ตลาดมะพร้าวมีการแข่งขันที่สูงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยผู้เล่นรายเก่า และรายใหม่ ต่างเห็นถึงคุณสมบัติที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายทาง อย่างเช่น การนำมาสกัด การนำไปประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งมะพร้าวถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ที่ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างมั่นคง โดยการปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ระยะยาว 10-20 ปี ซึ่งภาคกลางเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่ที่สุดในไทย
ทั้งนี้หากพูดถึงอุตสาหกรรมสินค้ามะพร้าวในตลาดโลกทั้ง น้ำมันมะพร้าว น้ำมะพร้าว กะทิ มะพร้าวอบแห้ง เป็นต้น อ้างอิงจากผลการศึกษาข้อมูลของ Globenewswire ระบุว่า มูลค่าตลาดมะพร้าวทั่วโลกในปี 2570 คาดจะสูงถึง 20,630 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับในบ้านเราบริษัทที่ทำเกี่ยวกับมะพร้าวเป็นหลัก และได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตอนนี้มีเพียง 2 บริษัท ก็คือ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS และ บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) หรือ COCOCO ซึ่งครั้งนี้ ‘Business+’ จะทำการเทียบฟอร์มวันเข้าซื้อขายวันแรก (First Trading Day) ของทั้ง 2 บริษัท เพื่อให้เห็นถึงความนิยมของธุรกิจมะพร้าว
โดย PLUS เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรายใหญ่ อย่างกลุ่มน้ำผลไม้ ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว แบรนด์ Coco Royal เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเม็ดแมงลัก แบรนด์ Nita เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเมล็ดเชีย ภายใต้แบรนด์ Coco Royal และ Mabu เป็นต้น
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีผ่านมา (2563-2565) พบว่า
ปี 2563 รายได้รวม 1,106.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 57.20 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 1,009.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 85.63 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 1,457.41 ล้านบาท กำไรสุทธิ 207.63 ล้านบาท
ขณะที่งวดครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้ 672.70 ล้านบาท กำไรสุทธิ 69.81 ล้านบาท
ซึ่ง PLUS ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 170 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 4.50 บาท โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมี บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ทั้งนี้ได้เข้าซื้อขายวันแรกใน SET หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม วันที่ 20 พฤษภาคม 2565
โดยในวันซื้อขายวันแรก ราคาหุ้น PLUS ก่อนเปิดตลาด (Pre Open) 5 นาทีอยู่ที่ 7.50 บาท เพิ่มขึ้น 66.66% จากราคา IPO ที่ 4.50 บาท ซึ่งในช่วงเริ่มต้นซื้อขายอย่างเป็นทางการช่วงเวลาเปิดตลาด 10.00 น. ราคาหุ้นเปิดอยู่ที่ 8 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท หรือ 77.78% จากราคา IPO ที่ 4.50 บาท โดยจบการซื้อขายวันแรก PLUS ปิดตลาดที่ระดับ 5.45 บาท บวก 0.95 บาท หรือ 21.11%
ด้าน COCOCO ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวและผลไม้ เช่น กะทิบรรจุกระป๋อง กะทิบรรจุกล่อง ยูเอชที (UHT) กะทิพาสเจอไรซ์น้ำมะพร้าวบรรจุกระป๋อง น้ำมะพร้าวกล่องยูเอชที (UHT) น้ำมะพร้าวพาสเจอไรซ์ ขนมมะพร้าว และอาหารสำเร็จรูป ภายใต้ตราสินค้า Thaicoco และ Cocoburi รวมถึงผลิตสินค้าเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีผ่านมา (2563-2565) พบว่า
ปี 2563 รายได้รวม 3,036.33 ล้านบาท กำไรสุทธิ 69.46 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 3,481.71 ล้านบาท กำไรสุทธิ 241.88 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้รวม 3,381.16 ล้านบาท กำไรสุทธิ 302.22 ล้านบาท
ขณะที่งวดครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้ 1,992.20 ล้านบาท กำไรสุทธิ 197.89 ล้านบาท
โดย COCOCO ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 370 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 5.50 บาท โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) หุ้นละ 0.50 บาท ทั้งนี้มีบริษัท ฟิน พลัส แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้เข้าซื้อขายวันแรกใน SET หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม วันที่ 14 กันยายน 2566
ซึ่งในวันซื้อขายวันแรก ราคาหุ้น COCOCO ก่อนเปิดตลาด (Pre Open) 5 นาทีอยู่ที่ 7.50 บาท เพิ่มขึ้น 36% จากราคา IPO ที่ 5.50 บาท ซึ่งในช่วงเริ่มต้นซื้อขายอย่างเป็นทางการช่วงเวลาเปิดตลาด 10.00 น. ราคาหุ้นเปิดอยู่ที่ 8 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท หรือ 45.45% จากราคา IPO ที่ 5.50 บาท โดยจบการซื้อขายวันแรก COCOCO ปิดตลาดที่ระดับ 7.90 บาท บวก 2.40 บาท หรือ 43.64%
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในช่วงซื้อขายวันแรกของทั้งสองบริษัทต่างปิดเหนือราคาไอพีโอ แสดงให้เห็นถึงการตอบรับจากนักลงทุนที่ล้นหลาม ด้วยเชื่อมั่นแผนและการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าวจะเติบโตอย่างสม่ำเสมอ เพราะมะพร้าวมีดีมานด์ทั่วโลก ทั้งนี้จากผลการดำเนินงานของ COCOCO และการดำเนินธุรกิจที่มีมาอย่างยาวนาน จึงทำให้การซื้อขายเป็นไปอย่างร้อนแรง ส่งผลให้กำไรจากการขายหุ้น (Capital Gain) ในวันแรก หรือเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ กำไรจากส่วนต่างราคามีสัดส่วนที่สูงกว่านั่นเอง
.
ที่มา : bangkokbanksme, SET, IQ
.
เขียนและเรียบเรียง : ศิริวรรณ อรรถสุวรรณ