรมไปเรื่อย ๆ ให้เครื่องค่อย ๆ เรียนรู้ไป แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำการป้อนข้อมูลย้อนกลับจากผู้ใช้งานผ่านเครื่อง แล้วให้เครื่องเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-learning) ได้โดยตรง”

สำหรับประเทศไทยกับความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ Medical Technology หรือ MedTech พญ.ปิตุลักษณ์ ให้มุมมองไว้ว่า เราเป็นประเทศที่พร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่ปัญหา คือ เรายังขาดนวัตกรรมที่เป็นของตนเอง แม้ว่าจะมีสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษามากมาย แต่นวัตกรรมไม่เกิด เพราะ ไม่ได้มีการลงทุนอย่างจริงจังในการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้

“นอกจากนี้ ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเรามีเทคโนโลยีแต่เราใช้ไม่เป็น หรือใช้ผิดวิธี หรือมีแล้วไม่ได้ใช้ ประโยชน์จะไม่เกิดหรือเกิดได้ไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร และอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญคือการมีองค์ความรู้ที่มากพอจะรู้ว่าควรใช้ AI อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร เพราะสิ่งสำคัญ คือ เราต้องเป็นผู้ใช้เครื่อง ไม่ใช่ว่าเราถูกเครื่องใช้ พญ.ปิตุลักษณ์เสริมทิ้งท้าย

ในฐานะแพทย์ พญ.ปิตุลักษณ์ ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า “AI เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทางการแพทย์ แต่ยังไม่สามารถแทนที่แพทย์ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ AI ยังไม่ได้มีการพัฒนาไปจนถึงขั้นสุด ในตอนนี้ AI เปรียบเสมือนตาคู่ที่ 2 ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ แต่ไม่ได้หมายความว่า แพทย์จะสามารถละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความหละหลวม เพราะการแปลผลของ AI ขึ้นอยู่กับการควบคุมของแพทย์ หากแพทย์ใช้ AI ได้ไม่เต็มศักยภาพ ประสิทธิภาพหรือข้อมูลจาก AI ที่ได้ย่อมมีการผิดพลาดด้วยเช่นกัน”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความเรื่อง “MedTech กับการใช้งานจริง สู่ชีวิต และสุขภาพที่ยั่งยืน” จากเว็บไซต์ ICHI สามารถอ่านบทความฉบับเต็มต่อได้ที่ ICHI Website : https://bit.ly/3cnZsDe