Insider Trading คืออะไร? ผู้ทำผิดจะต้องรับโทษอะไรบ้าง

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ‘สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)’ ได้ดำเนินคดีกับผู้บริหาร บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด จากการใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB)

หากอธิบายให้ฟังง่ายๆ ก็คือ ก.ล.ต.มองว่าผู้บริหารรายนี้ (นายสำเร็จ วจนะเสถียร) ได้ใช้ข้อมูลภายในจากประเด็นข่าวที่ SCB จะเข้าซื้อ Bitkub เพราะตรวจสอบแล้วพบว่ามีการซื้อเหรียญ KUB จำนวนมาก ตั้งแต่ 4 ก.ย.จนถึง 2 พ.ย.2564 (ก่อนประกาศดีลใหญ่) ซึ่งหลังจากประกาศดีลราคาซื้อขายเหรียญ KUB ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่จะเปิดเผยข้อมูลออกมา (โดยราคาสูงสุดของวันอยู่ที่ 99.99 บาท หรือเพิ่มขึ้น 101% จาก 49.53 บาท)

ดังนั้น ก.ล.ต.จึงมองว่าเป็นการซื้อที่ผิดปกติจากพฤติกรรมเดิม จนนำมาสู่ความผิดด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง และได้ให้ชดใช้ 8,530,383 บาท และห้ามดำรงตำแหน่งผู้บริหาร 1 ปี

ข่าวของ Bitkub นั้น ถือว่าเป็นประเด็นที่กลายเป็นกระแสอย่างมาก แต่รู้หรือไม่ว่าโดยปกติแล้วผู้บริหารในตลาดหุ้น และตลาดคริปโตมักมีการกระทำผิดฐาน Insider Trading อยู่หลายครั้ง

ครั้งนี้ ‘Business+’ จึงมาเปิดข้อมูลสถิติความผิดของผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในฐานความผิดฐานใช้ข้อมูลภายใน/เปิดเผยข้อมูลภายใน (Insider Trading) รวมถึงฐานการสร้างราคาหลักทรัพย์ในช่วงปี 2560-2565 (31 ก.ค.65)

โดยเราพบข้อมูลว่า ในปี 2565 ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่เดือนม.ค.จนถึงก.ค.2565 มีจำนวนผู้บริหารที่กระทำผิดไปมากถึง 28 ราย ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2560 โดยกลุ่มผู้บริหาร Bitkub ที่เคยถูกกล่าวโทษก็เป็นหนึ่งใน 28 ราย หากย้อนรอยดูเคสที่ Bitkub ถูก ก.ล.ต. สั่งปรับพบว่ามีการถูกปรับไปแล้วถึง 11 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าเงินค่าปรับกว่า 43 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เกิดจากการสร้างปริมาณซื้อขายเทียมในกระดาน Bitkub

สาเหตุที่ทำให้ปี 2565 เป็นปีที่มีการกระทำผิดมากที่สุดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากกรณีของการซื้อขายโทเคนดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่ ก.ล.ต.ได้เข้ามามีบทบาทควบคุมอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปี 2564 ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

โดยข้อหาการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider) อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาตรา 242 เป็นความผิดที่จะถูกใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง

ซึ่งข้อมูลภายใน หมายถึง ข้อมูลที่ยังมิได้มีการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป โดยผู้บริหารที่เข้าข่าย “รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน” ตามมาตรา 243 กำหนดเอาไว้ดังนี้

1. กรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

2. พนักงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่รับผิดชอบ/สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้

3. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายใน เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษากฎหมายและผู้สอบบัญชี รวมทั้งผู้ร่วมงานที่มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่

4. กรรมการ อนุกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง ฐานะ ที่สามารถรู้ข้อมูลภายในจากการปฏิบัติหน้าที่

5. นิติบุคคล ซึ่งบุคคลตาม (1)-(4) ที่มีอำนาจควบคุมกิจการ

นอกจากผู้บริหารแล้ว คนรอบข้างผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นแต่ไม่ได้เป็นผู้บริหารก็มีความผิดหากกระทำผิดเช่นกัน โดยมาตรา 244 กำหนดเอาไว้ว่าหากพบความผิดปกติของการซื้อขาย หรือเปิดเผยข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็มีความผิดเช่นเดียวกั

1. ผู้ถือหุ้นเกิน 5% โดยนับรวมของคู่สมรส/ผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา/บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

2. กรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ พนักงานหรือลูกจ้างของกิจการในกลุ่มบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือสายงานที่รับผิดชอบข้อมูลภายใน หรือที่สามารถเข้าถึงข้อมูลภายในได้ (บ.ใหญ่ บ.ย่อย บ.ร่วม)

3. บุพการี/ผู้สืบสันดาน/ผู้รับบุตรบุญธรรม/บุตรบุญธรรม/พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน/ร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันของ Insider

4. คู่สมรส/ผู้ที่อยู่กินฉันสามีภริยาของ (3)

โดยบทลงโทษของผู้กระทำผิดฐาน หรือเปิดเผยข้อมูลภายใน หรือทำการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติและเป็นบุคคลในกลุ่มที่ ‘Business+’ กล่าวถึง จะมีบทลงโทษตามมาตรา 296 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา : SEC

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #กลโกง #Insider Trading #แอบใช้ข้อมูลภายใน