ธนาคารกรุงไทย ชูยุทธศาสตร์คู่ขนานนำพาสู่ความสำเร็จ

ถึงแม้ว่าธุรกิจธนาคารจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง แต่สำหรับ ‘ธนาคารกรุงไทย’ ที่ได้มีการวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจรอบด้านจึงมีเกราะป้องกันผลกระทบ จนทำให้สามารถรักษาผลประกอบการได้อย่างมั่นคงนำไปสู่ความสำเร็จทั้งผลประกอบการ และตอบสนองความต้องการได้ทุกภาคส่วน

คุณผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจธนาคารที่ผ่านมาเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อลูกค้า ประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องใช้กลยุทธ์ขยายสินเชื่อด้วยความระมัดระวัง พร้อมตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับสูง รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งช่วยลดภาระทางการเงิน ผ่านการพักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ และยังมีมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเพื่อให้ช่วยเหลือลูกค้าได้ตรงจุด ส่งผลให้ในปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน 68,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% ขณะที่สินเชื่อเติบโตได้ดีถึง 12%

ขณะที่ในปี 2564 เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกัน จึงต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง

นอกจากนี้เมื่อเทรนด์ของระบบธนาคารในอนาคตเปลี่ยนแปลงจากแพลตฟอร์มการให้บริการ ไปเป็น “ระบบเปิด” ที่ต้องสามารถเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ตามเทรนด์  “Banking as a Service  (BaaS)” เราจึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความคาดหวังของ stakeholders ใน 4 ทิศทาง หรือ “4F” คือ 1.Full-scale digital ภาคธนาคารยังคงเดินหน้าสู่ Digital Transformation 2. Fueled by data การก้าวไปสู่ยุคที่ธุรกิจการเงินจะขับเคลื่อนและแข่งขันด้วยข้อมูล  3. For a better world ธุรกิจการเงินจะต้องตอบโจทย์ 4.Fast moving หรือการที่สถาบันการเงินจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อรับมือกับ disruption และการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่

กลยุทธ์บริหารธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์คู่ขนาน

คุณผยง มองว่าในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคจะส่งผลให้การทำธุรกิจรูปแบบเดิม ๆ อาจจะไม่เพียงพอ ธนาคารกรุงไทย จึงต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์คู่ขนาน (2 Banking Model) คือ

1.การขับเคลื่อนธุรกิจแบบดั้งเดิม (Traditional Banking) เปรียบเสมือนเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier) ด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจหลักที่ธนาคารดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน จุดมุ่งหมายคือ ลดการกัดกร่อนของรายได้และกำไรจาก Disruption ให้น้อยที่สุด

2.การขับเคลื่อนธุรกิจแบบใหม่ (Digital Organization) เปรียบเสมือนเรือเร็ว (Speed boat) ด้วยจุดมุ่งหมายในการแสวงหาโอกาสและรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Model) หรือการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ โดยมีหลักการทำงานแบบ Fail Fast Learn Fast (ล้มเร็ว รู้เร็ว)

โดย 2 ยุทธศาสตร์นี้ ธนาคารกรุงไทย ได้ดำเนินการด้วย 5 แนวทางที่นำมาสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย

1. การประคับประคองธุรกิจเดิมให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ ประคับประคองลูกหนี้ NPL ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

2. สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการด้วยระบบดิจิทัล รวมถึงเปลี่ยนบริการให้เป็นการขาย

3. ใช้กระดาษให้น้อยที่สุด (Paperless) นำระบบเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการทำงาน เช่น กระบวนการพิจารณาสินเชื่อจะไม่ใช้กระดาษเลย

4. ทำธุรกิจแบบ X2G2X โดยธนาคารเข้าไปมีบทบาทสำคัญ ในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้มองแค่ว่ารัฐคือ ผู้ถือหุ้น แต่มองรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งธนาคารจะมองไปถึงการให้บริการคู้ค่าของลูกค้า ซึ่งก็คือ ประชาชนและทุกส่วนที่ทำธุรกรรมกับภาครัฐ

5 . ยึดหลักแนวคิด “กรุงไทยเคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” ปรับรูปแบบการทำงานให้ตอบโจทย์กับชุมชน โดยวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทย ยังเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล ด้วยกรอบการทำงานและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานอีกด้วย

“จากแนวทางและกลยุทธ์ที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจรวมถึงการให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาโดยตลอด ถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อน และเป็นดั่งเกราะป้องกันผลกระทบในช่วงที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ จนทำให้ธนาคารกรุงไทย สามารถรักษาผลประกอบการได้อย่างมั่นคง”