Diamonds

ตลาดเพชรสังเคราะห์มูลค่าพุ่ง! บริษัทระดับโลกแห่ Spin off แบรนด์ วาง Positioning ใหม่เจาะลูกค้า Gen Z-Y

ในช่วงต้นเดือนก.ย.2566 ความต้องการ ‘เพชรแท้’ ในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างหนักจนทำให้ De Beers ยักษ์ใหญ่วงการเพชรจากแอฟริกาใต้จำเป็นต้องหั่นราคาเพชรลงมากถึง 40% ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาเพชรปรับตัวลดลงมีพูดถึงกันหลากหลายประเด็น ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และเกิดจากกลไกตลาดเพราะในช่วงที่เกิด COVID-19 ราคาเพชรปรับตัวพุ่งสูงอย่างมากจากความต้องการซื้อสินค้า ดังนั้น ในช่วงที่ COVID-19 คลี่คลายทำให้ความต้องการลดลง

แต่กระแสที่ถูกนำมาวิเคราะห์กันมากที่สุดคือ ตลาดเพชรสังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า เพชร Lab Grown (ถูกสร้างขึ้นในห้องแล็บ) เป็นที่นิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่อย่าง Gen Z และ Gen Y ที่มีกำลังซื้อไม่สูงเท่า Gen อื่นๆ จนทำให้ความต้องการเพชรธรรมชาติ หรือเพชรแท้ต่ำลง ซึ่งสาเหตุที่เพชรสังเคราะห์เป็นที่นิยมเป็นเพราะมีความสวยงาม มีความทนทาน และแวววาวเสมือนเพชรจากธรรมชาติ แต่ใช้ระยะเวลาในการผลิตไม่นานเหมือนเพชรจากธรรมชาติ จึงทำให้มีราคาไม่สูงมากนัก ถึงแม้ไม่เหมาะกับการลงทุนเหมือนเพชรแท้แต่ก็ถือว่าเป็นสินค้าที่มีมูลค่า

ซึ่งความต้องการเพชรสังเคราะห์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้แบรนด์เพชรแท้รายใหญ่ของโลกเห็นโอกาสในการเติบโตในตลาดเพชรสังเคราะห์ และเข้าสู่ตลาดนี้ ด้วยการวาง Brand Positioning ใหม่แยกจากแบรนด์เดิมที่ขายเพชรธรรมชาติอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ‘Business+’ พบข้อมูลว่า ในปี 2565 ตลาดเพชร Lab Grown มีมูลค่า 23,898.60 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 812,552 ล้านบาท และยังมีการคาดการณ์กันว่ามูลค่าตลาดจะขยายตัวเฉลี่ยในช่วงปี 2565-2571 ประมาณ 8.64% (ข้อมูล : DIPT) ซึ่งตลาดเพชร Lab Grown เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจในฐานะสินค้าทางเลือกทดแทนเพชรธรรมชาติ โดยปัจจัยที่ทำให้เพชร Lab Grown ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ คือ มีความทนทาน ราคาขายที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเพชรธรรมชาติ และยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีข้อขัดแย้งทางด้านจริยธรรม

จากข้อมูลของบริษัท Tenoris ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยทางการตลาดได้รวบรวมข้อมูลการจำหน่ายเพชรในตลาดสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่า ยอดจำหน่ายเพชร Lab Grown มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเป็น 22.9% เมื่อเทียบกับการขยายตัวของปี 2563 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 8.5%

ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงชะลอตัว ทำให้ชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับราคาและความคุ้มค่าจากการซื้อสินค้ามากขึ้น อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้าเครื่องประดับอย่างมาก เช่น ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะลดการซื้อเครื่องประดับชั้นดีเพื่อเป็นของขวัญวันวาเลนไทน์ คู่รักเลือกที่จะเฉลิมฉลองวันครบรอบด้วยวิธีใหม่ๆ เช่น การรับประทานอาหาร ทำของขวัญเอง แทนที่จะเป็นเครื่องประดับ และการซื้อแหวนหมั้นเพชร Lab Grown แทนเพชรธรรมชาติเพราะมีราคาเหมาะสมและได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น

โดยปัจจุบันเราพบว่า แบรนด์ที่จำหน่ายเพชร Lab Grown รายใหญ่ในสหรัฐฯ ได้แก่ Signet Jewelers (เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Kay Jewelers, Zales, James Allen และ Blue Nile) และ Pandora โดยทั้ง 2 บริษัทได้หันมาใช้เพชร Lab Grown เพื่อผลิตเครื่องประดับและมุ่งเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่สหรัฐฯ ด้วยราคาที่แตกต่าง

นอกจากนี้แล้ว ผู้ค้าเพชรธรรมชาติรายใหญ่อย่างบริษัท De Beers (มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ) ได้เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตในตลาดเพชร Lab Grown จึงได้เข้ามาบุกตลาด โดยได้วางตำแหน่งแบรนด์ใหม่แยกจาก แบรนด์เดิมที่จำหน่ายเพชรธรรมชาติ โดยใช้ชื่อ “Lightbox” ซึ่งแบรนด์ดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2561 เน้นการจำหน่ายเพชร Lab Grown เพียงอย่างเดียวและในปีนี้ได้มีการขยายประเภทสินค้าเข้าครอบคลุมตลาดเจ้าสาวและงานแต่งงานเพื่อรองรับอุปสงค์ความต้องการของตลาดที่มีการขยายตัวอย่างมาก

จากข้อมูลของสื่อด้านการตลาดของสหรัฐฯ ทำให้เราเห็นว่า ปัจจุบันเพชร Lab Grown ในตลาดมีการผลิตมากขึ้น เพื่อตอบสนอง Demand ของผู้บริโภคที่ขยายตัว ซึ่งทำให้ความนิยมและราคาเพชรจากธรรมชาติมีการปรับตัวลดลง โดยการสำรวจราคาขายเพชรของเดือนส.ค.2566 พบว่า เพชร Lab Grown ราคาอยู่ที่ 1,425 เหรียญสหรัฐ/กะรัต เทียบกับราคาเพชรธรรมชาติทั่วไปอยู่ที่ 5,185 เหรียญสหรัฐ/กะรัต ซึ่งเป็นราคาที่ยังห่างกัน แต่ก็มีแนวโน้มว่าราคาเพชรธรรมชาติอาจจะมีการรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหากสถานการณ์โดยรวมยังเป็นแบบปัจจุบัน (เศรษฐกิจชะลอ , ความต้องการเพชร Lab Grown สูงขึ้น)

ซึ่งในประเด็นนี้ ‘Business+’ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้เล่นรายใหญ่ของไทย โดยพบว่าทาง ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้มาให้สัมภาษณ์ว่า ความนิยมในเพชรสังเคราะห์ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาเพชรแท้ที่เจียระไนยแล้ว แต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐ และจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเพชรแท้ ทำให้ดีมานด์หดตัวและราคาย่อลงมา ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ราคาต้องปรับตัวลดลงให้สอดคล้องกันระหว่างดีมานด์และซัพพลายที่แท้จริงของตลาดเนื่องจากช่วง COVID-19 ปี 2562-2564 ธุรกิจเหมืองเพชรหยุดชะงัก และเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็มีการแบนเพชรจากเหมือนรัสเซียทำให้ซัพพลายหายไปจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ‘Business+’ มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ความต้องการเพชรแท้น้อยลงนั้น ไม่ใช่เพียงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เจ้าของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดก็ตามหากต้องการเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และ Millennials ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นนอกเหนือจากราคา เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ยังให้ความสนใจในเรื่องแหล่งที่มาของสินค้า และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญเป็นอย่างมาก

เขียนเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS