MASTER

The Success Story ‘หมอเส’ นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล นำ MASTER สู่ No.1 เอเชีย

The Success Story of The Month By ‘Business+’ ฉบับเดือนเมษายน 2566 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจาก นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER หรือ โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช ซึ่งเป็นผู้โดดเด่นในอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงาม และเป็นโรงพยาบาลศัลยกรรมเพียงรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซึ่งอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามนั้น ต้องบอกว่า ยังคงติดหนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เพราะยิ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปไกลมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของการใช้บริการธุรกิจประเภทนี้ตามไปด้วย และหากวิเคราะห์จากข้อมูลนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยหลังจากเปิดประเทศ รวมไปถึงพฤติกรรมของคนไทยที่ชื่นชอบความสวยความงาม บอกได้เลยว่า เทรนด์ความงามติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เห็นถึงโอกาสของการเติบโตในธุรกิจนี้อย่างชัดเจน

‘โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช’ เป็นโรงพยาบาลด้านศัลยกรรมชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ที่ดำเนินกิจการมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2556 ด้วยชื่อเสียงและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทำให้ลูกค้ามั่นใจในการใช้บริการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประกอบกับการเตรียมความพร้อมด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานแบบ High Performance Organization ทำให้ผลประกอบการของ MASTER เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ผลงานที่น่าทึ่ง จากผลประกอบการปี 2565 สามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 300.92 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตได้สูงถึง 84% และในปีนี้ภายหลัง MASTER เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยิ่งเป็นการเสริมจุดแข็งทั้งในแง่ของความน่าเชื่อถือ และแหล่งเงินทุนที่จะเป็นตัวต่อยอดให้บริษัทแห่งนี้มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER หรือ โรงพยาบาลมาสเตอร์พีช (Masterpiece Hospital) เปิดเผยถึงผลประกอบการที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้น มาจากการเติบโตในทุกกลุ่มหัตถการของการประกอบกิจการโรงพยาบาล ทั้งรายได้จากการศัลยกรรมอยู่ที่ 1,193.61 ล้านบาท เติบโต 126.58% ขณะที่รายได้จากการดูแลผิวพรรณอยู่ที่ 105.61 ล้านบาท เติบโต 170.79% ด้านรายได้จากการปลูกผมและดูแลเส้นผมอยู่ที่ 89.96 ล้านบาท เติบโต 285.76% ขณะที่รายได้จากการดูแลหลังจากการศัลยกรรมอยู่ที่  62.37 ล้านบาท เติบโต 74.56%

“รายได้จากการศัลยกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกหัตถการ ทั้งศัลยกรรมเสริมจมูก ศัลยกรรมยกคิ้ว ศัลยกรรมหน้าอก ศัลยกรรมดูดไขมัน และศัลยกรรมอื่น ๆ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2565 คลี่คลาย รวมถึงบริษัทฯ เพิ่มจำนวนแพทย์ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีลูกค้าเข้ามารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า” นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ในมุมของการบริหารธุรกิจนั้น นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าวกับ ‘Business+’ ว่า ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดขึ้นจากการเตรียมความพร้อมของบริษัท และมองหาโอกาสทางธุรกิจอยู่เสมอ โดยบริษัทฯ ได้มีการเตรียมแผนการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการทำงานแบบมีประสิทธิภาพสูง หรือ High Performance Organization

“วัฒนธรรมองค์กรของเราจะเน้นไปที่การทำงานแบบสุดโต่ง และเมื่อมีโอกาสเข้ามาก็จะต้องรีบคว้า ซึ่งส่งผลให้องค์กรมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สำหรับเราถึงแม้ว่าตลาดความงามจะมีการแข่งขันสูงจนเป็น Red Ocean ก็ไม่ได้เป็นผลกระทบ เพราะการดำเนินธุรกิจของเราขึ้นอยู่กับว่าเห็นโอกาสอะไร ซึ่งต่อให้ตลาดจะเป็น Blue Ocean แต่ถ้ามองไม่เห็นโอกาสก็ไม่สามารถทำอะไรต่อได้” นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว พร้อมเสริมว่า

“องค์กรอย่าง MASTER ที่เรียกว่าเป็นองค์กรแบบ High Performance Organization หมายถึงองค์กรที่พนักงานทุกคนมีการทำงานแบบมีประสิทธิภาพสูง ต้องเกิดจากการทำให้กับบุคลากรทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ดังนั้นเราต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็น High Performance Culture โดย MASTER ได้ปลูกฝังการทำงานในองค์กรที่เน้นประสิทธิภาพออกมาให้ได้มากที่สุด ด้วยการเปิดให้พนักงานทุกคนได้แสดงความคิดเห็น พร้อมรับฟังคำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการจะทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ได้ ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการบุคลากรเป็นอย่างมาก เพื่อให้พนักงานของ MASTER ทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดแข็งที่ส่งเสริมผลการดำเนินงานของ MASTER คือ การบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ดี จนทำให้เกิดความสามารถในการทำกำไรสูง เห็นได้จากอัตรากำไรสุทธิของ MASTER ที่สูงกว่าคู่แข่งในตลาด

โดยที่นายแพทย์ระวีวัฒน์ บอกกับเราว่า อัตรากำไรสุทธิที่สูงมากนี้ ไม่ได้เกิดจากการพยายามลดต้นทุน เพราะจริง ๆ แล้ว MASTER ถือเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) แบบครบเครื่อง แต่ก็ได้มีการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรโดยลดความสิ้นเปลืองและสูญเปล่า (Lean Management) ดังนั้นภาวะการแข่งขันด้านราคา หรือการจัดโปรโมชันในตลาดศัลยกรรมความงามนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท

“แม้กระทั่งการรับพนักงาน เราเป็นบริษัทที่รับพนักงานเข้าทำงานช้า แต่จากลาเร็วหากเป็นคนที่ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร เราจะพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และเมื่อคุยตรงไปตรงมาคนก็จะพูดถึงความต้องการ และความคาดหวังกันเร็วว่าจะสามารถทำได้ตามที่บริษัทคาดหวังหรือไม่” นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว

นอกจากใช้หลักการ Lean เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา MASTER ยังนำ Framework การทำงานแบบลำดับขั้น หรือ Scrum และ Agile มาใช้ ซึ่ง Scrum จะช่วยแก้ไขระบบการทำงานที่มีความซับซ้อน และทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาที่ต่อเนื่อง และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้ ขณะที่ Agile เป็น Framework ที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่น ช่วยให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจได้ตามสถานการณ์ และช่วยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งทั้ง 2 Framework ทำให้ MASTER สามารถที่จะปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ และภาวะตลาดได้อย่างรวดเร็ว

ท่าไม้ตายของ ‘MASTER’ สู่ความสำเร็จตลอดเวลา 9 ปี

การดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ‘MASTER’ ได้เผชิญกับความท้าทายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมุมของอุปสรรคของธุรกิจการแพทย์ ความงาม และศัลยกรรมที่ขาดแคลนบุคลากร รวมไปถึงในมุมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง MASTER ได้มีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีจนไม่เกิดปัญหา โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างมูลค่าให้กับบริษัทฯ ด้วยความสามารถในเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่เหนือกว่าคู่แข่ง หรือที่นายแพทย์ระวีวัฒน์ เรียกอีกอย่างว่า “ท่าไม้ตาย” ซึ่งท่าไม้ตายนี้ต้องเกิดจากจุดแข็งทั้งหมด 3 ประการ

3 จุดแข็งสู่การสร้างท่าไม้ตายของ ‘MASTER’

  1. ความรู้และความสามารถในธุรกิจที่ต้องมีความเชี่ยวชาญสูง
  2. ต้องเป็นธุรกิจหรือสินค้าที่ตลาดต้องการ
  3. ต้องเป็นสิ่งที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าวถึงการเป็นโรงพยาบาลศัลยกรรมรายแรกที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศว่า เป้าหมายหลักของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกเหนือจากทุนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ ยังเป็นความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อ MASTER และเพิ่มการรับรู้ รวมถึงชื่อเสียงให้กับแบรนด์ที่มีต่อนักลงทุนและพันธมิตร โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีกระแสเงินสดที่เพียงพอ และมีความคล่องตัวสูง

นอกจากนี้การเข้าตลาดหลักทรัพย์ยังทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เพราะบริษัทฯ จะมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีแผนงานที่เป็นรูปธรรม และสามารถวัดผลได้

“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับเรา ด้วยพื้นฐานความพร้อมทั้งชื่อเสียง วัฒนธรรมองค์กร และระบบที่ดีนายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว

เป้าหมาย ‘MASTER’ สู่เครือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

สำหรับเป้าหมายของ MASTER ภายใน 5 ปีหลังจากนี้ คือ การเป็นเครือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งปัจจุบัน MASTER ถือเป็นโรงพยาบาลศัลยกรรมพลาสติก (Plastic Surgery) เจ้าแรก และเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยทางโรงพยาบาลได้รับการยอมรับจากลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวและคนทั่วไปติดต่อเข้ามารักษากับทางโรงพยาบาลในปริมาณเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ในอนาคต ทางโรงพยาบาลมีวิสัยทัศน์การขยายโอกาสการเติบโต มุ่งเน้นขยายไปสู่ตลาด Specialty Hospital หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งการขยายธุรกิจนี้อาจเป็นไปได้ทั้งการให้ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างพันธมิตร โดยการลงทุน หรือร่วมลงทุนกับพันธมิตร MASTER มีหลักการคือ ต้องดูว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness และความงามหรือไม่ หากไม่ใช่ก็จะพิจารณาเป็นการให้ความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งต้องมองไปถึงภาวะการแข่งขันในตลาดและความคุ้มค่าในการร่วมลงทุน

ทั้งนี้ หลักในการทำธุรกิจกับพันธมิตรของ MASTER  คือ นโยบายภายในบริษัทที่จะไม่ทำ Mergers and Acquisitions (M&A) แต่จะเป็นการทำ Merger & Partnership (M&P) หรือการร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตร ซึ่งจะเป็นเพียงการร่วมทำธุรกิจแต่ไม่ใช่การซื้อกิจการ หรือควบรวมบริษัทระหว่างกัน

หลักในการคัดเลือกพันธมิตรของ MASTER จะมีเกณฑ์ 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

  1. ต้องเป็นธุรกิจที่สามารถเกิดการ Synergy ระหว่างกันได้จริง ๆ และการร่วมมือกัน ผลลัพธ์คือหนึ่งบวกหนึ่งต้องมากกว่าสอง
  2. ต้องมองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่
  3. ต้องเป็นกิจการที่มีเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะพัฒนาธุรกิจ

สำหรับเป้าหมายสำหรับปี 2566 คือ การมองหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจศัลยกรรม ความงาม และธุรกิจอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการเข้าร่วมทำธุรกิจกับกิจการท้องถิ่น โดยที่ MASTER จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแกร่งในแง่ของความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ และระบบที่มีความพร้อมสูง จึงคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเห็นการเติบโตของรายได้แตะระดับ 2 พันล้านบาท หรือการเติบโตในช่วง 40%

นอกจากนี้ MASTER ยังมีความพร้อมด้านบุคลากร และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ดังนั้น เมื่อมีเทรนด์ความงามใหม่ ๆ เข้ามา MASTER ก็มีระบบต่าง ๆ ที่ครบครัน รวมไปถึงมีทีมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ด้านศัลยกรรมความงามของไทยมีทักษะความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก จึงสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อยู่เสมอ

จากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ทำให้ ‘Business+’ มองเห็นว่านอกจากชื่อเสียงที่ดีในวงการศัลยกรรมความงาม และความแข็งแกร่งด้านผลประกอบการแล้ว MASTER เป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการองค์กรจากภายใน ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการคน การบริหารจัดการกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร ซึ่งกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นนี้ ได้ส่งเสริมให้ MASTER กลายเป็นองค์กรที่เป็นทั้ง “ปลาใหญ่ และปลาเร็ว” ที่สุดในอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงาม และจะกลายมาเป็นผู้เล่นต้นแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามของเมืองไทยในอนาคต

ที่มา : สัมภาษณ์พิเศษ MASTER
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS