GDP

เปิด 4 ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ที่จะบอกแนวโน้ม GDP ไทยปีนี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 1/2566 เติบโต 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และเติบโต 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่หลายสำนักวิเคราะห์เอาไว้ (ประมาณการของตลาด +2.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน , +1.8% จากไตรมาสก่อน) โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ GDP บ้านเราเติบโตเกิดจากหลายส่วนประกอบด้วยกัน ทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว การส่งออกที่เพิ่มขึ้น และการผลิตที่เพิ่มขึ้น

หากมองเจาะเข้าไปในรายละเอียด จะเห็นว่าในภาคการบริโภคเพิ่มขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวในภาคร้านอาหารและโรงแรมสูงถึง 108.1% ส่วนภาคบริการขนส่งเติบโต 16% ตามมาด้วย เครื่องแต่งกายเติบโต 4.5% และการซื้อยานพาหนะเติบโต 4.1% และอาหารเติบโต 3.1%

ส่วนภาคการลงทุนเติบโต 3.1% แบ่งเป็นการลงทุนของเอกชนเติบโต 2.6% จากทั้งอุปกรณ์ที่เติบโต 2.8% และการก่อสร้างเติบโต 1.1% ส่วนการลงทุนของภาครัฐเติบโต 4.7% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวในการก่อสร้างเติบโต 5.8% และอุปกรณ์เติบโต 1.3% ขณะที่ภาคการส่งออกเพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน สินค้า ส่วนภาคการนำเข้าลดลง -1.0%

ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายภาคจะฟื้นตัวได้อย่างดี แต่การใช้จ่ายของภาครัฐปรับตัวลดลง 6.2% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยมีปัจจัยฉุดมาจากเงินโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ลดลง 40.4% และรายการอื่นในการใช้จ่ายของภาครัฐเกือบทรงตัวจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566

สำหรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ‘บล.กสิกรไทย’ มองว่าในไตรมาส 2/2566 ตัวเลข GDP ไทยเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ นักท่องเที่ยวในประเทศ และการบริโภค ในขณะที่ความเสี่ยงขาลง ได้แก่ ภาวะชะลอตัวทั่วโลก ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และการขาดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่เมื่อมองในภาพรวม จะเห็นว่าหลายฝ่ายมองว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 3.7%

โดยที่ GDP ของไทยน่าจะได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจาก

1. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา 25.5-30 ล้านคนในปี 2566 เทียบกับ 11 ล้านคนในปี 2565 และนักท่องเที่ยวในประเทศ ความเสี่ยงขาลงมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการใช้จ่ายภาครัฐ

2. เงินเฟ้อ(+3.2% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน) โดยเงินเฟ้อของไทยล่าสุดลดลงเหลือ 2.67% ซึ่งคาดว่าภาพรวมเงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกและหลังของปี 2566 จะเป็นแบบ “เงินเฟ้อลดลง” หรือ “เงินเฟ้อหนืด”

3. คาดว่าค่าเงินบาทจะซื้อขายในช่วง 33.5 – 34.0 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยการเมืองหลังการเลือกตึ้ง นักท่องเที่ยวขาเข้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาทองคำ ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การตัดสินใจนโยบาย (Fed และธปท.)

4. อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% โดยที่คาดการณ์ว่าทาง ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25bps ในการประชุมครั้งหน้า หลังเฟดปรับขึ้น 25bps ซึ่งตลาดคาดว่าจะหยุดชั่วคราวที่ 5.00-5.25% อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้น ธปท. จึงต้องเผื่อช่องว่างไว้สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอย

ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยนี้เป็นตัวขับเคลื่อน GDP ในปี 2566 ซึ่งหากทั้งหมดเป็นไปตามที่คาดการณ์ก็จะทำให้เราได้เห็นการฟื้นตัวของ GDP ในปีนี้ที่ 3.7% 

ที่มา : บล.กสิกรไทย

เรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #GDP #ตัวเลขเศรษฐกิจ #เศรษฐกิจประเทศไทย #อัตราการเติบโตเศรษฐกิจ